เผยแพร่ |
---|
สงขลา วิตกลิงเขาตังกวน-เขาน้อย พาหะ ‘พิษสุนัขบ้า’ มีชุกชุมร่วม 6 พันตัว จับตัวฉีดป้องกันยาก
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดแถลงข่าวสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าและมาตรการควบคุมโรคว่า ตามโครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า อันเนื่องจากพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า จุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ที่ทรงห่วงใยปัญหาโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งนับเป็นปัญหาสำคัญของชาติ และมีพระประสงค์ให้โรคพิษสุนัขบ้าหมดไปจากประเทศไทยในปี 2563
นายเลิศวิโรจน์ กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปีนี้ ไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา จากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในปี 2559 จำนวน 13 ราย ในปี 2560 จำนวน 11 ราย และในปีนี้จนถึงปัจจุบันมีจำนวน 4 ราย และคาดว่ามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการสร้างการรับรู้และความเข้าใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้ามากขึ้น รวมทั้งกระทรวงเกษตรฯ บังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ 2558 อย่างจริงจัง
นายสัตวแพทย์อภัย สุทธิสังข์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า กรมปศุสัตว์ได้ประกาศเขตโรคระบาดพิษสุนัขบ้าไปแล้ว ได้แก่ พื้นที่สีแดงซึ่งโรคพิษสุนัขบ้ากำลังระบาด จำนวน 22 จังหวัด ประกอบด้วย ภาคเหนือ 3 จังหวัด เชียงราย ตาก และน่าน ภาคกลางและตะวันออก 9 จังหวัด กทม. นนทบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์ ภาคอีสาน 8 จังหวัด นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ส่วนภาคใต้ 2 จังหวัด ตรังและสงขลา
“ตั้งแต่เดือนมกราคม-12 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ประกาศพื้นที่เขตระบาดโรคพิษสุนัขบ้าชั่วคราว 37 จังหวัด ขณะนี้คงเหลือประกาศ 26 จังหวัด บางจังหวัดมีเพียง 1 จุด และบางจังหวัดมี 2-3 จุด โดยใน 1 จุด มีรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเริ่มทยอยส่งมอบเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะส่งได้ครบและทำการฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวได้ครบ 80% ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้” นายสัตวแพทย์อภัย กล่าว
นายสัตวแพทย์อภัย กล่าวว่า สำหรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ได้แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและควบคุมโรคระดับจังหวัดและอำเภอ ขณะที่แผนการฉีดวัคซีน อยู่ระหว่างองค์กรในส่วนท้องถิ่นสำรวจสุนัขและแมวว่ามีจำนวนทั้งหมดเท่าใด ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา หรือประมาณ 10.3 ล้านตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัขและแมวจรจัด 10% มั่นใจว่ามีวัคซีนป้องกันโรคเพียงพอ ควบคุมการระบาดครั้งนี้
นายสัตวแพทย์อภัย กล่าวว่า ขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดซื้อวัคซีน และอยู่ระหว่างส่งมอบวัคซีนรวมแล้วกว่า 50% ไม่ได้ล่าช้า คาดว่าในช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมนี้จะสามารถฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวได้ 5-6 แสนตัว และจะครบตามเป้าหมาย 1 ล้านตัว ภายในเดือนกันยายนปีนี้
ศ.นพ. ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวถึงกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ เริ่มทยอยจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับฉีดในสุนัขและแมว ว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะจะทำให้การนำสุนัขไปฉีดวัคซีนไม่เป็นเรื่องยุ่งยากอีกต่อไป เพราะคนในชุมชนมีความคุ้นเคยกับสัตว์ ทั้งสัตว์ที่มีเจ้าของและสัตว์จรจัด สำหรับคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า เชื่อว่ามีตัวเลขมากกว่าข้อมูลที่รับทราบ เช่น ปี 2560 คาดว่าจะมีถึง 17 ราย ไม่ใช่ 11 ราย เพราะไม่มีการรายงานตัวเลขคนไข้ที่ถูกสุนัขกัดบริเวณตะเข็บชายแดน ซึ่งต้องรวมในส่วนนี้ด้วย
ด้านสถานการณ์การระบาดในพื้นที่ภูมิภาค ที่ศาลากลางจังหวัดตรัง นายศิริพัฒ พัฒกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง นายวสันต์ ถนอมทรัพย์ นายชัชวาล ฉายะบุตร รองผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมแถลงพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นชายอายุ 44 ปี ชาวตำบลอ่าวตง อำเภอ วังวิเศษ จังหวัดตรัง
