เผยแพร่ |
---|
บูมเลี้ยงโคเนื้อ รุกส่งออก เผยตลาดจีน-เวียดนาม อนาคตสดใส คาดแต่ละปีเงินสะพัด 6-7 หมื่นล้าน กรมปศุสัตว์ โดดหนุนเต็มสูบ จัดสัมมนากระตุ้น ดัน “พัทลุง” ศูนย์กลางโคเนื้อพันธุ์พื้นเมือง สหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน เฟ้นคุณภาพป้อนตลาด สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย มุ่งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพิ่มมูลค่าโกยเงินนอก
นายกิตติ กุบแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันโคเนื้อเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ในประเทศ โดยมีโคเนื้อประมาณ 4.87 ล้านตัว เงินหมุนเวียนกว่า 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ตลาดในประเทศ มีความต้องการบริโภคสูงถึง 1.2 ล้านตัวต่อปี แต่ผลิตได้เฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัว ส่วนการส่งออกมีประมาณ 150,000 ตัว/ปี ตลาดหลักคือจีนและเวียดนาม โดยผ่านพ่อค้าคนกลางใน สปป.ลาว ขณะเดียวกันภาครัฐเตรียมผลักดันการส่งออกให้มีปริมาณที่เพิ่มขึ้น
เช่น เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ ได้จัดสัมมนา “การประชุมเครือข่ายโคเนื้อระดับชาติ เพื่อการผลิตเชิงคุณภาพ” เพื่อเชื่อมโยงผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโคเนื้อ ทั้งกลุ่มเกษตรกรณ์ วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ ที่เพาะเลี้ยงแม่พันธุ์ กลุ่มผู้เลี้ยง เพื่อร่วมมือ วิเคราะห์ วางแผนทางการตลาดร่วมกัน โดยมีภาคเอกชนเป็นผู้เจรจากับต่างประเทศ และมีภาครัฐเป็นผู้สนับสนุน
นายสุรชัย เปี่ยมคล้า ผู้จัดการสหกรณ์โคเนื้อกำแพงแสน จ.นครปฐม ในฐานะเลขาฯ สมาคมโคเนื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันจีนยังเป็นตลาดที่มีอนาคตมากสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อไทย แม้ที่ผ่านมายอดการส่งออกไปจีน รวมถึงเวียดนามอาจจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากปัญหาโรคปากเท้าเปื่อยและการใช้สารเร่งเนื้อแดง และการที่ภาครัฐ ควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมด้วยมาตรการต่างๆ จะช่วยให้การเลี้ยงมีคุณภาพมากขึ้น และสามารถส่งออกได้มากขึ้น
“สำหรับตลาดในประเทศ ปัจจุบันราคาโคเนื้ออยู่ที่ 80-90 บาท/กิโลกรัม จากก่อนหน้านี้อยู่ที่ประมาณ 100 บาท ประกอบกับกำลังซื้อภายในประเทศลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจ ขณะที่อีกด้านหนึ่ง ไทยยังมีการนำเข้าเนื้อโคจากออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอเมริกา และมีราคาถูกกว่า ทำให้คนหันไปบริโภคเนื้อนำเข้ามากกว่า”
นายสุพัฒน์ ธรรมเพชร ประธานกรรมการ สหกรณ์โคเนื้อศรีวิชัย จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า ที่ผ่านมา สหกรณ์ฯ ได้ทำสัญญากับตัวแทนจำหน่ายเพื่อส่งออกโคเนื้อไปยังประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จัดส่งไปได้ประมาณ 40 ตัวต่อสัปดาห์ และอีกส่วนหนึ่งเป็นการส่งออกเนื้อแปรรูป
