3 จังหวัดใต้บูมปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ดันขึ้นแท่นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่รอง “ยาง-ปาล์ม”

3 จังหวัดใต้ “นครศรีธรรมราช-สงขลา-พัทลุง” หนุนปลูกข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ รองจาก “ยางพารา-ปาล์มน้ำมัน” อุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทยชี้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองราคาดี “เล็บนก-เฉี้ยง-กาบดำ-ไขมดลิ้น-สังข์หยด” หมื่นอัพ วอนรัฐส่งเสริม อนาคตใส แนะฟื้นนาร้างทำนาข้าวเพิ่มรายได้ เกษตรเมืองคอนหนุนแปรรูปเพิ่มมูลค่าเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ-ส่งออกตีตลาดมาเลเซีย ด้านพัทลุงเร่งเพิ่มผลผลิต

นายสุทธิพร กาฬสุวรรณ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ และอุปนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่า ข้าวได้กลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของภาคใต้ มีราคาสูงกว่ายางพารา ปาล์มน้ำมัน และเสถียรภาพ โดยเฉพาะข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เป็นข้าว 15% เช่น ข้าวพันธุ์เล็บนก ราคาประมาณ 12,000-15,000 บาท/ตัน พันธุ์เฉี้ยง 15,000 บาท/ตัน พันธุ์กาบดำ 10,000 บาท/ตัน พันธุ์ไขมดลิ้น 10,000 บาท/ตัน พันธุ์สังข์หยด 12,000-13,000 บาท/ตัน และพันธุ์หอมปทุม 12,000-15,000 บาท/ตัน และคาดว่าปีนี้ราคาข้าวพันธุ์พื้นเมืองต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นอีก 10%

แนะรัฐส่งเสริมปลูกข้าวในภาคใต้

นายสุทธิพรกล่าวว่า ข้าวเป็นพืชเกษตรที่ยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก เนื่องจากผลผลิตที่ออกมายังไม่เพียงพอกับความต้องการ ภาครัฐควรมีนโยบายเน้นส่งเสริมและเข้ามาสนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมากขึ้น เพราะภาคใต้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับข้าวสายพันธุ์เหล่านี้ รวมถึงเป็นการเพิ่มส่วนแบ่งของข้าวพันธุ์พื้นเมืองจาก 35% ให้เป็น 50% เท่ากับข้าวพันธุ์ กข

ในอดีตที่ผ่านมา ภาคใต้มีพื้นที่ปลูกข้าวประมาณ 1 ล้านไร่ โดยเฉพาะในจังหวัดพัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา แต่ตอนหลังๆ มา พื้นที่ปลูกข้าวเริ่มลดลง เนื่องจากมีเกษตรกรจำนวนหนึ่งนำนาข้าวไปเป็นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน และยางพารา และยังมีพื้นที่นาร้างอีกจำนวนหนึ่ง 20-30% ซึ่งปัจจุบันทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมันราคาไม่ค่อยดี และต้นทุนสูง เกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่ต้องประสบกับปัญหาขาดทุน หรือคนที่ปล่อยให้พื้นที่นาร้าง ก็ควรพิจารณาและหันกลับมาฟื้นนาข้าวใหม่ ตอนนี้มีชาวนาในพัทลุงและสงขลาหลายรายที่มีรายได้จากการทำนาข้าวค่อนข้างดี บางรายมีรายได้ประมาณ 100,000 บาท/ปี

นอกจากนี้อยากให้มีนโยบายเฉพาะกิจสนับสนุนโครงการพีเอ็นสต๊อกข้าวกับโรงสี หรือการเก็บเปลือกไว้ในโรงสีเป็นหลักประกันกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยให้สมาคมโรงสีข้าวและกลุ่มชาวนาภาคใต้ร่วมกับภาครัฐในการรับซื้อข้าวเปลือกและประกันราคาข้าว ซึ่งจะช่วยให้โรงสีข้าวในภาคใต้สามารถรับซื้อข้าวจากเกษตรกรได้ทั้งหมด ไม่ต้องจำหน่ายไปยังส่วนกลาง ที่แต่ละปีส่งไปประมาณ 20% ซึ่งทำให้ข้าวราคาตกต่ำ เพราะต้องหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น ค่าขนส่ง เป็นต้น

