เผยแพร่ |
---|
สัมภาษณ์
กฎระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบดูแลความปลอดภัยสินค้าเกษตร กลายเป็นมาตรการทางการค้าที่ประเทศผู้นำเข้าหลายประเทศนำมาใช้จนกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าที่เอกชนไทยต้องติดตามและปรับตัว เพื่อรักษาตลาดส่งออกให้ได้ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นางสาวเสริมสุข สลักเพชร” เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) คนใหม่ ถึงภารกิจ มกอช. ในฐานะพี่เลี้ยงผู้ประกอบการในการตั้งรับกฎระเบียบความปลอดภัยของประเทศคู่ค้าเพื่อผลักดันยอดส่งออกให้เพิ่มขึ้น
Q : ผลักดันการส่งออกสินค้าเกษตร
ตอนนี้สินค้าเกษตรที่ได้เปิดตลาดเพิ่มล่าสุด คือ รังนก ส่งออกไปจีน กระทรวงควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบและกักกันโรคของจีน ออกประกาศอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์รังนกของไทยได้ปลายปีที่ผ่านมา ในระยะแรกอนุญาตให้นำเข้ารังนกที่มีสีขาว เหลืองหรือทอง (รังนกแดง ยังไม่ให้นำเข้า โดยจีนขอพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน) โดยจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนแหล่งผลิตจากกรมปศุสัตว์ของไทย ผ่านการกำจัดขน ทำความสะอาด และมีระบบควบคุมคุณภาพและระบบการตรวจสอบย้อนกลับ และต้องมีใบรับรองจากกรมปศุสัตว์ด้วย ซึ่งขณะนี้มี 2 บริษัท ที่ผ่านการรับรองแล้ว คือ บริษัท สยามรังนกทะเลใต้ จำกัด จ.สงขลา และ บริษัท สยามรังนกสากล จำกัด จ.กรุงเทพฯ ก็จะผลักดันให้มีเพิ่มขึ้นอีก 2-3 บริษัท ในเร็วๆ นี้
จีนเป็นตลาดนำเข้ารังนกที่ใหญ่ที่สุดของไทย รังนกถ้ำของไทยเคยมีราคาส่งออกไม่ต่ำกว่า 150,000-200,000 บาท ต่อกิโลกรัม โดยผลผลิตทั้งรังนกถ้ำทั้งสีขาวและสีแดงที่ผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนแล้วมีปริมาณ 8,000 กิโลกรัม ต่อปี ทำให้สามารถจำหน่ายในประเทศและส่งออกได้ คาดว่าเร็วๆ นี้จะมีการ MOU ร่วมกับจีนในการพัฒนาด้านปศุสัตว์เพิ่ม
ส่วนข่าวดีการเปิดตลาดส่งออกในเร็วๆ นี้ ประเทศเกาหลี คือ สินค้าด้านพืช และจีนเป็นสินค้าปศุสัตว์ คือ ไก่
Q : กฎเหล็กนำเข้าอาหารใหม่ ของ อียู
จริงๆ แล้วแผนส่งออกจิ้งหรีดไปสหภาพยุโรปหรือ อียู เป็นสิ่งที่ มกอช. เองผลักดันมากในปีที่ผ่านมาและปีนี้ ซึ่งล่าสุด การบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่หรือโนเวลฟู้ด (novel food) ของ EU เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 สินค้าหลายรายการต้องจัดทำคำขอยื่นเปิดตลาด รวมถึงสินค้าจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ด้วย ต้องดำเนินการขึ้นทะเบียนในสถานะ novel food หรือสถานะอาหารพื้นบ้าน (traditional food) ทั้งยังต้องจัดทำเอกสารประกอบการยื่นคำขอ (dossier) เพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) พิจารณาความปลอดภัยหรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการ
จิ้งหรีด เป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพ และมีโอกาสในการส่งออกสูง โดยเฉพาะตลาด อียู มีหลายรายสนใจนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยค่อนข้างมาก
