“กำนันบันเทิง” ล้มเหลวจากมะม่วง หันทดลองปลูกแก้วมังกร ดูแลง่าย ทนแล้ง จนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง ผลิตและแปรรูป แก้วมังกร แห่งเดียวของแพร่

ข้อมูลเบื้องต้นของแก้วมังกร จากการค้นคว้าพบว่าถูกจัดอยู่ในวงศ์ Cactaceae เป็นพืชตระกูลเดียวกับต้นกระบองเพชรหรือตะบองเพชรก็เรียก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Hyloceveusundatus (Haw) Britt. Rose ในภาษาอังกฤษเรียกชื่อแก้วมังกรว่า Dragon fruit มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกากลาง เข้ามาในประเทศเวียดนามและแพร่หลายในประเทศไทย ความมหัศจรรย์ของ  เจ้าแก้วมังกร ก็คือ ไม่มีใบ แต่มีดอกออกผล

ปัจจุบันคนไทยก็นิยมบริโภคแก้วมังกรเพื่อสุขภาพ อันเนื่องจากความหลากหลายของคุณประโยชน์ ในเนื้อผลแก้วมังกรมีสารชนิดหนึ่งชื่อ มิวซิเอจ (Muciage) เป็นสารที่ช่วยดูดซับน้ำตาลกลูโคส ช่วยลด     คอเลสเตอรอล ควบคุมน้ำตาลในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ต้องการลดน้ำหนัก และยังมีสรรพคุณอีกมากมาย เช่น ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจ ป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น เพียงขอให้บริโภคแต่พอดีก็แล้วกัน

แก้วมังกรปลูกไม่ยาก ปลูกไม่ถึงปีก็ได้ผลผลิต ใช้พื้นที่ก็น้อย ดูแลง่าย ขยายพันธุ์ง่าย ปลูกเพื่อขายมี   รายได้ดี ต้นทุนต่ำ ลงทุนเพียงครั้งเดียว เก็บผลผลิตได้นาน 15-20 ปี ถ้าดูแลจัดการดี

ผู้เขียนจึงเชิญชวนท่านปลูกแก้วมังกรไว้เพื่อบริโภคหรือปลูกเพื่อการค้าก็ศึกษาได้ในเนื้อหาคอลัมน์นี้ เพียงขอให้ควบคุมคุณภาพปลอดสารเพื่อเห็นแก่ผู้บริโภคเป็นสำคัญ

ที่จังหวัดแพร่ มีการปลูกแก้วมังกรกันอย่างแพร่หลายในอำเภอเมืองแพร่ หนองม่วงไข่ เด่นชัย วังชิ้น และอำเภอลอง ปีๆ หนึ่งมีผลผลิตออกมามาก นำเงินตราเข้ามาในจังหวัดก็มาก

คุณสมควร ชายะกุล และคณะ กำลังตรวจแปลง

ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ เป็นแหล่งผลิตผลไม้ที่ชื่อ แก้วมังกร มากที่สุดในจังหวัดแพร่ กว่า 800 ไร่ เกษตรกรผู้ปลูกกว่า 100 คน อยู่ในโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่  ส่งเสริมให้สวนแก้วมังกรของเกษตรกรบ้านถิ่นเข้าสู่ระบบอินทรีย์ โดยพิจารณาถึงศักยภาพในการรวมกลุ่มกันของเกษตรกรบ้านถิ่นที่ปลูกแก้วมังกร ซึ่งเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย โรคและแมลงไม่ค่อยจะรบกวน มีจำนวนผลผลิตมาก และมีขีดความสามารถในการเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยการแปรรูปอบแห้งแก้วมังกร จึงได้เข้าไปดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรอินทรีย์ มาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559  ”

ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่นส่วนใหญ่ได้รับมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) แล้ว และพร้อมที่จะเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) ต่อไป

Advertisement

คุณสมควร ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ได้ดำเนินการอบรมให้ความรู้ไปแล้วหลายเรื่อง ได้แก่ ความรู้ด้านกายภาพของแก้วมังกร โรคและแมลง การเข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ การผลิตสารชีวภัณฑ์ (ไตรโคเดอร์มา บิวเวอเรีย สมุนไพร และฮอร์โมนไข่) สนับสนุนวัสดุการผลิตสารชีวภัณฑ์และสารกับดักแมลง

ผู้เขียนไปดูสวนแก้วมังกรและการแปรรูปที่บ้านถิ่น ซึ่งเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ได้แจ้งนัดหมายไว้ให้ล่วงหน้าแล้ว คือสวนแก้วมังกรของ กำนันบันเทิง ถิ่นฐาน ซึ่งเป็นแปลงต้นแบบแก้วมังกร

Advertisement
กำนันบันเทิง และ คุณวลัยพร ถิ่นฐาน

ผู้เขียนได้พบ กำนันบันเทิง และ คุณวลัยพร ถิ่นฐาน ภริยา อยู่บ้านเลขที่ 56/1 หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านถิ่น อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ (081) 951-0680

