ถึงเวลาตั้งคำถามและสงสัย “ผักไฮโดรโปนิกส์”

เมื่อราวยี่สิบปีก่อน จำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปกินข้าวบ้านเพื่อน คุณแม่ของเพื่อนซึ่งตอนนั้นคงอายุราวหกสิบปีเศษ เอ่ยถามแม่ครัวทันทีที่ตักแกงจืดเข้าปากคำแรก

“นี่ไม่ใช่ผักปลูกดินใช่ไหม”

แม่ครัวรับคำ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมแปลกใจระคนทึ่งกับลิ้นและการจำแนกรสของคนรุ่นก่อนหน้า ที่รู้เลยว่าตนกำลังกินผักปลูกแปลงธรรมดา หรือว่าผักไฮโดรโปนิกส์ “ก็รสมันจืดขนาดนี้ แม่ก็ต้องรู้ซี” คุณแม่เพื่อนว่ายิ้มๆ

แต่หลังจากนั้น ผมเองก็เหมือนผู้บริโภคทั่วไป ที่มี “ภาพในใจ” หลายๆ ภาพ เกี่ยวกับความสะอาดของพืชผักผลไม้ที่กินเข้าไปแต่ละวัน ภาพเหล่านั้น แน่นอนว่ามีส่วนในการกำหนด เลือกสรร และตัดสินใจประกอบสิ่งใดเป็นอาหารของผมมาโดยตลอด เช่น ผมเคยรู้สึกว่า ผักในซุปเปอร์มาร์เก็ตนั้นย่อมคัดเลือกมาอย่างดี สะอาดกว่าผักตลาดสด, ผักอินทรีย์ (organic) ในถุงใส มีตรารับรองคุณภาพ ย่อมปลอดสารพิษ 100% แน่ๆ และผักไฮโดรโปนิกส์ย่อมทั้งสะอาดและปลอดสารเคมี เพราะไม่ได้ปลูกในดินที่ใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักเน่าๆ หากทว่าหล่อเลี้ยงด้วยสารอาหารในน้ำ มีระบบการล้างสิ่งแปลกปลอมที่รัดกุม จึงปรุงอาหารได้อย่างสนิทใจ ฯลฯ

ต่อมา จากการติดตามรายงานขององค์กรอิสระที่ทำงานรณรงค์ด้านอาหารปลอดภัย ภาพสวยๆ ในใจเหล่านั้นก็เริ่มถูกทุบทำลายไปทีละภาพๆ ซึ่งผมคิดว่า ในแง่ผู้บริโภค มันเป็นเรื่องดีนะครับ ไม่ว่าข่าวคราวการพบสารพิษตกค้างในผัก organic ก็ดี ข่าวการพบว่าผักตลาดมีสารพิษน้อยกว่าผักในห้างฯ ก็ดี ย่อมมีประโยชน์ ช่วยให้เราตาสว่างขึ้น ไม่เชื่อถืออะไรง่ายๆ ที่กลไกตลาดอยากให้เราเชื่ออีกต่อไป

ภาพอีกภาพที่สอบสวนทบทวนโดยข้อมูลใหม่ไปเมื่อเร็วๆ นี้ ก็คือภาพความเชื่อที่ว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ที่สะอาด (บางคนเชื่อว่า “ปลอดสาร” เลยทีเดียว) แทบจะ 100% นั้น ได้ถูกทำลายลงสดๆ ร้อนๆ ด้วยรายงานผลการตรวจสารพิษตกค้างของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ประจำปี พ.ศ. 2561

……….

เจ้าหน้าที่ Thai-PAN ได้เก็บตัวอย่างผักไฮโดรโปนิกส์ 30 ตัวอย่าง จากตลาดและห้างร้านในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จากการตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ได้พบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน 19 ตัวอย่าง (63.3%) พบผักที่ไม่มีการตกค้างเลยเพียง 8 ตัวอย่าง ส่วนที่มีตกค้างบ้าง แต่ไม่เกินมาตรฐาน พบ 3 ตัวอย่าง

เมื่อเทียบกับผลสำรวจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งการตกค้างในผักและผลไม้ทั่วไปมีที่เกินมาตรฐาน 54.4% ก็พบว่าผักไฮโดรโปนิกส์ที่สุ่มตรวจครั้งนี้มีการตกค้างสูงกว่า

Thai-PAN พบสารพิษตกค้างรวม 25 ชนิด ซึ่งผมขอคัดรายชื่อมาให้พิจารณากันดูนะครับ เช่น สารกำจัดวัชพืช (Herbicide) 1 ชนิด คือ Ametryn สารป้องกันและกำจัดโรคพืช (Fungicide) 6 ชนิด ได้แก่ Azoxystrobin, Chlorothalonil, Difenoconazole, Metalaxyl, Propamocarb และ Pyraclostrobin สารกำจัดแมลงและไร (Insecticide and Acaricide) รวม 18 ชนิด แบ่งเป็นกลุ่ม Carbamate 2 ชนิด ได้แก่ Carbofuran และ Methomyl กลุ่ม Organophosphate 3 ชนิด ได้แก่ Chlorpyrifos, Dimethoate และ Omethoate กลุ่ม Pyrethroid 3 ชนิด ได้แก่ Cypermethrin, Etofenprox และ Lambda Cyhalothrin กลุ่มอื่นๆ 10 ชนิด ได้แก่ Abamectin, Acetamiprid, Chlorantraniliprole, Chlorfenapyr, Chlorfluazuron, Emamectin, Fipronil, Imidacloprid, Lufenuron และ Spinetoram

ทั้งหมดนี้ มี “สารดูดซึม” ถึง 17 ชนิด นั่นแปลว่า การล้างผักเพื่อลดสารตกค้างแทบเป็นไปไม่ได้

