ยางพาราแปรรูปยอดร่วงออร์เดอร์ลด ทุนจีนซุ่มลงทุนเปิดโรงงานดัมพ์ราคาแข่ง-ชิงลูกค้า

ผลิตภัณฑ์จากยางพาราฝุ่นตลบ ราคาร่วง-ออร์เดอร์หด หลังทุนจีนโดดตั้งโรงงานผลิตในไทยดัมพ์ราคาแข่ง แถมล็อกคอทัวร์จีนซื้อ ด้านสหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชนยาง กลุ่มยาง ฮึดสู้เตรียมแจ้งเกิดสินค้าใหม่ พนักพิงหลัง เสื่อโยคะ รองเท้าแตะ ยางรัด แบรนด์ดังแนะทางออก สินค้าต้องหลากหลาย-ขายผ่านเว็บไซต์ บริษัทประชารัฐฯ ร้องรัฐตั้งหน่วยงานดูแล ลั่นพร้อมสนับสนุนทำตลาดเต็มสูบ

นางถนอม พงศ์แก้ว ประธานกรรมการ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพ สหกรณ์บ้านพังดาน อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 ที่ผ่านมายอดขายเริ่มตกลง เนื่องจากออร์เดอร์ทั้งจากต่างประเทศและในประเทศเริ่มลดลง โดยเฉพาะออร์เดอร์จากจีนส่วนหนึ่ง เนื่องจากที่ผ่านมามีนักลงทุนจากจีนหลายรายที่เข้ามาลงทุนตั้งโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราในแถบจังหวัดปทุมธานี และมีการดัมพ์ราคาเพื่อแข่งกับสินค้าของกลุ่มสหกรณ์ยาง กลุ่มสถาบันเกษตรกรยางที่ผลิตสินค้าแปรรูปออกมาขาย

นอกจากนี้ปัจจัยในเรื่องของเศรษฐกิจกำลังซื้อในประเทศที่ไม่ดีนัก ประกอบกับผลิตภัณฑ์จากยางพารา ไม่ว่าจะเป็นหมอนหรือที่นอน หากซื้อไปแล้วก็จะมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างนาน คือ ใช้ได้ 6-7 ปี ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ยอดขายเริ่มชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม กลุ่มสหกรณ์ก็พยายามคิดค้นและผลิตสินค้าแปรรูปจากยางพาราใหม่ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่ม เช่น พนักพิงหลังที่ใช้กับโต๊ะทำงาน พนักพิงหลังที่ใช้ในรถยนต์ รวมถึงเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ คือ หุ่น ที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) มีคำสั่งผลิต เพื่อให้คณะแพทยศาสตร์ สำหรับหุ่นไว้ประกอบการสอนวิชาอนาโตมี การสาธิตวิธีการปั๊มหัวใจให้กับนักศึกษาคณะแพทย์ โดยผลิต ทยอยส่งแล้ว จากเดิมที่ส่วนใหญ่เป็นหมอน ที่นอน

ทุนจีนตั้งโรงงานผลิตขายแข่ง

นางสาวตติยา เจริญรมย์ ฝ่ายการตลาด กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านเนินสว่าง หมู่ 6 ต.บางบุตร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราแบรนด์ Kaika (ไก่กา) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันการแข่งขันผลิตภัณฑ์จากยางพาราค่อนข้างสูง โดยเฉพาะที่นอนและหมอนยางพารา โดยมีจีนลงทุนทำหมอนยางพาราในไทยประมาณ 3-4 ราย ทำให้เกษตรกรมีปัญหา เนื่องจากทำผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วไม่รู้จะขายใคร เพราะเมื่อทัวร์นักท่องเที่ยวจีนเข้ามาก็จะซื้อผลิตภัณฑ์จากของโรงงานจีน ด้านผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ก็พยายามหาสถานที่ให้จำหน่าย เช่น ปั๊มน้ำมัน แต่ปริมาณยังน้อย หากสามารถเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวได้ก็น่าจะดี

สำหรับแบรนด์ Kaika ดำเนินธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากยางพารามากว่า 1 ปีแล้ว มีผลิตภัณฑ์กว่า 20 ชนิด ได้แก่ เบาะรองนั่ง ที่นอน หมอน และหมอนรองคอ เป็นต้น และเน้นช่องทางการจำหน่ายทางเว็บไซต์ www.KaikaRubber.com ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนไทยที่มีการบอกต่อกันและกลับมาซื้อสินค้า เมื่อปลายปี 2560 ได้มีการเปิดตลาดต่างประเทศ และเริ่มมีการสั่งซื้อเป็นลอต ได้แก่ จีน อเมริกา และไต้หวัน

