จามจุรียักษ์ เมืองกาญจน์ ทรงพุ่มพื้นที่กว่า 1 ไร่ คนไปเที่ยวชมไม่ขาด

จามจุรีมีหลายชื่อ ภาคกลางเรียกก้ามกราม กรุงเทพฯและอุตรดิตถ์เรียกก้ามกุ้ง ตราดเรียกตุ๊ดตู่ ภาคเหนือเรียกลัง สำสา และสารสา  กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกเส่คุ

จัดเป็นพืชในวงศ์ถั่ว เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ มีกิ่งก้านสาขามาก ใบมีขนาดเล็ก ดอกสีชมพู มีผลเป็นฝัก เมล็ดแข็ง ผลมีเนื้อสีชมพู รสหวานสัตว์เคี้ยวเอื้องชอบกินเป็นอาหาร

จามจุรี เป็นพืชพื้นเมืองของเม็กซิโก บราซิล และเปรู

จามจุรี เป็นไม้ประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพันธุ์ไม้พระราชทานเพื่อปลูกเป็นมงคลจังหวัดลำพูน

หลังปลูกจามจุรีในสถานที่ราชการและริมถนนแล้ว เมล็ดของจามจุรี ได้แพร่กระจายไปตามที่รกร้างว่างเปล่า เนื่องจากเป็นต้นไม้ที่มีทรงพุ่มขนาดใหญ่ จามจุรีจึงคลุมไม้อื่น นานเข้าใต้ร่มเงาจึงโล่งเตียน ดูเด่นและแตกต่างจากไม้อื่นอย่างชัดเจน

มีการใช้ประโยชน์จากจามจุรีมานานแล้ว

ฮ่องกง ซื้อเนื้อไม้จามจุรีจากฟิลิปปินส์ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม้ของฟิลิปปินส์ถูกสะเก็ดระเบิดคุณภาพไม่ดี ฮ่องกงได้หันมาซื้อไม้ของไทยแทน แต่ระยะหลังๆ ไทยมีความต้องการใช้ไม้จามจุรีมากขึ้น

ในพื้นที่ภาคเหนือ มีสล่าแกะสลักหรือช่างแกะสลัก กระจายอยู่หลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน แต่ที่แกะสลักเป็นล่ำเป็นสันคือสล่าบ้านถวาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ที่นิยมนำมาแกะสลักและหาง่ายในยุคแรกคือไม้สัก

เดิมไม้สักหาซื้อได้ในราคาย่อมเยา เป็นไม้ใหม่ที่ตัดจากป่า ต่อมาไม้ป่าหายากขึ้น จึงหันมาใช้ไม้เก่า อาจจะเป็นเสาบ้าน จนระยะหลังไม้สักมีราคาแพง สล่าได้หันมาใช้ไม้จามจุรีแทน ซึ่งก็ทำได้สวยงาม ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนกลาง คอยหาซื้อไม้จามจุรี ตัดเป็นท่อนๆ ส่งป้อนให้กับสล่าบ้านถวายกัน

ถึงแม้ประชากรของจามจุรีจะมีมาก แต่เพราะปริมาณการใช้งาน ประกอบกับเจ้าของจามจุรีเริ่มอนุรักษ์ ไม่อยากขาย ทำให้ทุกวันนี้ ไม้จามจุรี ไม่ใช่ของหาง่ายเสียแล้ว

มีอีกอาชีพหนึ่ง ที่ได้พึ่งพาจามจุรี นั่นก็คืออาชีพเลี้ยงครั่ง

แต่เดิม ชาวบ้าน อาจจะนำครั่งไปปล่อยตามต้นจามจุรี ที่ขึ้นอยู่ตามที่สาธารณะ แต่ทุกวันนี้ ต้นจามจุรีขนาดใหญ่ๆ ถูกแอบตัดฟัน ชาวบ้านที่ต้องการเลี้ยงครั่ง จึงต้องปลูกต้นจามจุรีขึ้นมาใหม่

 

คนไปเที่ยวชมไม่ขาด
คนไปเที่ยวชมไม่ขาด

เนื่องจากจามจุรีมีพุ่มใบกว้างใหญ่ พื้นที่ 1 ไร่ จึงปลูกจามจุรีได้เพียง 12 ต้นเท่านั้น

เมื่อต้นจามจุรีอายุได้ 3 ปี จึงเอารังแม่ครั่งไปแขวน ช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้เพราะอากาศเย็นสบาย ถ้าเป็นช่วงอื่น อย่างเดือนเมษายน หากอากาศร้อนอุณหภูมิสูงกว่า 35 องศาเซลเซียสครั่งอาจตายได้

