ชาวสวนเชียร์รัฐหยุดกรีดยาง หวังดันราคาขายขึ้น 80 บ./กก.

ไทยเดินหน้าหารือ 3 ประเทศหยุดกรีดยาง 3 เดือนหวังดันราคา กก.ละ 80 บาท “กฤษฎา” เสนอ 2 แนวทางหยุดกรีด ยืนยันไทยจะไม่ทำเพียงประเทศเดียว ชาวสวน-ผู้ส่งออกเชียร์สุดตัว TDRIไม่เชื่อดันราคาขึ้นได้จากปัจจัยราคาน้ำมันในตลาดโลก

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เสนอแนวคิดที่จะแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำด้วยการใช้มาตรการหยุดกรีดยาง 2 แนวทาง คือ หยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2561 กับหยุดกรีดยางทุกไร่ แต่ให้กรีดแบบวันเว้นวัน หรือให้กรีด 15 วันกับหยุดกรีด 15 วัน เพื่อลดปริมาณยางที่จะออกสู่ตลาด พร้อมกับเตรียมที่จะหารือกับตัวแทน 3 ประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม ในการประชุมร่วมกันในวันที่ 2 มีนาคมนี้ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการลดการกรีดยางอยู่ระหว่างพิจารณาโดยแนวทางที่มีความเป็นไปได้ 2 แนวทาง คือ ลดกรีดยาง 3 ล้านไร่ ระยะเวลา 3 เดือน แต่จะมีการจ่ายเงิน “ชดเชย” ให้ชาวสวนยางที่หยุดกรีดรายละ 4,500 บาทต่อไร่ หรือจะลดกรีดยางแบบวันเว้นวันตลอดทั้งปี ซึ่งอยู่ระหว่างการคำนวณตัวเลขผลผลิตยางที่จะออกสู่ตลาดที่ชัดเจน รวมถึงงบประมาณรองรับในระหว่างที่ชาวสวนยางไม่สามารถกรีดยางได้ โดยมาตรการหยุดกรีดยางครั้งนี้ ประเทศไทยจะไม่ทำ
เพียงประเทศเดียว

ชาวสวนหนุนหยุดกรีดยาง

 นายบุญส่ง นับทอง นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การหารือหยุดกรีดยางพาราร่วมกันของทั้ง 4 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นเวลา 3 เดือนในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมนี้

“จัดเป็นแนวทางที่ถูกต้อง” เกษตรกรชาวสวนยางสนับสนุนเต็มที่ เพราะที่ผ่านมาชาวสวนยางได้เรียกร้องให้หยุดกรีดยางมาแล้ว เพื่อลดซัพพลายผลผลิต “ส่วนเกิน” ในตลาดโลกที่เกินไปเล็กน้อยออกไป ซึ่งจะทำให้พ่อค้าที่รับซื้อยางและกดราคามาตลอดต้องรีบซื้อยางมากขึ้น “น่าจะทำให้ราคายางพุ่งขึ้นจาก กก.ละ 40 กว่าบาท ขึ้นไปถึงเป้าหมายที่ กก.ละ 80 บาทได้” โดยสัปดาห์ที่ผ่านมายางแผ่นดิบที่ซื้อขายในตลาดท้องถิ่นได้ขยับขึ้นจาก กก.ละ 41 บาทเป็น กก.ละ 45 บาทเศษแล้ว

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนของประเทศผู้ผลิตยางทั้ง 3 ประเทศจะนำเรื่องนี้กลับไปหารือกับหน่วยงานของประเทศตัวเองเพื่อตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้น รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของฝ่ายไทยควรหารือกับผู้มีอำนาจตัดสินใจใน 3 ประเทศโดยตรง เพื่อให้มาตรการนี้มีผลเร็วขึ้น แต่หากมาตรการนี้ 3 ประเทศตกลงหยุดกรีดยางกันไม่ได้ และประเทศไทยดำเนินการเพียงประเทศเดียว ราคายางที่จะวิ่งสู่เป้าหมาย กก.ละ 80 บาทก็จะใช้เวลานาน ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯควรเรียกตัวแทนชาวสวนยางมาหารือ เพราะการหยุดกรีดยาง 3 วันกรีด 1 วัน อาจมีปัญหาน้ำยางไม่ไหล ซึ่งเป็นเรื่องเทคนิคก่อนจะเสนอเรื่องนี้เข้าคณะรัฐมนตรี

“ผมทราบมาว่า รัฐบาลมีวงเงินชดเชยให้ชาวสวนยางหยุดกรีด 13,000 ล้านบาท จ่ายชดเชยให้ชาวสวนไร่ละ 1,500-3,000 บาทต่อเดือน โดยเงินส่วนนี้จะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนมากกว่าที่รัฐอัดฉีดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปีละนับแสนล้านบาทอย่างแน่นอน เพราะอำนาจในการจับจ่ายอยู่ในมือชาวสวนยางโดยตรง” นายบุญส่งกล่าว