โดยจะนำเข้าในรูปแบบจิ้งหรีดแช่แข็ง ต้มบรรจุกระป๋อง และจิ้งหรีดอบและบดเป็นโปรตีนผง เพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหาร
มกอช. ได้เชิญอัครราชทูตที่ปรึกษาด้านอาหารและสุขภาพ ของ EU Delegation และผู้เชี่ยวชาญจาก EFSA มาชี้แจงและสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ novel food ให้กับเกษตรกร และผู้ประกอบการไทย
Q : เอกชนไทยปรับตัวได้หรือไม่
ต้องยอมรับว่าผู้ประกอบการปัจจุบันต้องปรับตัวให้เป็นไปตามระเบียบกฎการค้าของแต่ละประเทศมากขึ้น ยกตัวอย่างบางประเทศคู่ค้าเรื่องข้าว ญี่ปุ่นปรับกฎระเบียบ ค่า MRL ทางการญี่ปุ่นยินยอมที่จะเลื่อนการออกประกาศบังคับปรับปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (MRL) ของสารฟอสอีทิล (fosetyl-aluminium) ซึ่งผสมในยาปราบศัตรูพืชปนเปื้อนในสินค้าเกษตร รวมทั้งข้าวในปริมาณไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม จากเดิมที่กำหนดไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ออกไปก่อนจนกว่าจะหารือและได้ข้อสรุปกับประเทศคู่ค้าต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบแล้วเสร็จ จากเดิมเตรียมประกาศในราชกิจจานุเบกษาเดือนมีนาคมนี้ และกำหนดให้มีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคม ซึ่งนับเป็นข่าวดีในอุตสาหกรรมข้าวไทยที่เราเจรจาได้
แต่ มกอช. เองในฐานะคณะทำงานฝ่ายไทยจะพยายามอย่างสุดความสามารถให้ญี่ปุ่นทบทวนมาตรการนี้ไม่ให้กระทบส่งออก ที่ไทยส่งข้าวไปญี่ปุ่น 3 แสนตัน ต่อปี ถือว่าค่อนข้างมาก
Q : การสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตร
มกอช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบเสริมเกษตรแปลงใหญ่ โดยมีเป้าหมายสร้างต้นแบบเกษตรแปลงใหญ่ตามมาตรฐาน มกษ. ให้กลุ่มเกษตรกรและสหกรณ์ในพื้นที่แปลงใหญ่ นำร่อง 10 จังหวัด ได้แก่ 1. พิจิตร ยกระดับการผลิตถั่วฝักยาวปลอดภัย 2. พิษณุโลก พัฒนาโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้ขนาดเล็กตามหลักการปฏิบัติที่ดีในการผลิต (GMP) 3.กำแพงเพชร พัฒนาโรงคัดบรรจุ และโรงรวบรวมผักและผลไม้ขนาดเล็ก ตามระบบ GMP 4. เพชรบูรณ์ พัฒนาความพร้อมเข้าสู่ระบบการผลิตและรับรองแบบกลุ่ม ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์)
5. ลพบุรี พัฒนาความพร้อมเข้าสู่ระบบการผลิตและรับรองแบบกลุ่ม ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่องการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าวโพดเมล็ดแห้ง (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) 6. ราชบุรี พัฒนาโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้ขนาดเล็กให้เป็นไปตามระบบ GMP 7. ขอนแก่น พัฒนาโรงคัดบรรจุและโรงรวบรวมผักและผลไม้ขนาดเล็กให้เป็นไปตามหลัก GMP 8. อุบลราชธานี พัฒนาการปลูกถั่วลิสงหลังนาข้าวตามมาตรฐาน GAP 9. ศรีสะเกษ พัฒนาโรงสีข้าว GMP 10. พัทลุง การพัฒนาโรงสีข้าวตาม GMP
Q : แผนยกระดับมาตรฐานอาเซียน
อนาคตต้องผลักดันศูนย์กลางการตรวจสอบและผลิตเกษตรเมืองร้อน ไทยต้องเป็น hub ด้านนี้ได้แล้ว เพราะมีความพร้อมทั้งคมนาคมและสินค้าเกษตรชายแดน แต่งานด้านนี้มีหลายหน่วยงานดูแล จึงต้องปรับโครงสร้างประเทศควบคู่กัน ภายใน 5 ปี คงได้เห็นแน่นอน
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์