เผยแพร่ |
---|
การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ผู้คนต้องเผชิญกับสารพัดมลพิษจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และฝุ่นละอองขนาดจิ๋วที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าจำนวนมหาศาล แม้กระทั่งในห้องโดยสารรถยนต์ ซึ่งเป็นแหล่งสะสมมลพิษที่คาดไม่ถึง เพราะในห้องโดยสารมีมลพิษสูงกว่าภายนอกรถถึง 15 เท่า เพราะขณะที่ขับรถผ่านพื้นที่ต่างๆ นั้น ฝุ่นควันต่างๆ จะเล็ดลอดเข้ามาภายในห้องโดยสารผ่านช่องต่างๆ ได้
ซึ่งนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยต้องเผชิญกับโรคต่างๆ โดยเฉพาะ “ภูมิแพ้” ที่คาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยมากกว่า 18 ล้านคน
ผศ.ดร.นพ.อธิป นิลแก้ว แพทย์ด้านภูมิคุ้มกันวิทยา จากศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า การรับเอาฝุ่น รวมทั้งละอองเกสรพืช แบคทีเรีย รวมถึงสารจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงรถยนต์จากการหายใจนั้น จะทำให้ไอ จาม หายใจลำบาก ระคายเคืองตาและจมูก จนไปถึงน้ำมูกน้ำตาไหล ง่วงซึม แน่นหน้าอก ระบบทางเดินหายใจผิดปกติ และเป็นภูมิแพ้ ซึ่งเป็นอาการแบบเดียวกับโรค Sick Car Syndrome โดยพบได้ทั้งโรคหืด รวมถึงเยื่อบุจมูกอักเสบภูมิแพ้ อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างไซนัส หูชั้นกลางอักเสบ ริดสีดวงจมูกได้ ซึ่งจะกระทบต่อคุณภาพชีวิตเมื่อมีความสามารถในการหายใจยามหลับลดลง ในระยะยาวยังรุนแรงขึ้นถึงขนาดลดความสามารถในการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ มะเร็งโพรงจมูก และมะเร็งปอดด้วย
นางรัตนา ชาญนรา ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท แอมเวย์ (ประเทศไทย) จำกัด แนะนำว่า นอกจากจะเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วยการทำความสะอาดห้องโดยสารสม่ำเสมอแล้ว ต้องใส่ใจมากขึ้นทั้งการกำจัดกลิ่นอับ หมั่นดูดฝุ่นเบาะ รวมทั้งติดตั้งเครื่องกรองอากาศในรถยนต์ที่สามารถดักจับไวรัส แบคทีเรีย มลพิษต่างๆ ก็จะช่วยกรองอากาศได้มาก ซึ่งในยุคนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่ ช่วยควบคุมด้วยระบบเซ็นเซอร์ และตรวจจับสารปนเปื้อนโดยอัตโนมัติ
ที่มา มติชนออนไลน์