ส่งออก “สังข์หยด” ตีตลาดมาเลย์

Advertisement

นายชลินทร์ ประพฤติตรง เกษตรจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากยางพาราและปาล์มน้ำมันที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้แล้ว ปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าข้าวก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง โดยที่ผ่านมามีการส่งเสริมการปลูกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา และพัทลุง ส่วนจังหวัดอื่นๆ ก็มีการปลูกข้าวอยู่บ้าง แต่ยังมีปริมาณไม่มากนัก โดยพันธุ์ข้าวที่นิยมปลูก ได้แก่ พันธุ์หอมปทุม พันธุ์ กข 41 และพันธุ์พื้นเมือง เช่น เล็บนก ปัตตานี สังข์หยด เป็นต้น และมีการส่งออกข้าวไปมาเลเซีย เนื่องจากเป็นที่นิยมอย่างมาก ขณะเดียวกันปัจจุบันปริมาณผลผลิตข้าวยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคภายในภูมิภาคด้วย

“ตอนนี้ภาครัฐพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ที่ชาวนครศรีธรรมราชกินเองก่อน หลังจากนั้นจะส่งเสริมในเรื่องธุรกิจขนาดเล็ก ให้เกษตรกรเกิดการรวมตัวทำข้าวเพื่อสุขภาพให้มากขึ้น เช่น ข้าวกล้อง ข้าวสังข์หยด เป็นต้น ไม่เพียงแต่เจาะกลุ่มตลาดภายนอกเท่านั้น แต่ยังมุ่งเน้นจำหน่ายคนในพื้นที่ที่รักสุขภาพและมีความต้องการสูง ทั้งนี้เพื่อสร้างรายได้เสริมสำหรับครัวเรือนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว รวมทั้งการมุ่งเน้นส่งเสริมให้มีการทำนาหรือการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้วประมาณ 20,000-30,000 ไร่ใน 3 อำเภอหลัก ได้แก่ อำเภอปากพนัง หัวไทร และเชียรใหญ่” นายชลินทร์กล่าว

Advertisement

นายชลินทร์กล่าวด้วยว่า ภาคใต้จะทำนาเกือบตลอดทั้งปี โดยหลัก ๆ 2 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 เริ่มปลูกตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กุมภาพันธ์ และครั้งที่ 2 เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครศรีธรรมราชตั้งเป้ารักษาและส่งเสริมปลูกข้าว 270,000 ไร่ต่อปี โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอปากพนัง หัวไทร และเชียรใหญ่ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริในเรื่องของลุ่มน้ำปากพนังให้เป็นแหล่งปลูกข้าวของภาคใต้ โดยปี 2560 ที่ผ่านมาสามารถปลูกข้าวได้เพียง 210,000 ไร่ เนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วม และปีนี้พื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมไปแล้วกว่า 20,000 ไร่

พัทลุงหนุนคนรุ่นใหม่ทำนา

นายไพรวัลณ์ ชูใหม่ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ในพื้นที่ภาคใต้มีแหล่งปลูกข้าวหลัก ๆ 3 จังหวัด มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 600,000 ไร่ แบ่งเป็นนครศรีธรรมราช ประมาณ 250,000 ไร่ สงขลา 200,000 ไร่ และพัทลุง 150,000-160,000 ไร่ มีผลผลิตประมาณ 300,000 ตัน/ปี โดยจะทำนา 2 ฤดูกาลต่อปี คือ นาปี และนาปรัง ส่วนใหญ่จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง ได้แก่ พันธุ์สังข์หยด เล็บนก เฉี้ยง ทับทิมชุมแพ กระดังงา เป็นต้น

สำหรับจังหวัดพัทลุงจะทำนาปีประมาณ 100,000 ไร่ และนาปรัง 60,000 ไร่ ปัจจุบันเริ่มมีคนรุ่นใหม่หันมาเป็นเกษตรกรทำนามากขึ้น รวมถึงมีการนำนวัตกรรม ภูมิปัญญา และเทคโนโลยีมาเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น เช่น การเตรียมดิน การปรับปรุงและบำรุงดิน ใช้น้ำหมักธรรมชาติสลายตอซังเพื่อลดการใช้ปุ๋ยเคมี และมุ่งเน้นผลผลิตที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ทั้งหากทำได้เต็มระบบ จะสามารถลดต้นทุนได้ถึง 30% และได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 1 – วันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2561