“สูงวัย” ถูกละเมิดสิทธิ!!

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีความเสื่อมทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม อันเป็นความเปราะบางทางธรรมชาติที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งด้วยระบบ เศรษฐกิจและสังคมของไทยในขณะนี้ก็มีการคาดการณ์ว่าผู้สูงอายุในอนาคตจะถูกทอดทิ้ง ถูกละเมิดสิทธิจำนวนมากขึ้น

จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมพร้อม ในการคิดหามาตรการและนโยบาย เพื่อคุ้มครองพิทักษ์ผู้สูงอายุในทุกเรื่องและทุกคน นำเสนอผ่านผลการศึกษาในงานวิชาการสาธารณะ เรื่อง สิทธิของผู้สูงอายุไทยในสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับกรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) และมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ที่โรงแรมแมนดาริน ถนนพระราม 4 กรุงเทพฯ

ผู้สูงวัยถูกละเมิดสิทธิด้านจิตใจสูงสุด

ดร.ภัทรพร คงบุญ ผู้จัดการชุดโครงการการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาระบบการคุ้มครองพิทักษ์สิทธิผู้สูงอายุ มส.ผส. กล่าวว่า นักวิจัยของ มส.ผส.ได้ศึกษาสถานการณ์ที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุต่อการถูกละเมิดสิทธิ พบดังนี้ ในปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ถูกละเมิดสิทธิเพิ่มขึ้นกว่าในอดีต และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประเภทความรุนแรงที่พบมากที่สุดคือ ด้านจิตใจ ที่บ่อยครั้งอาจสื่อสารไม่เข้าใจกัน แล้วผู้สูงอายุถูกบ่น ด่า พูดจาไม่ดี จนเกิดความน้อยใจ โกรธ กระทั่งรู้สึกว่าตัวเองด้อยค่า รองลงมาคือการทอดทิ้งละเลย ไม่ดูแลหรือดูแลไม่เหมาะสม ซึ่งพบมากในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยหรือไม่ได้เลย รวมถึงการเอาประโยชน์จากทรัพย์สินเงินทองและหลอกลวง

ดร.ภัทรพร คงบุญ

“เรายังพบว่าสถานที่ที่ผู้สูงอายุถูกละเมิดสิทธิมากที่สุดคือ บ้าน เนื่องจากคนในครอบครัวมักละเมิดสิทธิผู้สูงอายุมากที่สุด โดยเฉพาะบุตร รองลงมาคือ คู่สมรส รวมถึงญาติพี่น้องและหลาน ขณะที่ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว มีความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิมากเช่นกัน เมื่อถึงจุดเปลี่ยนของชีวิต เช่น ต้องสูญเสียสมาชิกในครอบครัวที่เป็นที่พึ่งพิงของผู้สูงอายุ ต้องเจ็บป่วยจนไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สมองเสื่อม เมื่อนั้นผู้สูงอายุจะถูกเอารัดเอาเปรียบได้ง่าย ซึ่งการละเมิดสิทธิที่พบมากสุดคือ การเอาประโยชน์จากทรัพย์สิน เช่น หลอกขายสินค้า ขายประกันสุขภาพโดยไม่บอกข้อมูลให้ครบถ้วน” ดร.ภัทรพรกล่าว

แนะจัดการมรดกตั้งแต่ช่วงแข็งแรง

ในงานวิจัยยังเสนอให้ผู้สูงอายุที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและบ้านที่จะยกแก่บุตรหลาน ควรไปจดทะเบียนสิทธิเก็บกินให้แก่ตนเองและคู่สมรสกับกรมที่ดิน เพื่อให้ตนเองยังมีสิทธิในที่ดินและบ้านในระหว่างที่ยังมีชีวิตแม้จะยกให้แก่บุตรหลานแล้ว

ป้องกันกรณีปัญหาที่อาจถูกบุตรหลาน เขย สะใภ้ไล่ บีบคั้น บิดามารดาหรือปู่ย่าตายายซึ่งเป็นผู้ยกบ้านและที่ดินให้ ต้องออกไปจากที่ดินและบ้านก่อนเสียชีวิต ขณะเดียวกันควรเขียนพินัยกรรมไว้ล่วงหน้า ไม่ต้องรอให้เจ็บป่วย เพื่อป้องกันปัญหาวุ่นวายที่จะตามมา