เมื่อแขวนรังครั่งไว้ที่ต้นได้ 1 เดือน ตัวแม่ครั่งจะเดินไปตามกิ่งจามจุรี เกาะกินน้ำเลี้ยงสร้างรังใหม่ ถึงเวลานี้ สามารถนำรังแม่ที่แขวนไว้ลงมาและนำไปขายได้

เวลาผ่านไป 1 ปี เจ้าของจึงเก็บครั่งได้ หากเป็นจามจุรีต้นใหญ่ จะเก็บครั่งได้ 300-400 กิโลกรัมต่อต้น ราคาที่ขายได้ กิโลกรัมละ 120-150 บาท

อาชีพการเลี้ยงครั่ง ยังพอมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ถึงไม่มากก็ตามที

การใช้ประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือนำใบจามจุรีมาทำปุ๋ย ทั้งนี้เนื่องจากจามจุรีเป็นพืชตระกูลถั่ว จึงให้ธาตุไนโตรเจนสูง

เดิมการใช้ใบจามจุรีมาทำปุ๋ย มาทำเป็นวัสดุปลูก ยังไม่ชัดเจนนัก จนกระทั่งเมื่อ 20 ปีเศษที่ผ่านมา วงการไม้ดอกไม้ประดับ ให้ความนิยมในการปลูกโป๊ยเซียน

มีผู้นำใบจามจุรีหรือก้ามปู มาผสมดินปลูก ปรากฏว่า ต้นโป๊ยเซียนเจริญเติบโตดี ให้ดอกสีสวยสด จึงมีผู้นิยมใช้ใบจามจุรีกันมาก ถึงขั้นขาดตลาด จนต้องไปขูดเอาดินใต้ต้นมาขายกัน

แหล่งที่มีคนหาใบจามจุรีมาขายกันมาก เป็นสถานที่ราชการ โดยเฉพาะค่ายทหารที่จังหวัดลพบุรี ในพื้นที่ขนาดใหญ่ มีต้นจามจุรีขึ้นอยู่จำนวนมาก ใบที่ทับถมกันมานานปี เดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร

แรกๆการนำใบจามจุรีออกมาจำหน่ายสะดวกง่ายดาย แต่หลังๆเริ่มมีราคา

จึงมีเกษตรกรบางราย ปลูกจามจุรีจำหน่ายใบโดยตรง

มีคนไปเที่ยวชมจึงเกิดตลาดสินค้าเกษตรขึ้น
มีคนไปเที่ยวชมจึงเกิดตลาดสินค้าเกษตรขึ้น

กองการสัตว์และเกษตรกรรม เป็นหน่วยงานของกรมการสัตว์ทหารบก มีที่ตั้งกระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆ เช่นนครราชสีมา กาญจนบุรี นครสวรรค์ กาญจนบุรี เป็นต้น

กองการสัตว์และเกษตรกรรรมที่ 1 กรมการสัตว์ทหารบก ตั้งอยู่ตำบลเกาะสำโรง อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันมีพันเอกวินัย พุกศรีสุข เป็นหัวหน้ากอง

สถานที่แห่งนี้ มีพื้นที่จำนวนมาก บางครั้งจึงถูกเอกชนบุกรุก

งานเด่นที่เห็นอยู่ คือการเลี้ยงม้า ส่วนพืชที่ปลูกมีการรวบรวมพันธุ์กล้วยมากกว่า 100 สายพันธุ์

จากตัวเมืองกาญจนบุรี ไปตามเส้นทางอำเภอด่านมะขามเตี้ย   เลยประตูกองการสัตว์และเกษตรกรรรมที่ 1  ราวกิโลเมตรเศษๆ ตรงนั้นขายผักผลไม้กันมาก มีสามแยก เลี้ยวซ้ายไปสักพัก จะมีอีกหนึ่งสามแยก เลี้ยวขวาไปอีกพอประมาณ จะพบต้นจามจุรียักษ์ ซึ่งมีทรงพุ่มขนาดใหญ่ ถือว่าเป็นพญาจามจุรีได้อย่างสบาย

ต้นจามจุรีที่ขึ้นอยู่ในพื้นที่ของกองการสัตว์และเกษตรกรรมที่ 1 มีอายุกว่า 100 ปี ขนาด 10 คนโอบ

จากการสำรวจโดย รศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า จามจุรีต้นนี้ มีรัศมีทรงพุ่มเฉลี่ย 25.87 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางร่มเงาประมาณ 51.74 เมตร เส้นรอบวงของร่มเงา 162.80 เมตร เส้นรอบวงของลำต้น(วัดเหนือดิน 1.20 เมตร) 7.83 เมตร ความสูงจากพื้นดินถึงยอด 20 เมตร มีพื้นที่ของร่มเงา 2,101 ตารางเมตรหรือกว่า 1 ไร่ 1 งาน