เผยแพร่ |
---|
“ยุทธนา เกียรติดำเนินงาม”
เมื่อครั้งพล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และครม. ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการบริหารงานตามนโยบายรัฐบาล ที่ อ.คำม่วง และ อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ ช่วงเดือนธ.ค. 2560 โดยประชุมทุกภาคส่วน ร่วมขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับชาวเมืองนี้ หลังจากสภาพัฒน์ได้จัดอันดับ “จังหวัดกาฬสินธุ์ จนอันดับ 75 ของประเทศ”
ต่อมา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกฯ นายกฤษฎา บุญราช รมว.กระทรวงเกษตรฯ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ พร้อมภาครัฐและภาคเอกชน มาประชุมหารือ ร่วมในการขับเคลื่อนโครงการ กาฬสินธุ์แฮปปี้เนส โมเดล 2019 “คนกาฬสินธุ์ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ตามข้อสั่งการของนายกฯ
ขบวนการแก้จน จ.กาฬสินธุ์ จึงได้เกิดขึ้น โดยมีการ kick off ไปเมื่อวันที่ 11 ม.ค. ด้วยการบูรณาการงบประมาณและกลไกประชารัฐ มีเป้าหมายรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% คือปี 2561 จากรายได้ 51,147 บาท/คน/ปี เป็น 54,727 บาท/คน/ปี หรือเพิ่มขึ้น 7% และปี 2562 จากรายได้ 51,147 บาท/คน/ปี เป็น 56,261 บาท/คน/ปีหรือเพิ่มขึ้นเป็น 10%
นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จ.กาฬสินธุ์เป็นสังคมเกษตรกรรม แนวทางแก้ไขปัญหาความยากจน จึงมุ่งเน้นไปที่ส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรม ผักปลอดสารพิษ เพื่อให้เกิดอาชีพและรายได้อย่างยั่งยืน โดยมีบ.ประชารัฐรักสามัคคีกาฬสินธุ์ (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ร่วมขับเคลื่อน
จ.กาฬสินธุ์ มีพื้นที่ 6,946.75 ตร.ก.ม.หรือ 4.3 ล้านไร่ 18 อำเภอ 135 ตำบล 1,584 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 9 แสนคนเศษ พื้นที่การเกษตร 2,701,256 ไร่ หรือ 62.2% ของพื้นที่ทั้งหมด พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ยางพารา
ขณะที่สัตว์เศรษฐกิจคือ กุ้งก้ามกราม ปลานิล โคเนื้อ สุกรและไก่ มีโรงงานในพื้นที่รวม 564 แห่ง มีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ขึ้นชื่อได้แก่ ผ้าไหมแพรวา ชุดผู้ไท ไหมมัดหมี่ เครื่องจักสาน ส่วนด้านการท่องเที่ยวนั้น ที่สำคัญคือพิพิธภัณฑ์สิรินธร เมืองฟ้าแดด สงยาง พระธาตุยาคู สะพานเทพสุดา เขื่อน ลำปาวปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวใน จ.กาฬสินธุ์ทั้งปีเพียง 562,760 คน
รูปแบบการแก้ปัญหาระยะแรกภายใน 2 ปี จะดำเนินการตามองค์ประกอบหลัก 4 อย่าง คือ อย่างแรกค้นหาครัวเรือนยากจน อย่างที่ 2 เป็นกลไกการขับเคลื่อน ตั้งแต่ระดับจังหวัด ถึงหมู่บ้าน อย่างที่ 3 เป็นกิจกรรมการขับเคลื่อน เช่น วิเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนเพื่อจำแนกสถานะ และอย่างที่ 4 คือการติดตามและประเมินผลจากคณะทำงานระดับต่างๆ โดยจะมอบรางวัลเชิดชูเกียรติสำหรับครัวเรือน กลุ่มอาชีพ ชุมชนที่ประสบความสำเร็จด้วย
ในส่วนภาคการเกษตรเน้นส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และส่งเสริมตลาด ทั้งในระดับภูมิภาค ต่างประเทศ และระบบออนไลน์ จะพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ขณะที่ทางด้านอุตสาหกรรมก็จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการแปรรูปครบวงจร เพื่อให้มีการดึงดูดและ ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ให้มากขึ้น
ด้านการท่องเที่ยว จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจร่วมกับภาคเอกชน เช่น ไดโน เสาร์ เวิร์ลด์ เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว จะมีการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัด ส่วนด้านศิลปวัฒนธรรม จะพัฒนาตลาดท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมแบบครบวงจร และจะมีศูนย์ดิจิตอลชุมชน
ทั้งนี้สิ่งที่ถือเป็นอัตลักษณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมชาวผู้ไท ต้นตำรับแหล่งผลิต ผ้าไหมแพรวา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นราชินีแห่งไหม โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงรับไว้ในพระราชินูปถัมภ์ ตั้งแต่ปี 2521 ซึ่งมีการพัฒนาต่อยอด และได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มร้อยแก่นสารสินธุ์ สร้างรายได้ให้กับกลุ่มผู้ผลิตปีละ 50 ล้านบาท
อีกหนึ่งในกระบวนการแก้จน คือการสร้างความปรองดองในสังคม ถือเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการสร้างสุข ด้วยการร่วมแรง ร่วมใจสร้างบ้าน และมอบเครื่องยังชีพให้กับครอบครัวยากจน โดยงบประมาณได้มาจากสายธารน้ำใจหลายภาคส่วน
ขบวนการแก้จนภายใต้การนำของ นายไกรสร กำลังเดินหน้าอย่างเต็มรูปแบบ คงต้องติดตามกันต่อไปว่าดัชนีความจน ของชาว จ.กาฬสินธุ์ ที่เคยอยู่ระดับรั้งท้ายอันดับที่ 75 ของประเทศจะไต่อันดับดีขึ้นหรือไม่ และชาวกาฬสินธุ์จะแฮปปี้กันมากน้อยแค่ไหน
ที่มา ข่าวสดออนไลน์