จี้ อปท. เพิ่มการใช้ยางในประเทศ “เกษตร-มท.” จับมือกระตุ้นให้ท้องถิ่นร่วมด้วย

นายกฯ จี้ อปท.ให้ความร่วมมือใช้ยางในประเทศ ระงับใช้ยางในสต๊อก 1.4 แสนตันไว้ก่อน หวั่นกระทบราคายางเกษตรกร “กฤษฎา” จับมือ “มหาดไทย” ดัน อปท.ใช้ยางพารา ไฟเขียวยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงคลัง หวังกระตุ้นราคาในตลาดให้สูงขึ้น

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แจ้งใน ครม. ถึงข้อสรุปการกำหนดนโยบายให้หน่วยงานรัฐใช้ยางในประเทศ ที่มีข้อกังวลว่าจะติดขัดระเบียบหลักเกณฑ์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และของกรมบัญชีกลาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายวิษณุไปหารือในข้อกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“นายวิษณุแจ้งให้ ครม.ทราบว่า หลังหารือกรมบัญชีกลางได้ข้อสรุปออกมาว่า ต่อไปนี้หน่วยงานของรัฐสามารถกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติมไปในเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) ได้ว่า หากมีบริษัทใดมารับงานประมูลของรัฐ ให้สามารถซื้อยางจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่ไปซื้อยางใหม่มาจากเกษตรกร นอกจากนั้นยังอนุญาตให้ซื้อยางจากบริษัทใดก็ได้ แต่บริษัทนั้นต้องซื้อยางจากเกษตรกรที่เป็นยางใหม่ ไม่ใช่ยางเก่าในสต๊อก โดยไม่ถือว่าเป็นการล็อกสเป๊ก เพื่อให้พยุงราคายางอยู่ในระดับราคาที่น่าพึงพอใจ”

สถานการณ์ยางในสต๊อกรัฐนั้น ก่อนหน้านี้มียางในสต๊อก 300,000 ตัน หลังบริหารจัดการไปแล้วเหลือยางในสต๊อกประมาณ 140,000 ตัน เมื่อมีมาตรการสนับสนุนให้ใช้ยางที่ซื้อจากเกษตรกรที่เป็นยางใหม่ ยางในสต๊อกจึงถือเป็นความเร่งด่วนลำดับรองลงไป

“มีข้อสังเกตใน ครม.ว่า หน่วยงานของรัฐทั้ง 20 กระทรวง พบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ค่อนข้างจะใช้ยางในประเทศน้อย ใช้เพียงหลักพันตัน นายกฯ จึงสั่งการให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น คณะกรรมการกระจายอำนาจไปสู่ระดับท้องถิ่น ลงไปคุยกับ อปท.ว่าต้องขานรับนโยบายของรัฐ ในการจัดซื้อยางจากเกษตรกร ไม่ว่าจะจัดประมูลงานใด ควรจะต้องเพิ่มในทีโออาร์ให้ใช้ยางด้วย”

ด้าน นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ หารือกับกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สำรวจความต้องการ การจัดทำโครงการท้องถิ่นใดที่สามารถใช้ส่วนผสมของยางพาราได้ และได้ทำหนังสือเวียนแจ้งจังหวัด และขอให้ อปท. จัดทำโครงการกิจกรรมดังกล่าว จะได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการปฏิบัติพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560

“การใช้ยางพาราใน อปท. ใช้ได้หลากหลาย เช่น สนามฟุตบอลในโรงเรียน ถนนในชุมชน ฯลฯ ซึ่งหากใช้อย่างจริงจังก็จะดูดซับยางในตลาดได้ และผลักดันราคาให้สูงขึ้น เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยเหลือชาวสวนยางได้” รมว.เกษตรกล่าว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม 2561