เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่วัดมงคลชัยพัฒนา แนวทางสร้างชีวิตจากพ่อของแผ่นดิน

“…ทฤษฎีใหม่ เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่จะทำให้ประชาชนมีกินแบบอัตภาพ คืออาจจะไม่ร่ำรวยมาก แต่ก็พอกิน ไม่อดอยาก…”     

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานไว้ เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2547 พระองค์ทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของพสกนิกรของพระองค์ ที่ต้องประสบปัญหาอย่างมากมายในอาชีพเกษตรกรรม อันเป็นอาชีพหลักของราษฎร

พระองค์จึงพระราชทานแนวทางทฤษฎีใหม่ ที่จะทำให้ประชาชนพออยู่พอกินตามอัตภาพ รวมทั้งในฤดูแล้งมีน้ำน้อย สามารถนำน้ำในสระมาใช้สำหรับปลูกพืชฤดูแล้ง แต่หากปีไหนที่ฝนตกตามฤดูกาล ทฤษฎีใหม่สามารถสร้างรายได้ให้ได้ และในกรณีเกิดอุทกภัย ก็สามารถฟื้นตัวและช่วยตัวเองได้ในระดับหนึ่ง

ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการเกษตรรูปแบบใหม่ พื้นที่ขนาดเล็ก ครอบครัวละ 10-15 ไร่ และแบ่งสัดส่วนการดำเนินงานอย่างชัดเจน โดยแบ่งพื้นที่เป็น 30-30-30-10 อันส่งผลทำให้เกิดการจัดงานได้ง่ายและสามารถทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น โดยมีรายได้จากพืชต่างๆ ที่ปลูกหมุนเวียนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งคืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดการใช้สารเคมีต่างๆ ด้วย

แปลงสาธิตการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ที่วัดมงคลชัยพัฒนา ถือเป็นแปลงแห่งแรกที่พระองค์ได้มีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นมา นับตั้งแต่ปี 2536 โดยปัจจุบันมีมูลนิธิชัยพัฒนาและศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรี สังกัดกรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานรับผิดชอบดูแลบนพื้นที่ทั้งหมด 32 ไร่ ของโครงการได้จัดแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ

พื้นที่ ส่วนที่ 1 จำนวน 16.5 ไร่ ดำเนินการทดสอบและพัฒนาระบบการปลูกพืชแบบผสมผสาน การปลูกไม้ผลยกร่อง การปลูกผักพันธุ์ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ สวนไม้ตระกูลมะ สวนสมุนไพร สวนพันธุ์ไม้หอมเฉลิมพระเกียรติ ฯลฯ

ในส่วนพื้นที่ แปลงที่ 2 จำนวน 15.5 ไร่ เป็นแปลงสาธิตทฤษฎีใหม่ ซึ่งแบ่งการใช้งานตามอัตราส่วนทฤษฎีใหม่ 30-30-30-10 ที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

สำหรับการทำเกษตรทฤษฎีใหม่นั้น วิธีการดำเนินงาน ให้แบ่งพื้นที่ออกเป็น 4 ส่วน อย่างเหมาะสมของพื้นที

ในส่วนที่ 1 พื้นที่ประมาณ ร้อยละ 30 ให้ขุดสระกักเก็บน้ำ สำหรับการขุดสระน้ำนั้นมีข้อแนะนำว่า ควรดำเนินการตรวจสอบก่อนว่า พื้นที่ในบริเวณนั้นมีความเหมาะสมต่อการขุดสระหรือไม่ ซึ่งวิธีการไม่ยุ่งยาก โดยให้ขุดหลุม ประมาณ 2-5 หลุม นำดินมาทดสอบด้วยวิธีง่ายๆ คือการนำดินมา 1 กำมือ พรมน้ำให้เปียก เพื่อให้แน่ใจว่าดินนั้นชื้น ขยำดินหลายๆ ครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าดินไม่ติดมือ แล้วคลึงดินให้เป็นเส้นเล็กๆ ความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร และดัดงอให้เป็นวงกลมในฝ่ามือ ถ้าดินนั้นสามารถคงรูปในมือได้โดยไม่แตกออกจากกัน ดินนั้นก็คือ ดินที่ดีเหมาะสมที่จะสามารถขุดสระน้ำนั้นได้ ตำแหน่งของสระกักเก็บน้ำก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน คือจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มีความเหมาะสม และสามารถรองรับน้ำฝนได้ดี เพื่อที่จะนำน้ำไปใช้ได้สะดวกยิ่งขึ้น

ในส่วนที่ 2 พื้นที่ประมาณ ร้อยละ 30 ใช้ปลูกข้าว เพื่อบริโภคในครอบครัวให้เพียงพอตลอดทั้งปีและหากเหลือก็จำหน่าย ข้าวที่นิยมปลูกรับประทานกันในครัวเรือนคือ ข้าวดอกมะลิ 105 ข้าวคลองหลวง 1 ข้าวชัยนาท 1 สุพรรณบุรี 1 สุพรรณบุรี 2 แก่นจันทร์ ลูกแดงปัตตานี ฯลฯ หลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วควรที่จะปลูกพืชไร่ พืชผักต่างๆ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ทานตะวัน งา ข้าวโพดไร่ ข้าวโพดหวาน ข้าวโพดเทียน แตงโม แตงกวา ฟักทอง มะระ บวบ หอม กระเทียม พริก มะเขือ โดยจะนำน้ำมาสนับสนุนการปลูกพืชดังกล่าวในฤดูแล้ง

ในส่วนที่ 3 อีกประมาณ ร้อยละ 30 ปลูกพืชไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก และพืชสมุนไพร เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน และถ้าเหลือจากการบริโภคแล้วก็นำไปจำหน่าย ควรเลือกปลูกให้เหมาะกับสภาพของดิน สภาพแวดล้อม และความต้องการของตลาดในท้องถิ่น พืชที่ควรปลูก ได้แก่ พืชไร่ ก็จะเป็นถั่วเหลือง ถั่วเขียว ข้าวโพด มันสำปะหลังและอ้อย เป็นต้น ไม้ผล เช่น กล้วย ขนุน ละมุด ฝรั่ง ชมพู่ ส้ม ส้มโอ น้อยหน่า กระท้อน มะม่วง มะละกอ มะขาม และมะขามเทศ ส่วนผัก ก็จะเป็นพวกผักกวางตุ้ง ผักกาดหัว ผักบุ้ง คะน้า พริก ขมิ้น กะเพรา โหระพา แมงลัก สะระแหน่ ขิง ข่า ตะไคร้ มันเทศ มะเขือเปราะ บวบ กระเจี๊ยบเขียว ถั่วพู ถั่วฝักยาว ถั่วลันเตา มะระจีน มะเขือเทศ และเผือก พืชสมุนไพรและเครื่องเทศนั้น ก็ได้แก่ กานพลู พลู ดีปลี หมาก มะกรูด พริกไทย บัวบก และว่านหางจระเข้

 ในส่วนที่ 4 พื้นที่ประมาณ ร้อยละ 10 เป็นที่อยู่อาศัย ถนนคันคูดิน โรงเรือน โรงสัตว์เลี้ยง เช่น เลี้ยงไก่พื้นเมือง เลี้ยงเป็ดเทศ และปลูกผักสวนครัวที่ปลอดภัยจากสารพิษเพื่อบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายในการลดค่าใช้จ่าย และเสริมรายได้ในครัวเรือนอีกทางหนึ่ง