ผู้ปลูกกาแฟชุมพร รับมือ FTA ผุดโรงงานแปรรูป – จด GI โรบัสต้า

“พาณิชย์” ติวเข้มผู้ปลูกกาแฟโรบัสต้า จ.ชุมพร รับมือ FTA ไทย-ออสเตรเลีย ลดภาษีกาแฟสำเร็จรูป 0% ปี”63 ด้านวิสาหกิจชุมชน กลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ ชงของบฯ สศก.ผุด รง.แปรรูปกาแฟสำเร็จรูป 35 ล้านบาท หนุนจด GI กาแฟโรบัสต้าชุมพร สร้างมูลค่าเพิ่ม

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 มี.ค. 2561 กรมพร้อมด้วยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มูลนิธิชาวสวนกาแฟ และสมาคมกาแฟไทย ลงพื้นที่ จ.ชุมพร พบเกษตรกรและผู้ประกอบการธุรกิจกาแฟ ที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เพื่อให้คำแนะนำถึงการใช้ประโยชน์จากความตกลงเปิดการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยทำกับประเทศต่าง ๆ ในสินค้ากาแฟและผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะการเปิดตลาดลดภาษีภายใต้ความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA) จะลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% ในปี 2563

 “การลงพื้นที่ปลูกกาแฟครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 จากก่อนหน้านี้ได้ลงพื้นที่ จ.เชียงราย พบกับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟอราบิก้า โดยในส่วนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลูกกาแฟที่สำคัญของไทยโดยมีสัดส่วนการปลูกถึง 75% ของพื้นที่ปลูกกาแฟทั้งหมดของไทย จังหวัดชุมพรเป็นจังหวัดที่ปลูกกาแฟมากที่สุดในประเทศไทย”

นางอรมนกล่าวว่า ในปัจจุบันผลผลิตเมล็ดกาแฟของไทยมี 26,000 ตันต่อปี ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศที่มีถึง 90,000 ตันต่อปี เพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน จึงต้องนำเข้าเมล็ดกาแฟ ปีละประมาณ 60,000 ตัน ดังนั้นเกษตรกรควรจะใช้ประโยชน์จากการเปิด FTA ในการแสวงหาวัตถุดิบราคาถูกเข้ามาใช้ในส่วนที่ไม่เพียงพอ พร้อมทั้งพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานกาแฟไทยให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคจะทำให้แข่งขันได้ แม้จะมีการเปิดเสรีเกิดขึ้น


นายนิคม ศิลปศร นายกองค์การบริหารส่วนตำบลถ้ำสิงห์ ในฐานะประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ เปิดเผยว่า ทางกลุ่มอยู่ระหว่างเสนอของบประมาณจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) วงเงิน 35 ล้านบาท นำมาจัดซื้อเครื่องอบลมร้อน (ฟรีซดราย) และตั้งโรงงานแปรรูปกาแฟสำเร็จบนพื้นที่ 3 ไร่ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์กาแฟสำเร็จรูปต่อยอด สร้างความเข้มแข็ง และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ที่เป็นสมาชิกอยู่ 460 ราย ในพื้นที่ จ.ชุมพร นอกจากนี้ยังมีเกษตรกรเครือข่ายในพื้นที่ จ.ยะลา พัทลุง และสุราษฎร์ธานีด้วย เพื่อยกระดับ

คุณภาพการเก็บรักษาเมล็ดกาแฟสำหรับนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นกาแฟสำเร็จรูป เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้สอดรับกับความต้องการของตลาดกาแฟสำเร็จรูปที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟใน จ.ชุมพร ได้มีการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจและสหกรณ์ 3 กลุ่ม คือ วิสาหกิจชุมชนเกษตรกรทำสวนเขาทะลุ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ และสหกรณ์ผู้ปลูกกาแฟ อ.ท่าแซะ โดยในกลุ่มเขาทะลุมีความเข้มแข็งมาก ได้มีการยื่นจดทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (จีไอ) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปแล้ว

ขณะที่ในส่วนของถ้ำสิงห์ต้องการขยายการจดจีไอคุ้มครอง “กาแฟโรบัสต้าชุมพร” ทั้งจังหวัด เพราะเป็นจังหวัดที่มีการปลูกกาแฟสายพันธุ์นี้มากที่สุด และมีดินที่มีลักษณะเฉพาะเหมาะกับการปลูกกาแฟพันธุ์นี้ ทั้งยังมีกระบวนการเฉพาะในการเก็บเมล็ด ตาก และอบ เพื่อจะช่วยรักษาคุณภาพความหอมของกาแฟ หากสามาถจดจีไอจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เกษตรกรทั้งจังหวัด

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