ผลการตรวจครั้งนี้ Thai-PAN จะได้นำเสนอผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดมาตรการดำเนินการกับผู้ผลิตรายที่ถูกตรวจพบสารพิษและไนเตรตตกค้างเกินมาตรฐานต่อไป ซึ่งแน่นอนว่า ย่อมจะต้องมีการถกเถียง ประเมิน ตรวจสอบ เปรียบเทียบ ตลอดจนครุ่นคิดเพื่อนำไปสู่คำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับมาตรการควบคุมสารพิษตกค้างอย่างรอบด้านกว่าปัจจุบัน แต่อย่างน้อย ผมคิดว่ามันได้เปิดโลกอีกด้านหนึ่งของผักไฮโดรโปนิกส์ ว่ามันไม่ได้มีความปลอดภัย “มากเท่าที่เคยเชื่อกัน”

อย่างที่ คุณกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ประสานงาน Thai-PAN อธิบายว่า “..ผู้บริโภคจำนวนมากยังสับสน เข้าใจว่าผักไฮโดรโปนิกส์กับผักอินทรีย์นั้นเหมือนกัน และเข้าใจว่าไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่ประการใด การศึกษาครั้งนี้ทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่า ผักไฮโดรโปนิกส์ไม่ได้ปลอดภัยกว่าผักทั่วไปที่ปลูกโดยใช้ดิน ทั้งๆ ที่การปลูกแบบนี้ควรจะมีการจัดการให้ปลอดภัยกว่าได้”

สำหรับผู้บริโภค เรื่องนี้คงเสมือนฝันร้ายอีกตื่นหนึ่ง ที่ทำให้ความหวังวูบท้ายๆ ซึ่งหมายจะฝากปากท้องไว้กับผักไฮโดรโปนิกส์อันเคยซื้อกินอย่างสนิทใจนั้น มีอันต้องริบหรี่ลงไปอีก

……….

แน่นอนว่า มีเรื่องที่เรา – สังคมไทย ยังไม่รู้อีกมาก เป็นต้นว่า ปริมาณสารไนเตรตที่ตรวจพบว่าตกค้างในผักไฮโดรโปนิกส์ รวมทั้งผักที่ปลูกด้วยวิธีอื่นๆ ทั้งหมด จะต้องมีค่าเป็นตัวเลขสูงเท่าใดแน่ จึงจะถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์, มีเกษตรกรคิดเป็นอัตราส่วนเท่าใด ที่ตั้งใจปลูกผักไฮโดรโปนิกส์อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอน เช่น มีการล้างสารพิษด้วยน้ำเปล่าตามเวลาที่กำหนด ฯลฯ

ผมคิดว่า หากใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาส ก็น่าจะเป็นจังหวะดี ที่เกษตรกร “ตัวจริง” ผู้ซึ่งทำการเกษตรไฮโดรโปนิกส์อย่างซื่อสัตย์จะได้ถือเป็นข้ออ้างที่จะอธิบายแนวคิด ขั้นตอนรายละเอียด และผลผลิตที่สมบูรณ์ของตน ให้สามารถเป็น “ทางเลือก” ของผู้บริโภคที่ต้องการช่วยอุดหนุนสินค้าคุณภาพได้ชัดเจนขึ้นกว่าแต่ก่อน

ในส่วนของผู้บริโภค ก็ต้องตระหนักรู้ว่า มิได้หมายความว่าผักไฮโดรโปนิกส์ “ทั้งหมด” เป็นอันตราย การระมัดระวังเพื่อคัดเลือกบริโภคผักคุณภาพ อาจเริ่มด้วยการหาความรู้เบื้องต้น เช่นที่ คุณปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN แนะว่า “..ผู้บริโภคสามารถดาวน์โหลดรายชื่อของผักไฮโดรโปนิกส์ ทั้งที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยได้ที่เว็บไซต์หรือเพจของไทยแพน (Thai-PAN)”

ผักไฮโดรโปนิกส์นั้น แม้จะไม่ได้ปลูกในดินอย่างพืชผักปกติ ทว่าก็ยังต้องมีชีวิตอยู่ในภูมิอากาศพื้นถิ่นนั้นๆ อยู่ดีนะครับ ซึ่งย่อมหมายความว่า ตัวมันเองมีเงื่อนไขความคงทนต่อโรคแมลง อัตราการเจริญเติบโต ตลอดจนรสชาติความอร่อย ผันแปรไปตามสภาพแสงแดด และอุณหภูมิของอากาศ เช่นเดียวกับพืชผักอื่นๆ ทั่วไปด้วย

รายละเอียดปลีกย่อยที่มีมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ย่อมทำให้ความหวังที่ดูจะริบหรี่ กลับสว่างขึ้นมาอีกครั้ง สำหรับผู้บริโภคที่รู้จักสรรหา เลือกเฟ้น ด้วย “ความรู้” เท่าที่เรามีอยู่

อย่าให้เหมือนอย่างที่บางคนบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคมที่แปลก ตรงที่เมื่อมีคนลุกขึ้นพูดเตือนให้ตระหนักถึงภัยอันตรายและความเสี่ยงใดๆ ก็ตาม คนคนนั้นกลับถูกชิงชัง รังเกียจ กระทั่งถูกลงโทษ ด้วยข้อหาสร้างความตื่นกลัวให้เกิดกับส่วนรวม ดังเช่นหลายกรณีที่ทยอยเกิดขึ้นตลอดมาในช่วงไม่กี่ปีนี้

เพื่อนผมคนหนึ่งเคยพูดไว้นานมากแล้วว่า สังคมไทยนั้นเป็นสังคมที่ “เฉยเมยต่อความรู้”

ผมล่ะกลัวจะเป็นอย่างที่เขาพูดจริงๆ เลย…