อธิบดีกรมชลฯแจงแผนจัดสรรน้ำ ยันพอใช้ถึงหน้าฝน นายกฯสั่งให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง(มีคลิป)

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำหลัก เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่ามีมากสุดในรอบ 5 ปี เพราะช่วงนั้นฝนตกอยู่ในเกณฑ์น้อย และเริ่มมีฝนมากขึ้นในปี 2559-60 ประกอบกับประสิทธิภาพของหน่วยงานเกี่ยวข้องในการจัดสรรน้ำ ดูจากปี 2558 ที่มีปริมาณน้ำน้อยมาก แต่การจัดการที่ดีจึงไม่แปลกใจปีนี้มีปริมาณน้ำฝนดีจึงกักเก็บน้ำไว้ได้ พร้อมกันนี้ มีการบูรณาการหลายภาคส่วน เพื่อจัดการน้ำไปสู่พื้นที่ที่ต้องการใช้น้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปกติใช้น้ำ 70-75% ของปริมาณน้ำทั้งหมด ให้ความร่วมมือด้านพื้นที่เพาะปลูกอย่างดี แม้จะเพาะปลูกเกินแผนแต่เพิ่มในอัตราไม่มาก จากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 5.71 ล้านไร่ เพิ่มเป็น 5.75 ล้านไร่ หรือเพิ่มแค่ 40,000 ไร่ ไม่เหมือนปีก่อนๆที่เพิ่มสัปดาห์ละ 300,000 – 400,000 ไร่ ผลมาจากการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานรัฐ กรมฯขอให้ความมั่นใจว่าทุกพื้นที่สามารถส่งน้ำให้ได้แน่นอน ถ้าทำตามแผนที่กำหนดไว้จะไม่น่าเป็นห่วง

โดยในแผนกรมชลถึงการจัดสรรน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั่วประเทศโดย ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 มีปริมาณน้ำต้นทุนสามารถใช้การได้ 36,115 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 76% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ 14,187 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 78% สูงกว่าปี 2559 ที่มีน้ำใช้การได้ 9,704 ล้านลบ.ม.

สำหรับข้อมูลตัวเลขช่วงฤดูแล้งปี 2560/2561 เริ่ม1 พฤศจิกายน 2560 ถึง 30 เมษายน 2561 กรมฯได้วางแผนจัดสรรน้ำได้อย่างราบรื่น สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทุกประเทศ ณ วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2561 มีปริมาณน้ำในอ่างฯ รวม 55,873 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 74% ของความจุอ่างฯ ทั้งหมดมากกว่าปี 2560 ที่มีรวม 7,993 ล้านลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 31,953 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 61% เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก มีปริมาณ 17,078 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 69% ของความจุอ่างฯ รวมกัน มากกว่าปี 2560 อยู่ที่ 3,357 ล้านลบ.ม. มีปริมาณน้ำใช้การได้ 10,382 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 57% ซึ่งการจัดสรรน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยาใช้น้ำไปแล้ว 5,228 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 68% ของแผนฯ

ในส่วนของผลการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกไปแล้ว 8.9 ล้านไร่ คิดเป็น 99% ของแผนฯ ที่กำหนดไว้ 9.05 ล้านไร่ เฉพาะข้าวนาปรังปลูกแล้ว 8.35 ล้านไร่ คิดเป็น 101% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยามีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.81 ล้านไร่ คิดเป็น 111% ของแผนฯ เฉพาะข้าวนาปรังมีการเพาะปลูกไปแล้ว 5.75 ล้านไร่ คิดเป็น 111% ของแผนฯ

ปัจจุบันในเขตพื้นที่ชลประทาน ยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากกรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำ เพื่อการอุปโภคบริโภคเพียงพอตลอดในช่วงฤดูแล้งต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวในเขตชลประทานทั้งประเทศ ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาปลูกเกินไป 11% หรือประมาณ 6 แสนไร่ ซึ่งต้องติดตามและนำมาพิจารณาอย่างต่อเนื่องว่า ปริมาณน้ำที่ยังมีอยู่จะเพียงพอหรือไม่

” กรมชลประทานขอยืนยันว่า พื้นที่ในเขตชลประทานจากช่วงนี้ไปจนถึงสิ้นฤดูแล้ง น้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ระบบนิเวศ และการเกษตร มีเพียงพอแน่นอน และเมื่อเข้าสู่เดือนพฤษภาคม ก็ยังมีน้ำสำรองไว้ เผื่อในกรณีฝนทิ้งช่วง ฝนไม่มา ฝนมาช้า ก็ยังมีน้ำไว้ใช้ได้อีก 3 เดือน จนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม ”

Advertisement

สำหรับการควบคุมค่าความเค็มทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ตลอดฤดูแล้ง 3 เดือนที่ผ่านมา สามารถควบคุมค่าความเค็มให้อยู่ในเกณฑ์ไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร โดยไม่กระทบต่อการผลิตน้ำประปา หรือภาคการเกษตร ส่วนลุ่มน้ำบางปะกง ค่าความเค็มบริเวณเขื่อนบางปะกงอยู่ในเกณฑ์ควบคุมไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร วัดค่าความเค็มได้เพียง 0.30 กรัมต่อลิตร ทำให้การประปาส่วนภูมิภาคสาขาฉะเชิงเทรา กลุ่มเกษตรกร และทุกภาคส่วนยังสามารถใช้น้ำจากแม่น้ำบางปะกงทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์สภาพอากาศว่า ปีนี้ฝนจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย และมาตรงตามฤดูกาลคือช่วงเดือนพฤษภาคม–กรกฎาคม อย่างไรก็ตาม ฝนอาจทิ้งช่วงบ้าง แต่จะไปสอดรับกับกรมชลประทานที่ได้เตรียมน้ำในเขื่อนต่างๆ สำรองไว้ใช้เพียงพอจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม

