กลิ่นปากจากอาหาร

การดํารงชีวิตประจําวันที่จําเป็นต้องมีการพบปะสนทนากับบุคคลรอบข้าง ทำให้เราต้องคำนึงถึงความสำคัญของภาวะกลิ่นปากเหม็น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาทางด้านบุคลิกภาพและสูญเสียความมั่นใจในการเข้าสังคม

ภาวะกลิ่นปากเหม็น เกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งภายในช่องปากและภายนอกช่องปาก ซึ่งอาจเกิดจากโรคของระบบทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ โรคในช่องปาก หรือภาวะเครียด กังวล การอดอาหารและน้ำที่ส่งผลให้เกิดภาวะนํ้าลายแห้งและมีกลิ่นปากตามมา อย่างไรก็ตาม ภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคนที่มีสภาพร่างกายปกติ ไม่มีโรคภัยใดๆ หากผู้นั้นสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และรับประทานอาหารที่ก่อกลิ่น

การที่คนไทยนิยมบริโภคอาหารที่ก่อให้เกิดกลิ่น เช่น ต้นหอม กระเทียม หรือรับประทานผลไม้ที่มีกลิ่น เช่น ทุเรียน ทําให้ผู้บริโภคอาหารเหล่านี้เกิดภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวได้ ซึ่งผู้บริโภคเองอาจจะรู้สึกได้ว่าเกิดภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวขึ้นหลังจากรับประทานอาหารบางชนิดและระยะเวลาหนึ่งกลิ่นนั้นจะหายไป ได้มีการศึกษาความรุนแรงและระยะเวลาของภาวะกลิ่นปากเหม็นชั่วคราวจากอาหารที่ก่อกลิ่นจำนวน 3 ชนิด ที่คนไทยนิยมรับประทาน ได้แก่ กระเทียม ต้นหอม และทุเรียน โดยวัดด้วยเครื่อง     “ฮาลิมิเตอร์” ซึ่งเป็นเครื่องที่ตรวจวัดปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ซึ่งประกอบด้วยสาร  หลายชนิด เช่น ไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือก๊าซไข่เน่า ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นปากเหม็นนั่นเอง

การศึกษานี้ วัดปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ด้วยเครื่องฮาลิมิเตอร์ เป็นตัวแทนระดับความรุนแรงของกลิ่นปาก โดยให้กลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพช่องปากดี ไม่มีภาวะกลิ่นปากเหม็น เคี้ยวกระเทียม ต้นหอม และทุเรียน เป็นเวลา 1 นาที แล้วกลืน วัดปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ก่อน         รับประทาน และที่ 0, 15, 30 และ 45 นาที หลังรับประทาน เมื่อเปรียบเทียบปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้ก่อนและหลังการเคี้ยวอาหาร กระเทียมเพิ่มปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหย   ได้มากที่สุด รองลงมา คือ ต้นหอม และทุเรียน เพิ่มปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้น้อยที่สุด และปริมาณกลับสู่ภาวะปกติภายใน 15 นาที ต้นหอมใช้เวลาระหว่าง 30-45 นาที ปริมาณสารประกอบซัลเฟอร์ที่ระเหยได้จึงจะกลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่กระเทียมใช้เวลามากกว่า 45 นาที

เมื่อเราทราบถึงธรรมชาติความรุนแรงและระยะเวลาการคงอยู่ของกลิ่นจากอาหารที่ก่อกลิ่น เช่น กระเทียม ต้นหอม และทุเรียน จากการศึกษานี้ ทำให้เราสามารถเลือกรับประทานชนิดอาหาร และวางแผนการทำกิจกรรมหลังรับประทานอาหารได้อย่างมั่นใจมากขึ้น

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจาก รศ.ทพญ. สุคนธา เจริญวิทย์