ขณะเดียวกัน สหกรณ์ฯ ยังได้เริ่มดำเนินโครงการ ธนาคารโคกระบือ มา 2-3 เดือนแล้ว โดยตั้งเป้าว่า คาดว่าเมื่อสิ้นสุดโครงการจะมีแม่พันธุ์โคเนื้อประมาณ 150,000 ตัว จากปัจจุบันโคทั้งจังหวัด 60,000 ตัว และตั้งเป้าส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 15,000 ตัว/ปี ภายใน 5 ปี ตลาดเป้าหมาย คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนปีแรกนี้คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนเข้ามาประมาณ 50-60 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นอีก 50% ในปีที่ 2 คาด 5 ปี จะมีเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท
ด้านนายณรงค์ สุทธิสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดพัทลุง กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ ต้องการจะพัฒนาให้พัทลุงเป็นเมืองปศุสัตว์ เพื่อรวบรวมโคเนื้อของภาคใต้ แปรรูป และส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันนำโคจากภาคกลางส่งผ่านภาคใต้ไปยังประเทศมาเลเซียกว่า 200,000 ตัว/ปี ในอนาคตจะตั้งพัทลุงเป็นศูนย์กลาง เพื่อรวบรวมโคจากภาคใต้สำหรับส่งออก
“ปีนี้สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดพัทลุงทุ่มงบประมาณ 35 ล้านบาท เพื่อการปรับปรุงโรงเชือดและแปรรูป รวมถึงเพื่อการปรับปรุงพันธุ์โคแจกจ่ายโคพันธุ์ผสมศรีวิชัย-ชาร์โรเล่ส์ให้เกษตรกร ปีละ 4,000 ตัว ผ่านโครงการธนาคารโคกระบือ”
นายฤชัย วงศ์สุวัฒน์ อุปนายกสมาคมผู้บำรุงพันธุ์โคไทยพื้นเมือง (สคท.) และอดีตประธานกรรมการ สหกรณ์โคเนื้อพัทลุง ให้ข้อมูลว่า นอกจากนี้พัทลุงยังมีการแปรรูปโคเนื้อเป็นผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับโปรดักต์ โดยที่ราคาอาจเพิ่มขึ้นเป็น 400-500 บาท/กก. เพื่อเจาะตลาดพรีเมี่ยม เช่น ไส้กรอก ลูกชิ้น บีฟโลน ฯลฯ และมีการออกบู๊ธงานตามต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงโคเนื้อเพื่อให้ได้ขนาดกุรบาน หรือขนาดสำหรับทำพิธีกุรบานหลังช่วงเดือนรอมฎอน หรือการถือศีลอดของศาสนาอิสลาม ซึ่งจะทำให้โคมีราคาขึ้นไปถึง 27,000-35,000 บาท/ต่อตัว โดยตลาดในมาเลเซียมีความต้องการสูง
นายกชกร วัชราไทย ผู้จัดการลุงเชาวน์ ฟาร์ม เปิดเผยว่า ตลาดโคเนื้อมีชีวิตในประเทศจีนถือเป็นตลาดใหญ่ของเกษตรกรไทย ที่ผ่านมา การส่งออกไปจีน ส่วนใหญ่เป็นการส่งออกผ่านประเทศเมียนมา สปป. ส่งออกผ่านลาวไปยังเวียดนามและส่งเข้าไปจีน เนื่องจากที่ผ่านมา ไทย-จีน ยังไม่มีข้อกำหนดหรือข้อตกลงในการซื้อขาย รวมถึงการป้องกันโรคสัตว์ที่ชัดเจน
“การส่งออกโคเนื้อของเกษตรกรไทย ส่วนใหญ่เน้นขายถูกและไม่มีการควบคุมคุณภาพ ซึ่งช่วงหลังๆ มานี้ ทางการจีนค่อนข้างเข้มงวด โดยเฉพาะเรื่องสารเร่งเนื้อแดง ทำให้การส่งออกของไทยมีตัวเลขที่ลดลง”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ก็ได้เข้ามามีบทบาท และหาทางออกในเรื่องนี้ผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการโคบูรพา สนับสนุนการเลี้ยงตั้งแต่ต้นน้ำ เพื่อให้ได้โคที่มีคุณภาพ ไม่มีสารเร่งเนื้อแดง และเกษตรกรควรมีการรวมตัวกัน เพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ซึ่งก็จะทำให้การส่งออกสามารถดีขึ้นและมีราคาสูงขึ้น”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 12 – วันพุธที่ 14 มีนาคม 2561