สะท้อนภาพ 25 ปี “GMS” 6 ประเทศแม่น้ำโขง “ต้องเชื่อใจกันมากขึ้น”

ปี 2018 ถือเป็นการครบรอบ 25 ปี ของ “แผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ” (Greater Mekong Subregional-GMS) คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) จึงได้จัดสัมมนาถึงความก้าวหน้าและทิศทางอนาคต หลังจากช่วงที่ผ่านมา ในอนุภูมิภาคดังกล่าว ได้ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์เพื่อดันการเติบโตมหาศาล

GMS เป็นแผนงานความร่วมมือ ระหว่าง 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีน (มณฑลยูนนาน) โดยในปี 2017 มีประชากรรวมราว 66.19 ล้านคน และเพิ่มขึ้น 0.5% ในทุกปี และจากการสำรวจในปี 2015 มีผู้ที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 7.2%

โดย ADB ถือเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนการพัฒนาหลักในอนุภูมิภาคนี้กว่า 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ จาก 15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

“ฮิเดอะกิ อิวาซากิ” ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย ประจำประเทศไทยกล่าวว่า ADB มีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการพัฒนา ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนทางการเงิน และเป็นกระบอกเสียงในการพัฒนา ซึ่ง ADB มองว่า อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ยังมีโอกาสในการพัฒนาอีกมากในอนาคต

สิ่งที่ขาดหายใน GMS

“อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีประจำแผนงาน GMS กล่าวถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นตลอด 25 ปี ของแผนงานว่า ความสำเร็จ เกิดขึ้นภายใต้ 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความเชื่อมโยง”, “ความสามารถในการแข่งขัน” และ “ความเป็นชุมชน”

โดยตลอด 25 ปี ที่ผ่านมา การรวมกลุ่มภายใต้ GMS ก่อให้เกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน 10,000 กิโลเมตร ทางรถไฟ 500 กิโลเมตร และ 1 แสนครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ รวมทั้งบรรลุเป้าหมายการค้า 4.44 ล้านเหรียญสหรัฐ การลงทุน 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้จากนักท่องเที่ยว 60 ล้านคน จำนวน 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล รองเลขาธิการ สศช. ระบุว่า แผนงาน GMS ในวันนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การรวมตัวกันเป็นอนุภูมิภาค เพิ่มอำนาจในการต่อรองต่อชาติอื่นมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยไม่โดดเดี่ยว หรือเป็นใครก็ไม่รู้ ในสายตาเวทีโลก จึงสรุปได้ว่าการมีกรอบความร่วมมือที่ดี นำมาซึ่งการออกดอกออกผลที่ดี อย่างไรก็ตามสิ่งที่ยังขาดหายไปในปัจจุบัน คือ “การติดตามผล” ในระยะยาวซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเร่งทบทวน

Advertisement

เอกชนชี้ปมความล่าช้า

ด้านความคิดเห็นในมุมมองเอกชน “ปณิธาน ปวโรฬารวิทยา” รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และคณะกรรมการ GMS-BD (Thailand) กล่าวว่า GMS เป็นกรอบความร่วมมือที่ช่วยสร้างซัพพลายเชนให้กว้างขึ้น เอกชนจึงได้ประโยชน์จากส่วนตรงนี้มาก

Advertisement

อย่างไรก็ตาม GMS ผ่านมา 25 ปี ถ้าถือว่าเป็นคน ก็คือแก่แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาคาราคาซังบางอย่าง ที่ทำให้ตามโลกไม่ทัน เช่น โลกปัจจุบันทั้งใบเป็นดิจิทัลแล้ว แต่ในอนุภูมิภาคยังมีข้อพิพาท เปิดด่านชายแดนประเทศไม่สำเร็จอยู่เนืองๆ

“ผมมองว่า ในส่วนของ hard infrastructure เช่น ถนนภายใต้กรอบความร่วมมือนี้เกิดขึ้นเร็วมาก แต่ด้าน soft infrastructure เช่นจะทำยังไงให้ถนนเปิดวิ่งได้ การอนุมัติอะไรหลายอย่างไม่เดินหน้า หรือเดินหน้าช้ามาก พูดตรงๆ ปัญหาส่วนหนึ่งคือ เรายังไม่เชื่อใจกันมากพอ ระหว่างแต่ละประเทศ ยังระแวงกันมากเกินไป และนี่นำมาสู่อุปสรรคและความขัดแย้ง”

นอกจากนี้ ปณิธานยังแนะเพิ่มว่า GMS ควรเลิกคุยเรื่องโครงสร้างพื้นฐานแบบเก่า และต้องริเริ่มแกนกลางของเทคโนโลยีที่จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คน ปัจจุบันเทคโนโลยีเข้ามาสั่นคลอนทุกสถาบัน ยกตัวอย่างกรณี “บิตคอยน์” คริปโตเคอเรนซี่เขย่าโลก ที่ถูกพัฒนาล้ำหน้าโดยนักลงทุน และรัฐต้องไล่ตามกำกับ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องรับมือการเข้ามาของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกให้ทัน โดยเฉพาะการรับมือด้วยกลไกจากภาครัฐ

กูรูแนะเชื่อมโยงวัฒนธรรม

“ศ.ดร. สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์” ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะว่าการพัฒนาในอนาคต หากต้องการให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น แต่ละประเทศควรใส่ใจเรื่องการเชื่อมโยงด้านวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมากขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านี้ ก่อนที่พื้นที่บริเวณดังกล่าวจะเป็นรัฐชาติ การเดินทางไปมาหาสู่กันยังเป็นอิสระ แต่ละพื้นที่แม้จะมีวัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่ก็มีการแลกเปลี่ยนถ่ายเทหากัน จึงมองว่า การเชื่อมโยงในส่วนนี้น่าจะช่วยให้มีความสนิทสนมกันมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรจับตาดูจีน ที่อยู่เหนือขึ้นไปทางเมียนมา และลาว เพราะปัจจุบันการเคลื่อนย้ายทรัพยากรมนุษย์เปลี่ยนไป ชาวจีนเข้ามายังประเทศไทย และพื้นที่ GMS มากขึ้น เนื่องจากช่องทางต่างๆ เปิดมากขึ้น และปัจจุบันชาวจีนถือว่ามีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าคนในกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งถือเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงในเวลาเดียวกัน

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