ขณะที่ นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกรรมการกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง สกย.นาทวี อ.นาทวี จ.สงขลา กล่าวว่า นโยบายกรีดยางเว้นวัน เพื่อสนุบสนันการปฏิบัติของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้แนะนำไว้ถูกต้องแล้ว ซึ่งตามปกติเกษตรกรชาวสวนยางกรีดยาง 3 วัน หยุด 1 วัน หรือกรีดยาง 4 วัน หยุด 1 วัน หากเกษตรกรกรีดยางเว้นวัน หรือกรีดยางเดือนละ 15 วัน จะทำให้ปริมาณยางลดลง ฉะนั้นในทางธุรกิจการกรีดยางประมาณ 15 วัน/เดือน จะมีผลผลิตออกมาขายช้าลง สรุปแล้วเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งที่จะดึงราคายางให้ขยับขึ้นมาได้ โดยราคายางรมควันจาก 49-50 บาท/กก. จะขึ้นมาอยู่ที่ 60 บาท/กก. ส่วนน้ำยางสดราคา 48-50 บาท/กก. จะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 50 บาท/กก.

สำหรับแนวโน้มทิศทางปี 2561 ราคายางจะดีขึ้น ทั้งยางแผ่นดิบ ยางรมควัน และน้ำยางสด ประกอบกับโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาลเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้น และผู้นำเกษตรกรก็มีการผลักดันโครงต่าง ๆ เพื่อทำให้ราคาดีขึ้นเช่นกัน “ยางรมควัน 60 บาท/กก. ขณะนี้อยู่ที่ 49-50 บาท น้ำยางสดไม่ต่ำกว่า 50 บาท/กก. จากราคาขณะนี้อยู่ที่ 48-49 บาท/กก. ถือว่าราคาระดับนี้ดีกว่า 2 ปีที่ผ่านมา” นายสมพงศ์กล่าว

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายที่จะให้เกษตรกรชาวสวนยางกรีดวันเว้นวัน จะทำให้กรีดยางเท่ากับ 1 เดือนกรีดยาง 15 วัน ทำยางหายไปจากตลาดประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้า 1 เดือนหยุดกรีดยาง 10 วัน ยางจะหายไปประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ “นโยบายนี้จะใช้ได้กับทุกพื้นที่หรือไม่และรัฐจะดำเนินการชดเชยกันอย่างไร และหากหยุดกรีดยางกันทั้งหมดจะเป็นการบีบบังคับเกษตรกร แต่ที่เป็นห่วงคือจะมีพ่อค้าเอายางมาขายหมุนเวียนในตลาดเพื่อทำราคา หากยางราคาสูงก็จะเข้าหมุนเวียนเพื่อทำราคาต่ำ กระบวนการนี้รัฐบาลน่าจะนำ พ.ร.บ.ควบคุมยาง พ.ศ. 2542 มาบังคับใช้ เพื่อทำการตรวจเช็กสต๊อกยางป้องกันการเอายางมาขายหมุนเวียน” นายประยูรสิทธิ์กล่าว

TDRI บอกทำแล้วไม่ได้ผล

ทพ.พงษ์ศักดิ์ เกิดวงศ์บัณฑิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท วงษ์บัณฑิต จำกัด ผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของไทย กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯมีความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำ “ผมเห็นด้วยที่ท่านจะใช้มาตรการหยุดกรีดยาง เพราะราคายางขณะนี้แย่มาก ทั้งที่ไม่ค่อยมีสต๊อกยางกัน ดังนั้น หากทำได้จะช่วยชาวสวนยางได้มาก”

ทางด้าน นายวิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า มาตรการที่รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯมีแนวคิดลดกรีดยางนั้น “ผมไม่เชื่อว่าจะผลักดันราคายางขึ้นมาได้” ทั้งกรณีการสนับสนุนเกษตรกร 4,500 บาท/ไร่ ไม่เกิน 10 ไร่ต่อราย หรือการชะลอการส่งออก เนื่องจากปัจจัยชี้นำราคายางพาราคือ ราคาน้ำมันในตลาดโลก รัฐบาลต้องสื่อสารให้ชาวสวนยางรู้ว่า ขณะนี้ยางเป็นพืชที่ไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้ว ดังนั้นหากจะให้เกษตรกรเลิก ลดปลูก ต้องทำด้วยความสมัครใจของตัวเกษตรกรเอง เมื่อไม่ไหวเกษตรกรก็ต้องเลิกปลูกเอง “ไม่ใช่อัดเม็ดเงินไปให้แล้วบอกว่า ต้องเลิกปลูก” นายวิโรจน์กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์