ร้อนนี้ กทม. แนะเฝ้าระวัง “ท้องร่วง-ลมแดด”

เมื่อวันที่ 7 มีนาคม นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าร้อนของทุกปี โรคติดต่อที่มากับอาหารและน้ำ เช่น โรคอุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ หรือบิด โรคอหิวาห์ตกโรค โรคไข้ไทฟอยด์ หรือ ไข้รากสาดน้อย ฯลฯ มักระบาด

ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่ถ่ายเหลวเป็นน้ำมูกเลือด หรือเป็นน้ำซาวข้าว มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง แล้วแต่ชนิดของเชื้อโรค สาเหตุอาจเกิดจากกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดอาการดังกล่าว

ทั้งนี้ กองสุขาภิบาลอาหาร กทม. ได้ตรวจวิเคราะห์อาหาร ปี 2559 พบว่า ในกลุ่มอาหารดิบ เช่น ผลไม้ สลัด ส้มตำ มีการปนเปื้อนเชื้ออีโคไลมากที่สุด ส่วนกลุ่มอาหารทะเลพบเชื้ออหิวาต์เทียม (V.parahaemolyticus) มากที่สุด สำหรับอาหารปรุงสุกทั่วไป พบว่าข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง ปนเปื้อนเชื้ออีโคไลมากที่สุด ขณะที่น้ำแข็งบดพบมีการปนเปื้อนเชื้อโคลิฟอร์ม (coliforms) มากที่สุด

นพ.เมธิพจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ โรคลมแดดก็ต้องระมัดระวัง เพราะหากเป็นอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้สามารถป้องกันได้โดย ดื่มน้ำอย่างน้อย วันละ 6-8 แก้ว ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เลือกออกกำลังกายช่วงเช้าและเย็น