Advertisement

ขณะที่นางสาวรวีพลอย ยุทธเจริญกิจ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด สหกรณ์กองทุนสวนยางอำเภอบ่อทอง จำกัด จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ตอนนี้ทั้งการแข่งขันราคายางยังทรงตัว เพราะประเทศไทยยังได้รับผลกระทบจากโควตาในการส่งออก ค่อนข้างติดปัญหา ส่งผลไปยังลูกค้าปลายทาง เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งแจ้งเรื่องการส่งออกในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้โควตาการส่งออกมีการปรับ ปัญหาจึงอยู่ที่ผู้ประกอบการ แม้ราคาจะขยับขึ้นแต่ก็ส่งออกไม่ได้อยู่ดี ในกลุ่มของสหกรณ์เองก็มีการแปรรูป ทั้งยางรมควัน ยางแท่ง str 20 ผลิตภัณฑ์ยังขายในตลาดไทยได้ตามปกติ แต่ยางแท่ง str 20 จะตีตลาดได้ดีกว่าแผ่นยางรมควัน

ดิ้นผลิตสินค้าใหม่ขายสู้

Advertisement

นายชาย คงแก้ว ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สหกรณ์จังหวัดพัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ปัจจุบันแม้ว่าภาพรวมของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารายังมีทิศทางที่ดี และยังมีโอกาสทางการตลาดอีกมาก แต่ล่าสุดสถานการณ์ด้านราคาเริ่มมีทิศทางที่ลดลง โดยปีที่ผ่านมาเครือข่ายสถาบันยาง จ.พัทลุง สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพาราได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 3-4 ล้านบาท แต่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา จนถึงล่าสุดปีนี้ พบว่ายอดขายลดลงประมาณ 50-60% บางเดือนขายได้เพียงประมาณ 1 ล้านบาทเท่านั้น

ส่วนหนึ่งเนื่องจากปัจจุบันเริ่มมีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราขึ้นมาก และทำให้มีการแข่งขันเรื่องราคาสูงเพื่อแย่งลูกค้า ประกอบกับพ่อค้าได้ชะลอรับซื้อผลิตภัณฑ์จากยางพาราลง เนื่องจากต้องการรอดูความชัดเจนในเรื่องของราคา รวมถึงรอดูความชัดเจนในเรื่องของนโยบายจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าหลายๆ รายก็ได้ผลิตสินค้าใหม่ๆ เพิ่มเข้ามา อาทิ พนักพิง เสื่อโยคะ เครื่องมือแพทย์ ฯลฯ จากเดิมที่สินค้าหลักๆ จะเป็นหมอน ผ้ารองละหมาด อาสนะพระ ที่นอน ฯลฯ

พร้อมกันนี้ นายชายยังให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันพื้นที่ภาคใต้มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพาราของสถาบันเกษตรกรยางประมาณ 34 โรงงาน ที่ผ่านมากลุ่มสถาบันเกษตรกรยาง เช่น สหกรณ์ยาง วิสาหกิจชุมชนยาง กลุ่มยาง จ.พัทลุง และเครือข่าย มีตลาดประจำ คือ ประเทศจีน ไต้หวัน อิหร่าน และขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานเพื่อจะนำสินค้าไปทำตลาดในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

ขณะที่นายไพรัช เจ้ยชุม คณะกรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง การยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สหกรณ์กองทุนสวนยางในเขตปฏิรูปที่ดินบ้านทางเกวียน อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง เตรียมจะลงทุนประมาณ 7 ล้านบาท เพื่อซื้อเครื่องจักรสำหรับแปรรูปยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์รองเท้าแตะ ยางเส้น ยางรัด และผลิตภัณฑ์จากยางพาราส่วนใหญ่สถาบันเกษตรกรจะทำการตลาดกันเอง ขณะที่การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก็มีการทำตลาดผลิตภัณฑ์จากยางพารา จัดบู๊ธวางจำหน่ายที่ปั๊ม ปตท.ทั่วประเทศ

ร้องรัฐตั้งหน่วยงานดูแล

นายเงินวสวัตติ์ ลิ่มทวีสกุล กรรมการบริหาร และผู้จัดการ บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เพื่อให้สินค้าผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารามีทิศทางที่ชัดเจนและสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยส่วนตัวมองว่าภาครัฐจะต้องมีหน่วยงานกลางเข้ามาดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อทำหน้าที่ในการรับฟังความเห็นจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ทำหน้าที่ในการประสานงาน การทำการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ บริษัทประชารัฐฯ ก็เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่จะสามารถเข้ามาช่วยดูแลในเรื่องเหล่านี้ได้ และพร้อมที่จะสนับสนุน

“ในฐานะ ผจก.บจ.ประชารัฐรักสามัคคีพัทลุง ตนได้ทำหนังสือถึงนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากไม้ยางพารานั้นเป็นไม้ที่มีคุณค่าและเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงขอให้ผลักดันไม้ยางพาราเป็นอสังหาริมทรัพย์ สามารถนำไปแปลงเป็นทุนได้ โดยสามารถนำไปจำนำหรือกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือผู้ให้กู้ได้ โดยไม่ต้องใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน เพื่อให้ชาวสวนยางพารามีเงินทุนหมุนเวียนในยามที่จำเป็น”

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 8 – วันอาทิตย์ที่ 11 มีนาคม 2561