ซึ่งกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดแบบของพินัยกรรมไว้หลายแบบ โดยที่แนะนำผู้สูงอายุมี 3 แบบ คือ 1.พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ ซึ่งเหมาะกับพินัยกรรมที่มีรายการทรัพย์สินหรือจำนวนทายาทไม่มาก และผู้ทำพินัยกรรมไม่ต้องการให้ผู้ใดรู้ข้อความในพินัยกรรมนี้ จนกว่าจะถึงวันเปิดพินัยกรรม

2.พินัยกรรมแบบธรรมดา ประเภทนี้สามารถใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ได้ โดยมีพยานอย่างน้อย 2 คน ลงลายมือกำกับทุกหน้า และ 3.พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ซึ่งเป็นพินัยกรรมที่ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะทำพินัยกรรมให้ผู้อำนวยการเขต หรือนายอำเภอ หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองทราบ โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงิน 60 บาท จากนั้นผู้อำนวยการเขตจะเก็บรักษาต้นฉบับไว้ที่ที่ว่าการเขต และออกใบรับพินัยกรรมไปดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรม

เสนอมาตรการเตรียมพร้อมสูงวัยคุณภาพ

ดร.ภัทรพร กล่าวว่า จากงานวิจัยพบว่ามาตรการและกฎหมายที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ยังคงเป็นแค่นามธรรม ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และไม่ทำให้สังคมเกิดความตระหนักในคุณค่าผู้สูงอายุ ฉะนั้นจึงเสนอ 4 เรื่องสำคัญเพื่อทำให้สูงวัยอย่างมีคุณภาพคือ

1.การส่งเสริมให้ชุมชนเป็นฐานป้องกันและเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิผู้สูงวัย ในการให้เพื่อนบ้านช่วยกันดู โดยอาจเพิ่มบทบัญญัติการคุ้มครองผู้แจ้งเหตุโดยสุจริตไม่มีความผิด เหมือนกฎหมายครอบครัว เวลาที่เห็นผู้สูงอายุถูกทำร้ายและละเมิดสิทธิต่างๆ เพื่อนำมาสู่การได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

2.ให้มีกลไกตรวจสอบผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ผู้สูงอายุว่าสามารถทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ดูแลอย่างไร เพราะปัจจุบันเมื่อศาลได้พิจารณาให้ได้บุคคลเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ดังกล่าวแล้ว ก็จะทำหน้าที่ไปตลอดจนผู้สูงอายุเสียชีวิต ซึ่งบางครั้งอาจดูแลไม่ดี

3.อยากให้หน่วยงานรัฐบูรณาการการทำงานอย่างแท้จริง เพราะอย่างเวลาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล เขาจะต้องประสานงานเองทุกอย่างแผนกนั้นแผนกนี้ บางครั้งต้องเดินข้ามตึกไปๆ มาๆ หลายรอบ บางครั้งมาถึงโรงพยาบาลครึ่งวันผ่านไปแล้วก็ยังไม่ได้อะไรเลย ซึ่งอาจมีหน่วยงานที่มาเป็นเจ้าภาพชัดเจน อาทิ ศูนย์ช่วยเหลือสังคม ที่คอยประสานงานเพื่ออำนวยความสะดวกให้

และ 4.อยากให้หน่วยงานรัฐทำงานเชิงรุก ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยสะดวกไปใช้บริการรัฐ สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้ ขณะที่ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการต้องเป็นมิตร เพราะที่ผ่านมาก็เจอเคสที่ว่าจะไปเปลี่ยนบัตรประชาชนเป็นสมาร์ทการ์ด เพื่อใช้สวัสดิการผู้สูงอายุ แต่ปรากฏว่าถูกเจ้าหน้าที่ปฏิเสธเพราะมองว่าแก่แล้ว ไม่ต้องทำหรอก

พม.พร้อมขับเคลื่อน

ขณะที่ พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีว่า ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิผู้สูงอายุสำคัญอย่างมาก เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ โดยเฉพาะกับคนในครอบครัว ทั้งนี้ พม.ได้พยายามขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผู้สูงอายุให้เป็นรูปธรรมอยู่ แต่ก็พร้อมรับฟังข้อมูลจากงานวิจัย และรับจะไปหามาตรการมาป้องกันเพิ่มเติม และทำให้เข้มข้นขึ้น

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์

เตรียมพร้อมมาตรการคุ้มครองผู้สูงอายุในทุกเรื่อง