เผยแพร่ |
---|
ธุรกิจเกษตรมึนตึ้บ พิษบาทแข็งทำส่งออกแย่ ทำต้นทุนแพงกว่าคู่แข่ง หวั่นกระทบรายได้เกษตรฐานราก ไก่ส่งออกต้องขอเพิ่มราคาไปญี่ปุ่น ส่วนจีน หันไปซื้อข้าวหอมจากกัมพูชา-เวียดนาม แถมผู้ส่งออกต้องลดราคาซื้อข้าวจากชาวนา วอนรัฐแก้ปัญหา
นายชนินทร์ ชลิศราพงศ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรม ทูน่าไทย เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 31 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ นั้น จะกระทบต่อสินค้าเกษตรและอาหารของไทย ที่ยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก รายได้ที่รับมาจะไม่สามารถกระจายได้ถึงตัวเกษตรกร เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการกระตุ้นให้เติบโตมากขึ้น
สิ่งที่ผู้ส่งออกอยากเห็นในขณะนี้คือ ค่าบาทที่มีเสถียรภาพ ไม่ใช่ขึ้นๆ ลงๆ เพื่อที่จะสามารถวางแผนธุรกิจได้อย่าง เหมาะสม การปรับค่าเงินบาทในลักษณะผันผวนนี้ ทำให้ ไม่สามารถวางแผนระยะยาวได้เลย แต่การแข่งขันด้านส่งออกของผู้ประกอบการมีความสามารถอยู่แล้ว
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อ ส่งออกไทย กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา เชื่อว่าผู้ประกอบการได้ประกันความเสี่ยงเอาไว้แล้ว การส่งออกไก่ ขณะนี้อยู่ที่ 31 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นกว่า 10-11% เทียบกับปีที่ผ่านมา ค่าเงิน 33-34 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ
เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว ไทยจะเจรจากับผู้นำเข้าไก่ เพื่อขอปรับราคาขึ้นเพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป อย่างน้อย 10-11% แต่ก็เป็นเรื่องยาก เพราะตลาดหลักของไทยคือญี่ปุ่นปัจจุบันเงินเยนก็แข็งค่าขึ้นเช่นกัน ปัจจุบัน ขายเฉลี่ยตันละ 2,500-2,600 ดอลลาร์ ปีก่อนเฉลี่ย 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ร.ต.ท. เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทำให้ไทยขายข้าวได้ลำบาก เนื่องจากค่าเงินของคู่แข่งไม่ได้แข็งค่าด้วย โดยในขณะนี้ไทยต้องขายข้าว เฉลี่ยตันละ 440 ดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ขายที่ตันละ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่เพื่อนบ้านที่เป็นคู่แข่งยังขายที่ 400 ดอลลาร์สหรัฐ ยิ่งเงินบาทแข็งข้าวไทยจะแพงขึ้น สุดท้ายผู้ส่งออกกลับไปซื้อข้าวจากเกษตรกร ในราคาที่ต่ำลง จากกิโลกรัมละ 12 บาท เหลือ 10.80 บาท เพื่อให้ แข่งขันในตลาดได้
“การส่งออกของไทยลำบากขึ้น ทั้งในส่วนของค่าเงินบาท และยังมีปัญหาจีนเทสต๊อกข้าวเก่า และจีนที่เป็นตลาดข้าวหอม ของไทย ปัจจุบันสั่งซื้อจากกัมพูชา และเวียดนาม มากขึ้นเท่าตัว เพราะราคาต่ำเพียงตันละ 700-900 บาทเท่านั้น ส่วนข้าวไทยราคาสูงถึง ตันละ 1,100 บาท”
นายหลักชัย กิตติพล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันราคายางพาราในประเทศตกต่ำอยู่แล้ว และกว่า 90 % พึ่งพาการส่งออก เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น มูลค่าการส่งออกยางจะลดลง ส่งผลให้เกษตรกรได้รับลดลงด้วย เงินบาทแข็งค่าแตะ 31 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 5-6 ปีที่ผ่านมา
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากข่าวสด