จุดพลุปลูก “สัก-ยาง-พะยูง” ตอบโจทย์สร้างรายได้-เพิ่มพื้นที่ป่า

การส่งเสริมไม้เศรษฐกิจในประเทศไทย เป็นโครงการระยะยาวที่กรมป่าไม้กำลังเร่งผลักดันเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ทั่วประเทศ และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไปพร้อม ๆ กัน ภายใต้ยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร ระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 2561-2579

ซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวถูกกำหนดไว้ตั้งแต่กลางปี 2560 เป้าหมายคือการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ไม่น้อยกว่า 26 ล้านไร่ ด้วยการจัดทำโครงการปลูกไม้เศรษฐกิจแบ่งเป็นปลูกไม้เศรษฐกิจในพื้นที่ป่า ได้แก่ พื้นที่บุกรุกปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมัน รวมถึงป่าสงวนเสื่อมโทรม 8.7 ล้านไร่

พื้นที่นอกเขตป่า ได้แก่ พื้นที่นาที่ไม่เหมาะสมทำนา พื้นที่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (สปก.) พื้นที่ในความรับผิดชอบของอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ และที่ดินกรรมสิทธิ์อื่น ๆ รวม 14.6 ล้านไร่ และพื้นที่สีเขียวในเขตอีก 2.7 ล้านไร่

หากเป็นไปตามแผนที่วางไว้คาดการณ์ว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกไม้เศรษฐกิจอย่างน้อย 420,000 บาท/คน/ปี ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมของภาคป่าไม้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาท/ปี เนื่องจากความต้องการใช้ไม้มีเป็นจำนวนมากทั้งเพื่อใช้ภายในประเทศ และผลิตเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะประเทศจีนที่แต่ละปีมีความต้องการไม้จำนวนมาก
จี้ปลดล็อกกฎหมาย

“เสรี รัตนเย็นใจ” ผู้อำนวยการส่วนปลูกป่าภาคเอกชน กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าแม้การปลูกป่าในพื้นที่ป่าไม้กับพื้นที่ทำกินของประชาชนแบ่งแยกได้ยาก แต่การปลูกป่าเศรษฐกิจอยู่ในการรับผิดชอบของกรมป่าไม้ทั้งสิ้น ที่ต้องเร่งดำเนินงานในปี 2561 คือ ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศ คสช. 106/2557 ว่าด้วยไม้หวงห้ามประเภท ก. หรือไม้ที่หากจะมีการทำไม้ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีไม้เศรษฐกิจสำคัญ 3 ชนิดที่ถูกกำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ สัก พยูง และยาง

ด้าน “พนม พงษ์สุวรรณ” เกษตรกรผู้ปลูกไม้สัก อ.ภูกระดึง จ.เลย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หากรัฐต้องการส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจให้เห็นผลเป็นรูปธรรมต้องแก้ไขระเบียบกฎหมายให้เอื้อต่อการดำเนินการ เนื่องจากปัจจุบันขั้นตอนการตรวจสอบไม้ค่อนข้างยุ่งยากซ้ำซ้อน อาทิ ต้องไปขึ้นทะเบียนไม้กับสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ให้ตรวจสอบการถือครองที่ดิน การแจ้งการตัดไม้ ทำบัญชีไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้เจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปลูกป่าเศรษฐกิจ ทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติตามมา เช่น บางจังหวัดโอนงานเกี่ยวกับป่าเศรษฐกิจไปให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรมป่าไม้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ฝ่ายปกครอง เป็นต้น
ดังนั้น หากรัฐต้องการสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างจริงจัง กฎระเบียบต่าง ๆ ต้องชัดเจน และไม่สร้างปัญหา ที่สำคัญต้องทำให้เห็นว่าการปลูกป่าเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้

ในส่วนของตนที่ผ่านมาปลูกไม้สักในเชิงเศรษฐกิจ 45 ไร่ เฉลี่ยแล้วมีรายได้ 4-5 หมื่นบาทต่อไร่ แต่หากดูแลรักษาดี ราคาขายอาจสูงเกิน 1 แสนบาทต่อไร่ เพียงแต่ต้องใช้เวลาถึง 20 ปีกว่าไม้สักจะโตพอตัดขายในระหว่างนั้นสามารถสร้างรายได้เสริมด้วยการปลูกพืชผักสวนครัว ไม้เลื้้อยในพื้นที่รอบๆ ต้นสัก สำหรับการขายไม้สักจะมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อตามสวนป่าของเกษตรกร ตลาดซื้อขายหลักอยู่ใน จ.ลำปาง และแพร่ ซึ่งหากเกษตรกรอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็จะทำให้ขายได้ในราคาที่ลดลงเพราะถูกหักค่าใช้จ่ายจากการขนส่ง


7 หมื่นไร่ปลูกไม้เศรษฐกิจนำร่อง

“รุ่งนภา วัฒนวิเชียร” ผู้จัดการสำนักงานการรับรองไม้เศรษกิจไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (TFCC) กล่าวว่าถ้ารัฐบาลปลดล็อกมาตรา 7 ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ซึ่งเข้มงวดในการควบคุมดูแลการทำไม้หายาก จะจูงใจให้ผู้ประกอบการทั้งเกษตรกรรายย่อย และภาคเอกชนหันมาปลูกไม้เศรษฐกิจตอบสนองยุทธศาสตร์ของกรมป่าไม้มากขึ้น

กล่าวได้ว่าขณะนี้การผลักดันปลูกไม้เศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีป่าเศรษฐกิจแปลงนำร่องทั่วประเทศกว่า 70,000 ไร่ แยกเป็นปลูกในพื้นที่ของการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) 60,000 ไร่ มากกว่า 70,000 ไร่ นอกนั้นเป็นป่าเศรษฐกิจในพื้นที่ของภาคเอกชน เช่น กลุ่มดั๊บเบิ้ลเอ, เอสซีจี และเกษตรกรรายย่อย เป็นต้น เป้าหมายของแปลงนำร่องคือไม้กลุ่มแรกต้องได้รับการรับรองภายในปี 2561 ภายใต้มาตรฐาน มอก.14061 หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมการจัดการสวนป่าไม้เศรษฐกิจยั่งยืน โดยไม้กลุ่มแรกประกอบด้วย ไม้ยางพารา ไม้ยูคาลิปตัส และไม้สัก

เอกชนเล็งทำไม้ยางหนุนชีวมวล

ขณะเดียวกัน จากที่ความต้องการไม้ในประเภทไม้อัดแท่งสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าชีวมวลจะมีเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการใช้ไม้ที่ปลูกในเชิงเศรษฐกิจมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอนาคต หากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการปลูกป่าเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ปรับกฎระเบียบให้เอื้อมากขึ้น จะดึงดูดให้เกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการเอกชนหันมาปลูกป่าเศรษฐกิจสร้างรายได้มากกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้ อย่างการทำไม้อัดแท่งเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าชีวมวล ที่ใช้ไม้โตเร็วอย่างไม้ยางในการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าชีวมวลมีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนมากขึ้น

หากยุทธศาสตร์ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจสัมฤทธิผล นอกจากจะตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่ป่าแล้ว ยังสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่งผลด้านบวกต่อเศรษฐกิจประเทศในภาพรวมควบคู่กันด้วย