“น่าน”เจอวิกฤตป่าเสื่อมโทรม-ใช้สารเคมีเข้มข้นในพื้นที่เกษตร ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-สุขภาพคนน่านและพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา

” จังหวัดน่าน ” กำลังเผชิญกับวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง ทั้งตัวเลขผืนป่าที่ลดลงกลายเป็นไร่ข้าวโพดและภูเขาหัวโล้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของคนเมืองน่านแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตคนที่อยู่ปลายน้ำ ที่อาศัยน้ำกินน้ำใช้ในลุ่มเจ้าพระยาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ … น่ี่คือปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่คนไทยต้องช่วยกันแก้ไขอย่างเร่งด่วน

• จังหวัดน่านมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าต้นน้ำและภูเขา มีจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 7, 51,585.93 ไร่ ในปี 2507 มีเขตพื้นที่ป่าตามกฎหมาย 6,435,792.16 ไร่ หรือร้อยละ 84 และมีพื้นที่นอกเขตป่าไม้ 1,215,793.77 ไร่หรือร้อยละ 16

• ในปี พ.ศ. 2556 มีจำนวนพื้นที่ป่าไม้เมืองน่านทั้งหมด 4,892,272.80 ไร่หรือร้อยละ 66 (เอกสารงานสัมมนาวิชาการ“รักษ์ป่าน่าน” 2557) ปริมาณป่าไม้ที่ลดลงเป็นจำนวนมากในช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุหลักมาจากความล้มเหลวในการทำเกษตรกรรม มีการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้อมูลสถิติจากลุ่มงานสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดน่าน ปี 2554 พบว่า จังหวัดน่านมีการนำเข้าสารเคมี ส่วนใหญ่เป็นสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชร้อยละ 80 โดยมีปริมาณการใช้สารกำจัดวัชพืชหลัก 3 ชนิด คือ สารพาราควอต (Paraquat) ร้อยละ 55 สารไกลโฟเซต (Glyphosate) ร้อยละ 42 และ อาทราซีน(Atrazine) ร้อยละ 3 จึงทำให้เกิดปัญหา “สารเคมีปนเปื้อนในดินและน้ำ” ตามมาส่งปัญหาถึงการบริโภคและสุขภาพของคนในจังหวัดต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน</span>

ผลกระทบต่อสุขภาพ

จากงานวิจัยของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร (ปี 2559) ระบุว่า จังหวัดน่านมีการใช้สารเคมีด้านการเกษตรมีปริมาณสูงถึงปีละ 2,400,000 กก./ปี และจากสุ่มตรวจปลาในแม่น้ำ ซึ่งพบสารเคมี ไกรโฟเซต ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึม พบมีปริมาณสูงกว่า 10,000 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นปริมาณความเข้มข้นที่เกินค่ามาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และมาตรฐานสากลของ Codex ที่ต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัม

นอกจากนี้ยังพบสารเคมีที่ใช้ในการเกษตร 4 ชนิด ได้แก่ ไกรโฟเซต, อาทราซีน, พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ปนเปื้อนในน้ำประปาหมู่บ้าน และโรงผลิตน้ำดื่มทั่วทั้งจังหวัดน่าน ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ปัญหาสารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัดน่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มน้ำเจ้าพระยา

สารเคมีที่ใช้ปลูกข้าวโพด กระจายเกือบทั่วทั้งจังหวัดน่าน ไม่ใช่แค่เพียงดินเท่านั้น ยังกระจายไปถึงแหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงคนน่านและคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สารเคมีทางการเกษตร หรือ ยาฆ่าหญ้าชนิดต่างๆ ปนเปื้อนในเนื้อปลา และน้ำประปา น้ำดื่ม

ซึ่งจากการสุ่มตรวจน้ำ 9 ตัวอย่างจาก 8 อำเภอในจังหวัดน่าน พบมีสารอาทราซีน หรือยากำจัดวัชพืช ปนเปื้อนในน้ำประปาเข้มข้น ค่าเฉลี่ย 18.78 ไมโครกรัมต่อลิตร ขณะที่ค่าสูงสุดที่ยอมรับได้ในประเทศออสเตรเลียคือ 0.5 ไมโครกรัมต่อลิตร แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานสารเคมีชนิดนี้ในน้ำดื่ม

น่านพึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอกร้อยละ 92

พื้นที่ทางการเกษตรส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ส่งผลให้พื้นที่ผลิตพืชอาหารมีจำนวนน้อย โดยมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ในการปลูกพืชอาหารดังนี้ 1.พื้นที่เพาะปลูกพื้นผัก 35,929 ไร่ 2. พื้นที่เพาะปลูกผลไม้ 103,845 ไร่ 3. พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้น 137,511.75 ไร่ 4. พื้นที่นาปี 227,927 ไร่ นาปรัง 1,585 ไร่ ข้าวไร่ 41,587ไร่ รวม 271,099 ไร่ จึงทำให้จังหวัดน่านประสบปัญหาภาวะการณ์พึ่งพาแหล่งอาหารจากภายนอกจังหวัด

จากผลการสำรวจสินค้าเกษตรในท้องตลาด พบว่าสัดส่วนการนำเข้าของวัตถุดิบและอาหารถึงร้อยละ 92 และอาชีพเกษตรกรมีสถิติรายจ่ายด้านการซื้อผักบริโภคสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นๆในจังหวัดน่าน (สำนักงานสถิติจังหวัดน่าน,2557)

เพราะเกษตรกรส่วนมากมุ่งเน้นการทำเกษตรที่มุ่งหวังให้เกิดรายได้ ไม่ได้เพาะปลูกพืชผักและไม่นิยมเลี้ยงสัตว์เพื่อไว้เป็นแหล่งอาหาร คนน่านผลิตอาหารดีให้ชาวน่านจึงเป็นเป้าหมายสำคัญ

ดังนั้น เลมอนฟาร์ม จึงร่วมกับสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา (Pledge) ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์PGSน่าน ที่มุ่งแสดงเจตจำนงทำการผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์

เพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้เคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ. น่าน และร่วมแก้ปัญหาป่าน่านที่มีความสำคัญยิ่งในฐานะเป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 40% และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน