กยท. แจงหยุดกรีดยางเพิ่ม 2 ล้านไร่ แค่แนวคิด เปิดทุกภาคส่วนเสนอความเห็นก่อนเคาะมาตรการ

การยางแห่งประเทศไทย ชี้แจงมาตรการหยุดกรีดยาง 2 ล้านไร่ ช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. ยังเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น เปิดรับฟังทุกภาคส่วนเสนอความเห็นร่วมกันเพื่อวิเคราะห์ความเหมาะสมและเป็นไปได้ของมาตรการหยุดกรีดนี้ ว่าจะเกิดผลดีผลเสียเช่นไรต่อสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทย ก่อนนำมาตรการดังกล่าวนี้มาใช้

          ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การหยุดกรีดยางในพื้นที่สวนยางของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่นั้น เป็นส่วนหนึ่งของโครงการควบคุมปริมาณผลผลิต ภายใต้มาตรการการรักษาเสถียรภาพราคายางที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำมาใช้เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางควบคู่ไปกับมาตรการต่างๆ โดยเน้นเฉพาะในช่วงเดือน ม.ค. – มี.ค. 61 ต่อมากระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีแนวคิดขยายการหยุดกรีดยางเพิ่มเติมออกไปในพื้นที่ของประชาชนทั่วไปที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง จำนวน 2 ล้านไร่ ในช่วงเวลา 3 เดือน คือ เดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม 2561 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ปริมาณผลผลิตในตลาดลดลง(supply) ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ราคายางเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด

ขอย้ำว่าการขยายโครงการหยุดการกรีดยาง (tapping holiday) ยังคงเป็นเพียงแนวคิดเพื่อนำเสนอให้สาธารณชนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเกษตรกร และสถาบันเกษตรกร รวมไปถึงผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยางพาราได้หารือระดมความคิดร่วมกัน และนำมาวิเคราะห์ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของมาตรการหยุดกรีดนี้ ว่าจะเกิดผลดีผลเสียเช่นไรต่อสถานการณ์ยางพาราในประเทศไทย รวมทั้งควรมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไรในการชะลอหรือหยุดกรีดยางเพื่อให้มีประสิทธิภาพโดยไม่เสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

ดังนั้น การหยุดกรีดยางจำนวน 2 ล้านไร่ จึงยังมิได้เป็นมาตรการที่จะดำเนินการทันทีอย่างที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกันอยู่ เพราะกระทรวงฯ ยังคงมีมาตรการอื่นๆ ในการผลักดันให้สถานการณ์ของยางพาราไปในทิศทางที่ดีขึ้น อีกหลายมาตรการ เช่น โครงการสนับสนุนสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นต้น

“สำหรับประเด็นการขโมยกรีดยางในสวนยางของภาครัฐ โครงการควบคุมปริมาณผลผลิตโดยให้หยุดกรีดยางในช่วง ม.ค. – มี.ค. นั้น หากมีการตรวจสอบพบว่ามีลูกจ้างกรีดยาง กยท.รายใดที่กระทำความผิด จะต้องถูกลงโทษ เป็นไปตามการดำเนินการความผิดทางวินัยตามข้อบังคับคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย ว่าด้วยวินัยและการลงโทษพนักงานและลูกจ้างประจำ และอาจถูกดำเนินคดีอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้างด้วย ในกรณีที่มีการลักลอบกรีดยางและรับซื้อยางพาราอันเกิดจากการกระทำของบุคคลภายนอก ให้หัวหน้าส่วนงานที่รับผิดชอบดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่ที่รับผิดชอบเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป” ดร.ธีธัช กล่าวทิ้งท้าย