ตื่นเต้นกันทั้งกรมฯ ได้ยินเสียง “แต้วแล้วท้องดำ” อีกครั้ง เชื่อมั่นยังไม่สูญพันธุ์ไปจากป่าเมืองไทย

“พวกเรารอวันนี้ มานานนับปี แม้จะได้ยินแค่เสียงร้อง แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดกำลังใจอย่างมากกับกลุ่มนักวิจัย ที่จะทำงานด้านนี้ต่อไป”

นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เล่าให้ฟัง หลังได้รับโทรศัพท์จากนักวิจัยในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม อ.คลองท่อม จ.กระบี่ ว่า ได้ยินเสียงนกแต้วแล้วท้องดำตัวผู้ร้องเสียงดังชัด หลังจากอดทน อดหลับอดนอนในป่า ฝังตัวอยู่ในพื้นที่นานนับปี

อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯบอกว่า ได้คุยกับสำนักวิจัยสัตว์ป่าตั้งแต่ต้นปี 2560 ว่า ต้องหาตัวนกแต้วแล้วท้องดำในป่าให้เจอ เพราะจากข้อมูลที่ได้รับมา เชื่อมั่นว่านกตัวนี้ยังคงอยู่ในป่าเขาประ-บางคราม ไม่หายไปไหน และยังไม่สูญพันธุ์แน่นอน นอกจากหานกแล้วต้องทำทุกอย่างที่เป็นบ้านของนกให้กลับคืนมา คือ พื้นที่ป่า สิ่งแวดล้อมล้อม ในพื้นที่เพื่อเอื้อให้นกกลับมาให้มากที่สุด

นส.สมหญิง ทัฬหิกรณ์ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าทีมวิจัยและสำรวจประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) บอกด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นว่า กว่า 10 ปี ที่ พยายาม ติดตามประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ ซึ่งถือเป็นสัตว์มีปีกตัวน้อย ที่มีสถานะใกล้สูญพันธุ์เต็มทีในประเทศไทย โดยช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา แทบจะไม่มีใครได้พบเห็นนกชนิดนี้เลย แต่ก็ไม่มีใครหมดหวัง ทุกคนยังคงมีความเชื่อว่า ประเทศไทยยังคงมีนกชนิดนี้อาศัยอยู่ โดยเฉพาะพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม แหล่งดั้งเดิมที่นกชนิดนี้อาศัยอยู่

หัวหน้าทีมวิจัยและสำรวจประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ บอกว่า เมื่อวันที่ 22-26 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา กลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า ได้อบรมเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติจำนวน 54 คน สำหรับใช้อุปกรณ์ เก็บข้อมูล เพื่อตามหาตัวนกแต้วแล้วท้องดำ และออกสรวจแบบสแกนพื้นที่ทุกตารางนิ้วภายในเขตป่าที่ราบต่ำ รักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม โดยโฟกัสพื้นที่ 32 ตารางกิโลเมตร

“เราแบ่งทีมการสำรวจออกเป็น 24 ทีม ปรากฏว่า ทีมที่เดินไปบริเวณหน่วยพิทักษ์ป่า 100 ชั้นพันวัง สามารถบันทึกเสียงนกแต้วแล้วตัวผู้ได้ ที่แน่ใจมากว่า เป็นเสียงนกแต้วแล้วท้องดำตัวผู้ เพราะเราใช้วิธีเปิดเสียงนกแต้วแล้วท้องดำตัวเมีย หากนกตัวผู้ได้ยินมันก็จะส่งเสียงร้องกลับมา คนที่ได้ยินเสียงคนแรกนั้นตื่นเต้นมาก และพวกเราก็ดีใจกันเป็นที่สุด แม้ไม่เจอตัว แต่อย่างน้อยๆเราก็ได้ยินเสียงแล้ว นกแต้วแล้วท้องดำยังคงมีอยู่ในป่าประเทศไทย”นส.สมหญิง กล่าว

หัวหน้าทีมวิจัยและสำรวจประชากรนกแต้วแล้วท้องดำ กล่าวว่า นอกเหนือจากนกแต้วแล้วท้องดำแล้วแล้ว ทีมสำรวจยังได้ยินเสียง นกแต้วแล้วลาย ในพื้นที่เดียวกันถึง 6 จุด โดยนกแต้วแล้วลาย ก็เป็นแต้วแล้วอีกชนิดหนึ่งที่หาค่อนข้างยากพอๆกับนกแต้วแล้วท้องดำ แต่นกแต้วแล้วลายนั้นสามารถปรับตัวได้เก่งกว่านกแต้วแล้วท้องดำ จึงหาง่ายกว่านักแต้วแล้วท้องดำ โดยขณะนี้ทีมวิจัยชุดใหญ่ ส่วนใหญ่ ออกจากพื้นที่ไปแล้ว ยังเหลืออีก 6 คนยังคงเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้นในป่าต่อไป มั่นใจว่าในเร็ววันนี้จะต้องเจอตัวอย่างแน่นอน ทั้งนี้นกจะมีการจับคู่ผสมพันธุ์ในช่วงเดือน กุมภาพันธ์ ถึง พฤษภาคม เดือนพฤษภาคม จะสร้างรัง และวางไข่

สำหรับ นกแต้วแร้วท้องดำ เป็นหนึ่งในนกแต้วแร้ว 12 ชนิดที่พบในประเทศไทย รูปร่างอ้วนป้อม คอสั้น หัวโต หางสั้น ลำตัวยาว 22 เซนติเมตร ตัวผู้หัวสีดำ กระหม่อมและท้ายทอยสีน้ำเงินเหลือบฟ้า หางสีน้ำเงินอมเขียว ท้องสีเหลืองสดมีริ้วสีดำบาง ๆ พาดสลับตลอดช่วงท้อง ใต้ท้องแต้มสีดำสมชื่อ ตัวเมียกระหม่อมสีเหลืองอ่อน มีแถบดำผ่านใต้ตาลงไปถึงแก้ม ท้องสีขาว มีแถบสีน้ำตาลขวางจากอกลงไปถึงก้น

นกแต้วแร้วท้องดำอาศัยอยู่ในป่าดิบที่ราบต่ำ ซึ่งมีระดับความสูงไม่เกิน 200 เมตรจากระดับน้ำทะเล มักพบตามที่ราบ ใกล้ร่องน้ำหรือลำธารที่ชื้นแฉะ ไม่ชอบอยู่บริเวณที่มีไม้พื้นล่างขึ้นรกทึบ เขตกระจายพันธุ์อยู่ในทางใต้ของพม่าที่ติดต่อกับประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศไทยพบเพียงแห่งเดียวที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม (เขานอจู้จี้) จ.กระบี่เพียงแห่งเดียว

ปัจจุบันสถานภาพของนกแต้วแร้วท้องดำในประเทศไทยน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ในปี พ.ศ. 2529 เคยพบ 44-45 คู่ แต่ในปี พ.ศ. 2540 เหลือเพียง 9 คู่เท่านั้น ปัจจุบันไม่มีใครพบในธรรมชาติมา 2-3 ปีแล้ว เป็นหนึ่งในสัตว์สงวน 15 ชนิดของไทย ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ไอยูซีเอ็น) เคยประเมินสถานภาพไว้ว่า ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง แต่จากการที่การสำรวจพบประชากรของนกชนิดนี้ในพม่ามากขึ้น ในปี 2551 จึงปรับสถานภาพให้ดีขึ้นเล็กน้อยเป็น ใกล้สูญพันธุ์

 

ที่มา : มติชนออนไลน์