GtoG จีนดึงราคาข้าวในประเทศพุ่งพรวด

โรงสีตื่นข้าวเปลือกสะวิงราคาวันเดียว 3 รอบ บิ๊กส่งออก”พงษ์ลาภ” ฉุดราคาซื้อข้าว 5% พุ่งตันละ 12,000 บาท รับข่าวดีออร์เดอร์นอกทะลัก 500,000 ตัน ทั้งจีทูจีคอฟโก้-อินโดฯ-ฟิลิปปินส์เปิดประมูล ชาวนาลุ้นอานิสงส์ข้าวเปลือกนาปรังขยับตาม คาดผลผลิตทะลักกลางเดือนมีนาคมนี้

แหล่งข่าวจากวงการโรงสีข้าวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงความผันผวนของราคาข้าวในช่วงนี้ว่า เฉพาะวันที่ 5 มีนาคมเพียงวันเดียว ปรากฏ “ข้าวสาร” มีการปรับราคารับซื้อถึง 3 ครั้ง เริ่มจากช่วงเช้าที่ราคาเปิดตลาดตันละ 11,500 บาท พอมาถึงช่วงบ่าย “กลุ่มพงษ์ลาภ” ซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ไปตลาดอินโดนีเซีย ได้แจ้งราคาซื้อขยับขึ้นเป็นตันละ 11,800 บาท ส่งผลให้ผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่หลายราย เช่น กลุ่มนครหลวงค้าข้าว-เอเซียโกลเด้นท์ไรซ์-กลุ่มไทยฟ้า (2511) ต่างปรับราคารับซื้อข้าวขึ้นตาม จนถึงช่วงเวลาเย็นของวันเดียวกัน มีผู้ส่งออกบางรายแจ้งราคารับซื้อข้าวกับโรงสีพันธมิตรในเครือข่าย (แบบไม่เป็นทางการ) สูงถึงตันละ 12,000 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงขึ้นมาก

“ที่ราคาข้าวขยับขึ้นเป็นผลมาจากผู้ส่งออกได้รับคำสั่งซื้อใหม่ ๆ จากตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นตลาดส่งออกข้าวหลักของกลุ่มพงษ์ลาภ นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งซื้อข้าวแบบ G to G กับคอฟโก้ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจจีน เป็นข้าวขาว 5% เข้ามาอีก 100,000 ตัน ในราคาตันละ 451 เหรียญสหรัฐ (แพ็ก 50 กก.) และราคา 461 เหรียญสหรัฐ (แพ็ก 25 กก.) เมื่อคิดทอนมาเป็นข้าวสารหักค่าสีแปรสภาพแล้วอยู่ที่ตันละ 12,500 บาท ในขณะที่ผู้ส่งออกกลับซื้อข้าว (เพื่อรอส่งมอบคอฟโก้) ในราคาตลาด คือ ตันละ 11,500 บาท หรือมีส่วนต่างราคาตันละ 1,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ควรจะซื้อสูงขึ้นกว่านี้” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา ราคาข้าวภายในประเทศมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากราคาเริ่มต้นที่ตันละ 12,000 บาท พอมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ ราคาข้าวกลับตกลงมาเหลือตันละ 11,400 บาท จากปัญหาโรงสีข้าว “ขาดสภาพคล่อง” ประกอบกับหน่วยงานรัฐบาลยังค้างค่าเช่าคลังในช่วงโครงการรับจำนำข้าว ทำให้โรงสีต้องกดราคารับซื้อข้าวเปลือกอยู่ที่ตันละ 7,600-7,700 บาทเท่านั้น