นพ. บรรเจิด สุขพิพัฒปานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการนำหัวสุนัข ส่งตรวจพบผลบวก 13 หัว ใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง อำเภอห้วยยอด อำเภอปะเหลียน อำเภอ วังวิเศษ และ อำเภอนาโยง จึงเตือนประชาชนให้เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า
นายไพโรจน์ อินทรศรี ปศุสัตว์จังหวัดตรังกล่าวว่า ขณะนี้ปศุสัตว์ได้นำวัคซีนลงไปฉีดให้กับสัตว์เลี้ยง ครอบคลุมรัศมี 1 กิโลเมตร ส่วนรัศมี 5 กิโลเมตร ได้ประสานท้องถิ่นจัดหาวัคซีนดำเนินการฉีดวัคซีน ซึ่งจากการส่งตัวอย่างสุนัขไปตรวจทั้งหมด 62 ตัวอย่าง พบ 13 ตัวอย่าง ที่ป่วยเป็นโรคพิษสุนัขบ้า
จังหวัดสงขลา นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า สัตว์ที่เป็นตัวนำโรคพิษสุนัขบ้าที่สำคัญ คือ สุนัข แมว กระรอก กระแต กระต่าย ชะนี หนู ลิง ปศุสัตว์ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกรณรงค์ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ที่พบบ่อยคือ สุนัข แมว ลิง กระต่าย ให้ได้มากที่สุด ส่วนสุนัขจรจัดและลิงบนเขาตังกวน-เขาน้อย ซึ่งมีอยู่นับพันตัว ยังเป็นปัญหาในการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า เพราะไม่สามารถเข้าใกล้เพื่อจับตัวมาฉีดวัคซีนได้
ด้าน นายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายก ทน.สงขลา กล่าวว่า ลิงเป็นตัวนำโรคพิษสุนัขบ้าสำคัญอีกตัวหนึ่ง โดยเฉพาะลิงบนเขาตังกวนและเขาน้อยในเขตเทศบาล มีประมาณ 5,000-6,000 ตัว ซึ่งฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าได้น้อยมากเพราะจับตัวได้ยาก เทศบาลจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวหลีกเลี่ยงอย่าให้ลิงกัดหรือข่วน
ที่วัดทุ่งโตนด ในพื้นที่หมู่ที่ 1 ตำบลนาหม่อม อำเภอนาหม่อม จังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ นาหม่อมร่วมกับฝ่ายการสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนตำบลนาหม่อม ลงพื้นที่เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมว โดยพบว่ามีประชาชนทยอยนำสัตว์เลี้ยงมารับวัคซีน ในรายที่ไม่สามารถจับสุนัขมาฉีดวัคซีนได้ ก็มีการขอรับวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้กับสุนัขด้วยตัวเอง ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้มีการขึ้นทะเบียนประชาชนที่มีสัตว์เลี้ยงเอาไว้ในครอบครอง พร้อมกันนั้นยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการเล่นกับสัตว์เลี้ยง หากถูกกัดหรือข่วน ต้องรีบพบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าโดยเร็วที่สุด
นายสัตวแพทย์กิติกรณ์ เจนไพบูลย์ ปศุสัตว์จังหวัดสงขลา กล่าวว่า สำหรับสถิติการฉีดวัคซีนในปีนี้นั้นได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์เลี้ยงไปแล้ว 16,779 ตัว ในจำนวนนี้เป็นสุนัข ร้อยละ 60 และแมว ร้อยละ 40 และยังมีวัคซีนอีกจำนวน 72,000 โดส ซึ่งจะเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ทั้งหมดภายในเดือนเมษายนนี้
นายบุญญกฤช ปิ่นประสงค์ ปศุสัตว์จังหวัดตราด เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในประเทศไทยในขณะนี้ มีการประกาศพื้นที่เสี่ยงโรคพิษสุนัขบ้าไปแล้วเกือบ 20 จังหวัดนั้น สำหรับจังหวัดตราดสถานการณ์ไม่น่าวิตกกังวล เนื่องจากจังหวัดตราดไม่พบเชื้อพิษสุนัขบ้าตั้งแต่ปี 2553 ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดตราดได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขในพื้นที่ต่างๆ ในช่วงเวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมที่ผ่านมา มีจำนวน 29,000 ตัว จากจำนวนสุนัขและแมว 43,000 ตัว คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าได้ทั้งหมดใน 2-3 เดือนนี้ หลังจากทางองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่นได้ดำเนินการจัดงบประมาณมาดำเนินการในเรื่องนี้
นายบุญญกฤช กล่าวต่อว่า สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดตราด เช่น เกาะช้าง เกาะกูด เกาะหมาก ทางสำนักงานปศุสัตว์มีเป้าหมายในการที่จะควบคุมให้ในพื้นที่ปลอดโรคพิษสุนัขบ้า ในปี 2562 นี้ อย่างไรก็ตาม ทางปศุสัตว์จังหวัดตราด จำเป็นต้องมีมาตรการในการควบคุมการเคลื่อนย้ายจากพื้นที่อื่นที่เป็นพื้นที่เสี่ยง เช่น การนำสุนัขและแมวมาจากจังหวัดจันทบุรี หรือจังหวัดอื่นๆ เข้ามา จะต้องมีการแจ้งเพื่อตรวจสอบถึงสุนัขและแมวเหล่านี้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ซึ่งทางปศุสัตว์จังหวัดตราดให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดตราดประกาศเป็นพื้นที่เฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าในทุกพื้นที่เพื่อใช้มาตรการนี้ในการควบคุม คาดว่าสามารถจะประกาศได้ภายในเดือนมีนาคมนี้
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน