EU แบน “ปาล์มน้ำมัน” “นาจิบ” เครียดก่อนเลือกตั้ง

“น้ำมันปาล์ม” กำลังกลายเป็นตัวจุดชนวนให้เกิดสงครามการค้าระหว่างมาเลเซียและสหภาพยุโรป (อียู) หลังอียูมีมติเรียกร้องห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าวิกฤตดังกล่าวเป็นความท้าทายใหญ่สำหรับชัยชนะในการเลือกตั้งของ “นาจิบ ราซัค” นายกรัฐมนตรีแห่งดินแดนเสือเหลือง ที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้

แม้กระแสการต่อต้านการใช้น้ำมันปาล์มในอียูเคยเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2015 โดยสภาที่ปรึกษาด้านสุขภาพของเบลเยียมซึ่งเป็นองค์กรให้คำปรึกษาด้านสาธารณสุขแก่รัฐบาลเบลเยียม ได้ออกรายงานว่า น้ำมันปาล์มมีกรดไขมันอิ่มตัว (saturated fat) ซึ่งก่อให้เกิดโรคหัวใจ ส่งผลให้ 2 ประเทศในสมาชิกอียู “ฝรั่งเศส และเบลเยียม” ติดฉลาก “no palm oil” บนสินค้าหลายประเภท อย่างสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ไอศกรีม เนย ขนมเค้ก สบู่ สิ่งทอ และเครื่องสำอาง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม กระแสต่อต้านจางหายไป กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้รัฐสภายุโรปได้ออกข้อมติครั้งใหม่ให้ยกเลิกการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuels) จากน้ำมันพืชที่ส่งผลให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า เพราะการปลูกน้ำมันปาล์มในเชิงอุตสาหกรรมส่งผลให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าอย่างกว้างขวาง โดยรัฐสภายุโรปอ้างข้อมูลวิจัยหลายสถาบันที่ระบุว่า หากจะสามารถตอบสนองความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในอียูได้ ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกกว่า 1 ล้านเฮกตาร์ หรือราว 6 ล้านไร่ ซึ่งเท่ากับพื้นที่ของประเทศไซปรัสทั้งประเทศ

ข้อเรียกร้องห้ามนำเข้าใหม่จะครอบคลุมพืชหลายชนิด อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวโพด ต้นเรพซีด และปาล์มน้ำมัน ภายในปี 2020 พร้อมเสนอเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการเพาะปลูกปาล์มจากประเทศที่นำเข้า โดยใช้ “มาตรฐาน CSPO” (certified sustainable palm oil) เพื่อรับรองการผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับเพียงมาตรฐานเดียว ทั้งเสนอกำหนดพิกัดศุลกากรใหม่สำหรับน้ำมันปาล์มที่ได้รับรองมาตรฐาน CSPO และปรับกลไกทางภาษีสำหรับสินค้าที่มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มโดยเฉพาะ

อียูถือว่าเป็นกลุ่มประเทศที่นำเข้าน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลจาก Statista ระบุว่า อียูมีการนำเข้าน้ำมันปาล์มเฉลี่ยปีละ 6.3 ล้านตัน ในจำนวนนี้ 46% เป็นน้ำมันปาล์มสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพ และ 45% นำไปใช้เป็นส่วนประกอบอาหาร รวมทั้งอาหารสัตว์ และอุตสาหกรรมเคมี อีก 9% สำหรับการผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน

หลายประเทศในอียู อย่าง เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวีเดน เดนมาร์ก นอร์เวย์ อิตาลี หรือแม้แต่อังกฤษ ได้ประกาศชัดเจนว่าจะนำเข้าเฉพาะน้ำมันปาล์มที่ได้มาตรฐาน CSPO เท่านั้น