Advertisement

ในกรณีที่เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่นอกเขตพื้นที่ชลประทาน นั้น ได้มีคำสั่งการของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้กรมชลประทาน เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ และรถยนต์บรรทุกน้ำ ให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันทีหากมีการร้องขอ พร้อมกับมอบหมายให้เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้ มีพื้นที่ต้องเฝ้าระวังการขาดแคลนน้ำ 23 จังหวัด 74 อำเภอ กรมชลประทานได้กำหนดแนวทางในการดำเนินงาน และ เตรียมความพร้อมสถานการณ์ภัยแล้งด้วยการให้ทุกโครงการชลประทานทั่วประเทศบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยใช้ระบบชลประทานที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยง 47 จังหวัดตามผลการวิเคราะห์เชิงพื้นที่โดยกรมพัฒนาที่ดิน ขณะนี้กรมชลประทานเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำไว้ 2,365 เครื่อง กระจายอยู่ตามสำนักงานชลประทานทั่วประเทศ 1,702 เครื่อง และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 613 เครื่อง เตรียมรถยนต์บรรทุกน้ำอีก 242 คัน กระจายไปตามพื้นที่เสี่ยง 47 จังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนให้มีน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้งอย่างเพียงพอ ประชาชนที่ประสบกับปัญหาภัยแล้งหรือขาดแคลนน้ำติดต่อขอความช่วยเหลือ จากโครงการชลประทานในพื้นที่ได้ตลอดเวลา

นายทองเปลว กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝน 2561 ว่า คาดการณ์ว่า วันที่ 1 พฤษภาคม 2561 จะมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 7,862 ล้านลบ.ม. สนับสนุนการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศได้วันละ 18 ล้านลบ.ม. โดยจะส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวรอบ1 นาปี2561 ในพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ประมาณ 383,000 ไร่ ให้เริ่มทำนาปีได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ส่วนพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาที่มี 12 ทุ่ง ในวันที่ 1 พฤษภาคม สามารถใช้น้ำได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ พื้นที่ดอน 1.8 ล้านไร่ ให้เริ่มเพาะปลูก เมื่อกรมอุตุฯประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝน โดยให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และเสริมด้วยน้ำท่าและน้ำชลประทาน

ในส่วนกังวลเรื่องปัญหาน้ำท่วมนั้น จากข้อมูลของกรมอุตุฯ ระบุว่า ปริมาณฝนปีนี้ค่าเฉลี่ยประมาณ 1,400 มิลลิเมตรต่อปี กรมฯจึงไม่มีความกังวลการเตรียมพร้อมรับมือ แต่กรณีบางพื้นมีฝนตกมากหรือฝนตกน้อย ต้องติดตามเฝ้าระวังต่อไป หากพื้นที่ฝนตกมากและอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ต้องเกิดน้ำท่วมได้บ้าง แต่คงไม่ถึงกับท่วมใหญ่อย่างในปี 2554 แน่นอน แต่ต้องเฝ้าระวังเรื่องปัจจัยเสริม เช่น พายุ ที่ในแต่ละปีจะมีพายุเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ลูก ซึ่งต้องติดตามข้อมูลจากกรมอุตุฯว่า พายุจะเข้ามาในช่วงเดือนไหน เพื่อเตรียมแผนรับมือต่อไป

” ขณะนี้กรมชลฯเน้นจัดการปัญหาภัยแล้งในเขตชลประทานเป็นหลัก ส่วนพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในเขตชลประทาน จะช่วยสนับสนุนตามที่ได้ช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ในเรื่องการพัฒนาแหล่งน้ำ เราต้องดูตามแผนยุทธศาสตร์ ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช) ได้คอยกำหนดทิศทางของแต่ละหน่วยงานที่ลงพื้นที่ปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะ สทนช. ได้เข้ามากำกับในส่วนของนโยบาย แยกส่วนงานกับหน่วยปฏิบัติอย่างชัดเจน ทำให้ สทนช. มองเห็นภาพรวมการดำเนินงานของทุกฝ่าย ครอบคลุมภาพรวมได้ทั้งหมด ต่างจากในอดีตที่บางหน่วยงานดูแลรับผิดชอบแค่ในหน่วยงานของตน ไม่เกิดการบูรณาการ รวมไปถึงสทนช.ช่วยดูเรื่องงบประมาณที่จะไม่ทับซ้อนกัน ซึ่งแต่ก่อนกว่าจะรู้ว่าแผนงานซ้อนทับกับหน่วยงานอื่น หลังจากอนุมัติงบประมาณไปแล้ว จนเกิดปัญหาต้องคืนงบประมาณ เสียทั้งเวลาและทรัพยากร

ในส่วนของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจากสำนักงบประมาณ 24,000 ล้านบาท นั้น กรมฯรับผิดชอบ 4 โครงการ คือ 1.โครงการในพระราชดำริ 2.โครงการส่งเสริมการใช้ยางพารา 3.โครงการซ่อมแซมปรับปรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิม 3.โครงการที่เสนอในการประชุมครม.สัญจรต่างๆ รวมทั้งหมด 13,000 ล้านบาท

 

ที่มา : มติชนออนไลน์