พงษ์ลาภลุ้น 1.5 แสนตันอินโดฯ

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยัง นายสมพงษ์ กิติเรียงลาภ ประธานบริษัท พงษ์ลาภ จำกัด ยอมรับว่า การปรับขึ้นของราคารับซื้อข้าวสารที่สูงขึ้น เป็นผลมาจากบริษัทกำลังยื่นประมูลขายข้าวสาร 5% กับข้าว 15% ให้กับหน่วยงานจัดซื้อข้าวของอินโดนีเซีย (บูล็อก) ปริมาณ 150,000 ตัน คาดว่า บูล็อกจะประกาศผลราคาภายใน 1-2 วันนี้ ซึ่งหากไทยชนะก็จะส่งผลดีกับภาพรวมของราคาข้าวเปลือกนาปรังปี 2561 แต่หากไม่ชนะ ทางบริษัทก็สามารถสต๊อกข้าวลอตที่รับซื้อไว้ก่อนหน้านี้ และนำไปปรับปรุงส่งมอบในออร์เดอร์ที่รับไว้ในช่วงปลายปี 2560 ที่ยังมีเหลือทั้งของมาเลเซีย-จีน และเตรียมสต๊อกเพื่อรองรับการประมูลข้าวของรัฐบาลประเทศอื่น ๆ ที่จะเปิดประมูลเร็ว ๆ นี้ เช่น ฟิลิปปินส์ อีก 250,000 ตัน

ข้าวหอมมะลิราคาพุ่ง

ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า การที่ผู้ส่งออกปรับขึ้นราคารับซื้อข้าวจากตันละ 11,600 เป็น 11,800-12,000 บาท เพราะขณะนี้คอฟโก้ตกลงซื้อข้าว G to G จากรัฐบาลไทยจริง แต่ยังอยู่ระหว่างการยืนยันราคา โดยข้าวลอตนี้จะต้องส่งมอบภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ ถือเป็นข้าวลอตที่ 5 ภายใต้สัญญาซื้อขายข้าวของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ลอตที่ 2 ที่เคยตกลงกันไว้ปริมาณ 1 ล้านตัน และส่งมอบไปแล้ว 500,000 ตัน

“แต่หยุดชะงักมาระยะหนึ่ง” อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ราคาข้าวปรับขึ้น “น่าจะเป็นเพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น” เพราะคำสั่งซื้อจากตลาดอื่นยังมีความไม่แน่นอน เช่น การประมูลของฟิลิปปินส์ 250,000 ตัน ซึ่งเดิมจะมีประมูลเดือนเมษายนนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในประเทศ ขณะที่เวียดนามจะเริ่มเกี่ยวข้าวนาปี 2561/2562 ในเดือนมีนาคมนี้แล้วก็จะทำให้ปริมาณซัพพลายข้าวโลกเพิ่มขึ้น ทั้งภาวะอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนมีผลต่อราคาส่งออกข้าว

“แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อข้าวคอฟโก้เข้ามา แต่คาดว่ายอดส่งออกข้าวในเดือนนี้จะทำได้เพียง 800,000 ตันลดลงจากเดือนก่อนที่ส่งออกได้960,000 ตันจากคำสั่งซื้อข้าวค้างเก่ามาจากปลายปี 2560 ซึ่งจะทำให้ยอดส่งออกทั้งปีได้ 9.5 ล้านตันตามเป้าหมายเดิมเพราะตลาดข้าวหอมมะลิก็ยังน่าห่วง เนื่องจากราคาข้าวหอมมะลิของไทยยังสูงถึงตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ เสี่ยงจะเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวมะลิให้คู่แข่ง” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

ข้าวเปลือกราคาไม่ขยับตาม

นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ขณะนี้ราคาข้าวเปลือก 5% (ความชื้น 15%) ราคาเฉลี่ยตันละ 7,400-7,600 บาท “ซึ่งเป็นระดับราคาที่ใกล้เคียงกับปีก่อน” แต่มีบางพื้นที่ที่รับซื้อสูงถึง 7,800 บาท โดยแนวโน้มราคาข้าวเปลือก “น่าจะทรงตัว” อยู่ในระดับนี้ไปตลอดช่วงการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปรังปี 2561 ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาด และจะออกมามากที่สุดช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป ทางสมาคมคาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังปี 2561 จะมีปริมาณ 7-8 ล้านตันข้าวเปลือก ซึ่งเป็นปริมาณใกล้เคียงกับปีผ่านที่มาเช่นกัน

“ราคาข้าวเปลือกไม่ได้ปรับขึ้นไปตามราคาข้าวสาร เพราะจำนวนโรงสีในระบบมีเยอะมาก ตลาดข้าวสารเป็นของผู้ซื้อ กล่าวคือ ผู้ส่งออกเป็นผู้กำหนดราคารับซื้อข้าว ขณะที่ความสามารถในการรับซื้อของโรงสีแต่ละโรงก็ไม่เท่ากันอีก ขึ้นกับสภาพคล่องของแต่ละราย” นายเกรียงศักดิ์กล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