เผยแพร่ |
---|
วันน้ำโลกปีนี้จัดใต้แนวคิด “วิถีน้ำ วิถีธรรมชาติ” เน้นจัดการน้ำในทุกด้านแบบยั่งยืน สำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดน้ำ ปีนี้เสี่ยงสูง คือ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ สายด่วน Green Call 1310 กด 5 ติดตามสถานการณ์น้ำได้ 24 ชั่วโมง
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงว่า ปี 2561 สหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อการจัดการวันน้ำโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 22 มีนาคม ว่า “Nature-based Solutions for Water” และเพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อของสหประชาชาติปีนี้ ประเทศไทยจึงมีการจัดงานสัปดาห์อนุรักษ์ทรัพยากรน้ำแห่งชาติและวันน้ำโลกขึ้น ภายใต้แนวคิด “วิถีน้ำ วิถีธรรมชาติ” โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญเรื่องการจัดการน้ำในทุกด้านอย่างยั่งยืน ด้วยวิถีทางธรรมชาติ ตามแนวทางศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ภายในงานจะมีเวทีปาฐกถา และเสวนา เรื่องการจัดการน้ำจากผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้มีประสบการณ์ และนักวิชาการด้านการจัดการน้ำ นอกจากเวทีเสวนาแล้ว กรมทรัพยากรน้ำได้นำสินค้าจากกลุ่มเกษตรกรภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำของ ทส. ร่วมจำหน่ายในราคาย่อมเยา
นายวรศาสน์ กล่าวว่า ทส.ได้ดำเนินการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกระทรวงมหาดไทยจะรับผิดชอบโครงการที่มีขนาดความจุต่ำกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) จำนวน 3,013 แห่ง ทส.รับผิดชอบในโครงการที่มีขนาดความจุที่เกินกว่า 2 ล้าน ลบ.ม. จำนวน 469 แห่ง ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบกระจายน้ำดังกล่าว จำนวน 3,482 โครงการ จะเป็นแหล่งน้ำที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้และครอบคลุมการใช้ทั้ง 3 ฤดู
“สำหรับการเตรียมการรับภัยแล้ง ปีนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้ประเมินความต้องการใช้น้ำของประชาชนในพื้นที่นอกเขตชลประทานระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2561 คาดว่ามีความต้องการใช้น้ำประมาณ 3,994 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนในพื้นที่นอกเขตชลประทานมีอยู่ประมาณ 3,681 ล้าน ลบ.ม. ขณะเดียวกัน กรมทรัพยากรน้ำร่วมกับกรมชลประทานได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งระดับอำเภอทั้งในพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่ในเขตชลประทาน พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งใน 23 จังหวัด 74 อำเภอ โดยส่วนมากมีความเสี่ยงในระดับปานกลาง ยกเว้นอำเภอเดียวที่มีความเสี่ยงสูง คือ อำเภอ ท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ และเพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน กรมทรัพยากรน้ำได้ จัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องจักร และเครื่องมือต่างๆ ประจำในพื้นที่พร้อมช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ประกอบด้วย รถยนต์บรรทุกน้ำ จำนวน 106 คัน เครื่องสูบน้ำ จำนวน 304 เครื่อง รถแจกจ่ายน้ำ จำนวน 22 คัน ตู้ผลิตน้ำดื่ม จำนวน 6 เครื่อง และเครื่องผลิตน้ำประปา จำนวน 6 เครื่อง นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อให้มีน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยระหว่างปี พ.ศ. 2557-2560 มีแหล่งน้ำที่ใช้ในการบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จำนวน 3,658 โครงการ ซึ่งสามารถจัดหาน้ำเพิ่มเติมได้ 1,003 ล้าน ลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์ 2.69 ล้านครัวเรือน และสนับสนุนพื้นที่การเกษตรได้ 652,373 ไร่ นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำได้บูรณาการข้อมูลกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และได้เตรียมความพร้อมของจุดจ่าย น้ำบาดาลถาวร จำนวน 89 แห่ง ทั่วประเทศ นอกเขตชลประทาน จำนวน 52 แห่ง และอยู่ในเขต ชลประทาน จำนวน 37 แห่ง ขอรับความช่วยเหลือได้ทางสายด่วน Green Call 1310 กด 5 และสามารถติดตามสถานการณ์น้ำได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทาง www.dwr.go.th
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน