พนักงานแท่นก๊าซธรรมชาติ ปิ๊งเพาะเห็ดถังเช่า ด้วยเทคโนโลยี 4.0

วันที่ 21 มีนาคม ที่จังหวัดอุทัยธานี เริ่มมีประชาชนหันมาพลิกชีวิตจากพนักงานโรงงาน กลุ่มลูกจ้างแรงงาน กลับมาใช้ชีวิตตามหลักความเป็นอยู่ตามพื้นถิ่นของตัวเอง โดยเฉพาะการมาเป็นเกษตรกร ที่ปัจจุบันนี้กลุ่มเยาวชนและประชาชนเริ่มมีการสนใจในเรื่องของการประกอบอาชีพเกษตรกรรมตามความชอบของตนเอง จนสามารถเป็นธุรกิจส่วนตัวขนาดเล็กที่สามารถเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ ไปจนถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่สามารถใช้เป็นอาชีพหลักสร้างรายได้ให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี โดยที่ไม่ต้องไปทำงานไกลบ้าน

โดย นายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี ลงพื้นที่บ้านของ นายธิติ เอี่ยมฉวี อายุ 31 ปี บ้านเลขที่ 123/3 ถ.รักการดี ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี หลังทราบว่ามีเกษตรกรรุ่นใหม่ สนใจทำการเกษตรเพาะเห็ดถังเช่า จนสามารถขายหารายได้เสริมจากงานประจำ โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี 4.0 มาช่วยในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถช่วยประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ ให้เป็นอย่างดี

นายธิติ เอี่ยมฉวี เจ้าของฟาร์มเห็ด สุดยอดฟาร์ม เล่าว่า ปัจจุบัน ตนได้ประกอบอาชีพเป็นพนักงานฝ่ายผลิตแท่นก๊าซธรรมชาติ และเกิดความคิดอยากหารายได้เสริม จึงหาข้อมูลเกี่ยวกับการเพาะเห็ด เนื่องจากใช้พื้นที่น้อย โดยครั้งแรกได้เริ่มศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเห็ดนางฟ้า แต่พบว่า เห็ดนางฟ้านั้นต้องดูแลอย่างจริงจัง ต้องมีเวลา ทั้งเช้าและเย็น แต่ด้วยตนเองนั้นมีงานประจำอยู่แล้ว จึงทำให้ตนเองนั้นไม่มีเวลาดูแลเห็ดนางฟ้าได้เพียงพอ จึงได้ทดลองเปลี่ยนเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่ง ที่ชื่อว่า เห็ดถังเช่า ที่หลังจากศึกษาข้อมูลของเห็ดชนิดนี้แล้ว พบว่า เพาะเห็ดแค่ครั้งเดียว และดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เพียง 75 วัน ก็สามารถเก็บผลผลิตได้ และด้วยราคาตามท้องตลาดค่อนข้างสูง เนื่องจากมีคนทำน้อยและกำลังเป็นที่นิยมของคนรักสุขภาพ ตนจึงมองเห็นว่าน่าจะเป็นช่องทางเสริมรายได้ ให้เป็นอย่างดี

โดยเริ่มจากเพาะเชื้อเห็ดในตู้เย็นเล็กๆ ลองผิด ลองถูก มาเรื่อยๆ จนตอนนี้สามารถขยายเป็นห้อง ขนาด 4 × 4.5 เมตร และได้ประยุกต์เทคโนโลยีสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต โดยส่วนใหญ่ได้ออกแบบและติดตั้งเอง ทั้งระบบระบายอากาศ ฟอกอากาศ แสงสว่าง ความชื้น ความเย็น และกล้องวงจรปิด ซึ่งทั้งหมดได้ควบคุมผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว สามารถควบคุมและสังเกตความเปลี่ยนแปลงของเห็ดถังเช่าได้ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต แม้ทำงานอยู่กลางทะเลก็สามารถควบคุมอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกอย่างได้

ปัจจุบัน ได้เพาะเห็ดประมาณเดือนละ 300 ขวด ซึ่งหลังจากอบแห้งแล้ว จะได้ประมาณ 1 กิโลกรัม และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชื่อว่า TOP ซึ่งได้รับการรับรองผ่านมาตรฐาน อย. โดยหลังจากแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว จะส่งขายตามท้องตลาดทั้งขายหน้าร้านและขายออนไลน์ สามารถสร้างรายได้กว่า 40,000 บาท ต่อครั้งการผลิต หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วจะเหลือเฉลี่ยประมาณ 10,000- 20,000 บาทต่อเดือน ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างรายได้เสริมอีกทางหนึ่งให้กับตนได้เป็นอย่างดี

ด้าน นายนุภาษ สันตยานนท์ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดอุทัยธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ผลักดันให้เกษตรดังกล่าว ใช้วัตถุดิบในการผลิตที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ข้าว หนอนไหม เป็นอาหารเสริมในกระบวนการเพาะเห็ด และจะเขื่อมโยงเข้าสู่ระบบ Packing ตามมาตรฐาน GMP ที่มีอยู่ในจังหวัด ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในด้านการแปรรูปได้ เนื่องจากปัจจุบันต้องส่งไปบรรจุภัณฑ์ที่โรงงานในกรุงเทพมหานคร ซึ่งไกลจากจังหวัดอุทัยธานี จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง อีกทั้งยังส่งเสริมหาช่องทางการตลาด ในกิจกรรมการออกบู๊ธในงานต่างๆของจังหวัด ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นด้วย

ที่มา : มติชนออนไลน์