เผยแพร่ |
---|
กรณีนายเพชร มโนปวิตร รองหัวหน้ากลุ่มงานอนุรักษ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ไอยูซีเอ็น) ระบุว่าสถานการณ์ท้องทะเลไทยในช่วง 2 ปี ดีขึ้นมาก โดยพบว่ามีปลาสวยงามและปลาหายากเพิ่มมากขึ้นและตัวใหญ่ขึ้น ปะการังฟื้นตัว ซึ่งชาวประมงพื้นบ้านตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการกฎ ระเบียบว่าด้วยการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงานและไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการท่องเที่ยวทางทะเลของประเทศไทย และอาจถึงเวลาที่ไทยจะต้องทบทวนเครื่องมือประมงบางประเภท เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลหายาก รวมไปถึงกำหนดขอบเขตการอนุรักษ์ที่เหมาะสมและครอบคลุมระบบนิเวศทางทะเลที่มีความเชื่อมโยงถึงกันนั้น
รศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ และกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีกฎหมายที่กำกับดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวนมาก และมีหลายหน่วยงานกำกับดูแล ในการแก้ไขเดิมกองทัพเรือพยายามเข้ามามีบทบาทโดยระดมทุกหน่วยงานเข้ามาช่วยทำงานภายใต้ชื่อ “ศรชล” แต่กองทัพเรือก็ทำได้เพียงประสานงาน ไม่สามารถทำให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงานให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ แต่จากนี้ไปจะมีการยกระดับ บูรณาการการทำงานใหม่ ให้มีองค์กรที่มีอำนาจอำนวยการชัดเจน และใช้กฎหมายที่มีอยู่ไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้เป้าหมายการทำงานสัมฤทธิผล
“เรื่องนี้อยู่ในแผนพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์ชาติ และกำลังมีการผลักดันให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งการแบ่งพื้นที่ใช้สอยทางทะเล หรือ Marine spatial planning: MSP ต่อไปจะมีแผนที่รวม มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงาน ขณะนี้เรามีคณะกรรมการส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน” รศ.ธรณ์ กล่าวและว่า เนื่องจากรัฐบาลไทยได้แถลงต่อองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ว่าภายในปี ค.ศ.2030 หรือปี พ.ศ.2573 จะเพิ่มพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้ร้อยละ 10 ของพื้นที่ทางทะเลทั้งประเทศ ซึ่งจะต้องให้ได้จำนวน 32,000 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) จากที่มีทั้งหมด 320,000 ตร.กม.แต่ขณะนี้มีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพียง 17,000 ตร.กม. ดังนั้นจึงต้องเร่งดำเนินการจัดหาพื้นที่ให้ครบ
ด้านนายเพชร กล่าวว่า ในส่วนของไอยูซีเอ็นนอกจากติดตามสถานการณ์แล้ว ยังได้ลงพื้นที่ไปส่งเสริมให้เกิดการทำประมงยั่งยืนในชุมชนประมงพื้นบ้านหลายพื้นที่
“ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการท่องเที่ยวทางทะเล หากเราไม่ช่วยกันดูแล ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ในอนาคตก็จะไม่เหลือ แต่หากเราทำร่วมกัน เป็นภาพเดียวกัน จะเป็นผลดีต่อประเทศ ทั้งนี้การอนุรักษ์ไม่ได้ห้ามเด็ดขาด แต่อาจจะใช้วิธีการจำกัด และวางขอบเขตพื้นที่ใช้สอย ยกตัวอย่าง มัลดีฟส์ และ ฮ่องกง ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว มีทะเลและชายฝั่ง มีรายได้จากการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศไทย ปัจจุบันทั้ง 2 แห่งนี้ ได้ประกาศควบคุมการใช้อวนรุน อวนรากในการทำประมงแล้ว เพราะเชื่อว่าห้ามใช้เครื่องมือเหล่านี้ แต่จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวมากกว่า” นายเพชร กล่าว
ที่มา : มติชนออนไลน์