มหากาพย์แก้ยางตกต่ำ รัฐดันมาตรการ “หยุดกรีด” ดันราคา

หลังปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) มาเป็น “ประยุทธ์ 5” เมื่อต้นเดือน ธ.ค. 2560 รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับราคาสินค้าเกษตรเป็นพิเศษ โดยเฉพาะยางพารา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ลั่นวาจาต้องแก้ปัญหาราคาตกต่ำให้เห็นเป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน

เมื่อนายกฤษฎา บุญราช เข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เสนอ 6 มาตรการแก้ปัญหาราคายางตกต่ำต่อคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และ ครม. ก่อนส่งท้ายปีเก่า 2560 ได้แก่ 1) มาตรการการให้สินเชื่อผู้ประกอบกิจการยางแห้งวงเงิน 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะซื้อยางได้ประมาณ 3.5 แสนตัน รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 3% ต่อปี 2) มาตรการส่งเสริมการใช้ยางของหน่วยงานภาครัฐเป้าหมาย 2 แสนตันต่อปี 3) มาตรการควบคุมผลผลิต โดยมีเป้าหมายลดผลผลิตจากเกษตรกรเร่งโค่นยางไปปลูกพืชอื่นในช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ จะได้รับเงินเร็วเพิ่มขึ้นอีกรายละ 4,000 บาท เป้าหมาย 2 แสนไร่ และให้หน่วยงานรัฐที่มีสวนยางหยุดกรีดยางประมาณ 1 แสนไร่

4) มาตรการสนับสนุนสินเชื่อสถาบันเกษตรกรแปรรูปยาง วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยรัฐชดเชยดอกเบี้ย สถาบันเกษตรกรจ่ายดอกเบี้ยจริงเพียง 0.01% ต่อปี 5) มาตรการชดเชยดอกเบี้ย 3% ต่อปี ให้สินเชื่อสถาบันเกษตรกรรวบรวมยางวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 6) มาตรการชดเชยดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบกิจการผลิตภัณฑ์ยางวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ใช้ในการขยายกำลังการผลิต/ปรับเปลี่ยนเครื่องจักร

ยังไม่รวมความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย จับมือกันลดการส่งออกยางในไตรมาสแรกปีนี้ รวม 3.5 แสนตัน โดยไทยลดส่งออก 2 แสนตันเศษ อินโดนีเซีย 9.5 หมื่นตัน และมาเลเซีย 2 หมื่นตัน ทั้งนี้มาตรการทั้ง 6 และการลดการส่งออกมีเป้าหมายในการผลักดันราคายางขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 60 บาท

อย่างไรก็ตาม ราคายางแผ่นดิบและยางแผ่นรมควันชั้น 3 ที่ประมูลผ่านตลาดกลางในเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 ราคาส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง กก.ละ 43-47 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้บริหารในรัฐบาลชุดนี้วิตกว่า หากมีการเปิดกรีดยางฤดูใหม่ในเดือน พ.ค.ศกนี้เป็นต้นไป ยางที่จะออกสู่ตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลให้ราคาทรุดตัวลงมาได้ อาจได้เห็นยางแผ่นดิบ ยางแผ่นรมควันชั้น 3 ราคาตกต่ำหนักสุดท้ายเหลือเพียง กก.ละ 33 บาท เหมือนในช่วงเดือน ก.พ. 2559 กลับมาอีกก็ได้ ซึ่งจะไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลที่จะมีการจัดการเลือกตั้งภายในต้นปี 2562

ดังนั้น จึงเหลือไม่กี่ทางเลือกที่จะดันราคายางให้สูงกว่าต้นทุนการผลิต กก.ละ 64.90 บาท คือ ชาวสวนยางต้องขายยางให้ถึง กก.ละ 80 บาท พอเหลือกำไรให้จับจ่ายใช้สอยในครัวเรือน หนีไม่พ้นการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง เพื่อลดซัพพลายผลผลิตส่วนที่เกินความต้องการทั่วโลกประมาณปีละ 3-4 แสนตันออกไป และลำพังไทยหยุดกรีดเพียงประเทศเดียว การดันราคายางขึ้นสู่ กก.ละ 80 บาท อาจจะไม่ได้ผลหรือต้องใช้เวลานานรวมทั้งใช้งบประมาณมากเกินไป เพราะการให้ชาวสวนยางหยุดกรีดยาง ก็ต้องมีการจ่ายชดเชยรายได้

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ได้วางแผนหยุดกรีดไว้ 2 แนวทาง คือ หยุดกรีด 3 เดือน จำนวน 3 ล้านไร่ จะจ่ายชดเชยให้ชาวสวนรายละ 4,500 บาท ไม่เกินรายละ 10 ไร่ หรือแนวทางหนึ่งคือหยุดกรีดยางทั้งปี ซึ่งใน 1 เดือนจะกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีด 15 วัน แต่ทั้ง 2 แนวทางยังไม่ยุติ ต้องนำไปพิจารณาโดยละเอียดอีกรอบ

ขณะที่การหารือระหว่างไทยกับทูตตัวแทนประเทศผู้ผลิต ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2561 มีอินโดนีเซียเท่านั้นที่ให้ความสนใจในมาตรการนี้เป็นพิเศษ เพราะมีพื้นที่ให้ผลผลิตยางเป็นอันดับสองรองจากไทยประมาณ 4 ล้านตัน และเกษตรกรชาวสวนยางมีอาชีพเสริมไว้รองรับราคายางตกต่ำ ขณะที่ไทยมีผลผลิตยางปีละ 4.5-4.6 ล้านตัน ส่วนเวียดนามและมาเลเซียมีผลผลิตยางใกล้เคียงกันประมาณปีละ 1 ล้านตันบวกลบ เมื่อหักการใช้ในประเทศเหลือส่งออกไม่มาก โดยเฉพาะมาเลเซียที่นำเข้าน้ำยางสดจากไทยปีละหลายแสนตันไปผลิตถุงมือยาง

หาก 4 ประเทศร่วมมือกันหยุดกรีดยางได้จริง จะลดซัพพลายยางที่ล้นตลาดได้มาก การดันราคายางขึ้นสู่เป้าหมาย กก.ละ 80 บาทย่อมทำได้ แต่ถ้าความร่วมมือทั้ง 4 ประเทศล้มเหลว ไทยทำเพียงประเทศเดียว เป้าหมายราคา กก.ละ 80 บาทอาจล้มเหลว มหากาพย์การแก้ปัญหาราคายางตกต่ำอาจยืดเยื้อต่อไปอีกนาน หลังจากที่ราคายางตกต่ำต่อเนื่องจาก กก.ละ 180 บาท มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2554 ซึ่งกินเวลายาวนานมากว่า 7 ปี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 – วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561