โดยก่อนจะมีมติจากรัฐสภายุโรป “อิตาลี” เป็นประเทศแรกๆ ในอียูที่ระงับการผลิตและจำหน่ายสินค้าที่มีส่วนผสมน้ำมันปาล์ม เช่น “Coop” เครือข่ายร้านซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ของอิตาลี ประกาศเลิกผลิตสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มภายใต้แบรนด์ของตัวเอง รวมถึงผู้ผลิตอาหารของอิตาลีอีกหลายรายที่ประกาศแบนการใช้น้ำมันปาล์ม ประเทศที่ได้รับผลกระทบหลักๆ ก็คือ “อินโดนีเซียและมาเลเซีย” ที่ผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันเกือบ 90% ของน้ำมันปาล์มจากทั่วโลก โดย นายมุสตาปา โมฮัมเหม็ด รัฐมนตรีการค้าต่างประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า “การตัดสินใจของอียูครั้งนี้สร้างความน่าผิดหวังต่อประเทศคู่ค้าน้ำมันปาล์ม ท่ามกลางภาวะสวนกระแสการค้าเสรีในหลายประเทศ อย่างสหรัฐอเมริกาที่เปิดฉากสงครามการค้ากรณีเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม ดังนั้นอียูควรจะเป็นผู้นำในการสนับสนุนวิถีการค้าเสรีและไม่เลือกปฏิบัติ”

ขณะที่ นายหม่า ซิ่วเฉียง รัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมการเพาะปลูกและสินค้าโภคภัณฑ์ของมาเลเซีย กล่าวว่า มาเลเซียจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมปาล์มของประเทศ และการกีดกันการค้าของสภายุโรปจะส่งผลกระทบต่อการสร้างงานในยุโรป รวมถึงการขยายข้อตกลงการค้าทวิภาคีกับมาเลเซีย และผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์อื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

พร้อมกันนี้ “ฮิชามมุดดิน ฮุสเซน” รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย ตอบโต้ว่า การระงับนำเข้าน้ำมันปาล์มของอียูอาจส่งผลต่อข้อตกลงการสั่งซื้อเครื่องบินรบราฟาเอล 18 ลำ มูลค่ากว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ จากบริษัทดัสโซลต์ เอวิเอชั่น ของฝรั่งเศส อีกทั้งทางการมาเลเซียอาจตอบโต้ด้วยการลดการนำเข้าสินค้าจากอียูด้วยเช่นกัน

นักวิเคราะห์จากสถาบันระหว่างประเทศในสิงคโปร์ มองว่า แม้ว่าอินโดนีเซียจะเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลก และมาเลเซียเป็นอันดับสอง แต่ปัจจุบันตลาดส่งออกใหญ่ของอินโดนีเซียคือ อินเดีย ขณะที่ตลาดส่งออกน้ำมันปาล์มใหญ่ของมาเลเซียคือ อียู ดังนั้นมติดังกล่าวของรัฐสภายุโรปจึงสร้างความเสียหายต่อมาเลเซียมากกว่า ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ต่อปี

และสถานการณ์น้ำมันปาล์มที่ไม่สู้ดีนัก ยังสร้างความท้าทายให้กับนายกฯนาจิบ ราซัค ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อสร้างผลงานชิ้นโบแดงในการกุมชัยชนะอีกครั้ง เพราะกลุ่มเกษตรชาวมาเลเซียกว่า 650,000 คน ถือเป็นฐานคะแนนเสียงสำคัญของนายนาจิบ

อย่างไรก็ตาม การเยือนประเทศจีนของผู้นำมาเลเซียครั้งล่าสุด เป็นการส่งสัญญาณว่ามาเลเซียประสงค์จะส่งออกน้ำมันปาล์มให้กับจีนมากขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงจากตลาดส่งออกหลักอย่างอียู โดยรัฐบาลมีแผนระงับการเก็บภาษีส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 7 เม.ย.นี้ เพื่อลดจำนวนสต๊อกในประเทศ และกระตุ้นราคาน้ำมันปาล์มให้เพิ่มสูงขึ้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 – วันอาทิตย์ที่ 18 มีนาคม 2561