 ปลูกพืชอื่นมาก่อนมีปัญหา จึงมาปลูกแก้วมังกร

กำนันบันเทิง กล่าวว่า “แต่ก่อนเคยปลูกมะม่วงมาก่อน แต่เนื่องจากมะม่วงมีปัญหาด้านโรคและแมลง ต้องลงทุนห่อผล ใช้เวลาและแรงงานก็มาก จึงมาทดลองปลูกแก้วมังกร เพราะมีแรงจูงใจ คือ ดูแลง่าย ทนแล้ง ใช้น้ำน้อย ไม่ค่อยมีโรคและแมลงมารบกวน ผลผลิตดูแลง่ายไม่ต้องห่อ”

เริ่มทดลองปลูกเมื่อปี 2547 จำนวน 200 ต้น นำกิ่งพันธุ์มาจากบ้านห้วยม้า อำเภอเมืองแพร่ หลังปรับสภาพดินแล้วขุดหลุม นำเสาปูนขนาด 4 นิ้ว สูง 2 เมตร ลงต้นแก้วมังกร 1 ต้น ต่อ 1 เสาปูน เท่านั้น ปลูกระยะห่าง 2×3 เมตร ด้านบนนำเหล็กเส้นมาเสียบบนปลายเสาและใช้ยางนอกรถจักรยานยนต์วางไว้ มัดติดกับเสาเหล็ก เป็นอันเสร็จสิ้น เพียงแต่รอวันที่แก้วมังกรจะเจริญเติบโต

ปัจจุบันได้ขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรไปแล้ว 14 ไร่ จำนวน 3,000 ต้น

 

การจัดการสวนเหตุผลที่ขยายพื้นที่มากขึ้น

“จากการศึกษาพบว่าพื้นที่ปลูกแก้วมังกรเป็นดินลูกรัง เนื้อดินโปร่ง น้ำไม่ขัง มีธาตุเหล็กอยู่ เหมาะต่อการเจริญเติบโตของแก้วมังกรเป็นอย่างดี” กำนันบันเทิง กล่าว

ส่วนสายพันธุ์ของแก้วมังกรที่สวนของกำนันบันเทิง นั้น ท่านบอกว่า มีอยู่ 2 สายพันธุ์ คือ แก้วมังกรเนื้อสีแดง เป็นพันธุ์แดงสยาม กลีบเลี้ยงบนผลจะถี่ เป็นพันธุ์ของเวียดนาม และพันธุ์กลีบบัว กลีบเลี้ยงจะห่างเป็นพันธุ์จากไต้หวัน ต่างกันที่กลีบเลี้ยงบนผล กับอีกสายพันธุ์เป็นเนื้อสีขาว จากเวียดนาม แต่ที่สวนแห่งนี้จะปลูกแก้วมังกรเนื้อสีแดงเป็นส่วนใหญ่

เมื่อถามถึงการดูแลแก้วมังกรตั้งแต่การเตรียมต้น หลังการเก็บผลผลิต จนต้นออกดอก ออกผล กำนันบันเทิง ให้รายละเอียดว่า เมื่อเก็บผลผลิตรุ่นสุดท้ายหมดแล้ว จากจำนวน 6 รุ่น ราวๆ เดือนพฤศจิกายนหรือธันวาคม ก็จะทำการตัดแต่งกิ่ง เพื่อให้ต้นแก้วมังกรมีการออกดอกให้ผลดีมีคุณภาพ

เทคนิคการตัดแต่งกิ่งแก้วมังกรเป็นหัวใจหลัก

การตัดแต่งกิ่งจะดูจากต้นที่มีอายุเกิน 2 ปี ขึ้นไป จะตัดแต่งทุกปี แต่จะยึดหลักตัดแต่งกิ่งที่ 50% ตัดห่างจากโคนกิ่ง เลือกดูกิ่งที่มีมดเข้าทำลาย กิ่งที่ทับซ้อน กิ่งที่มีสีเทาเหลือง กิ่งด้านล่าง โดยจะเน้นการฟันจากด้านล่างย้อนขึ้นบน เพื่อให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ออกมาเรื่อยๆ ทั้งหลายทั้งปวง กำนันบันเทิง บอกว่า “ขึ้นอยู่กับความชำนาญ ต้องพิจารณาด้วยตัวเองว่ากิ่งใดเหมาะสมหรือควรจะตัดทิ้ง”

บางปีก็จะมีการสับราก เพื่อให้แก้วมังกรแตกรากฝอยใหม่

หลังการตัดแต่งกิ่งแล้ว ตัดหญ้ารอบๆ โคนต้นให้โล่งเตียน จากนั้นใส่ปุ๋ยหมัก (ที่ใช้วัตถุดิบจำพวกแกลบ ซังข้าวโพด มูลวัว มูลไก่ ที่มีในท้องถิ่น และใช้ พด.1 เป็นจุลินทรีย์ช่วยเร่งให้เกิดปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพ) ใส่อัตราต้นละ 1 ถัง และฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ (ผลิตจากผลไม้และแก้วมังกร) อัตรา 1 แก้ว ต่อน้ำ 200 ลิตร จำนวน 2 ครั้ง ครั้งที่ 2 ใส่ปุ๋ยหมักและฉีดพ่นอีกครั้ง ช่วงเตรียมการออกดอก

นับเวลาตั้งแต่ตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยหมักแล้ว เวลาล่วงไป 6 เดือน แก้วมังกรก็จะเริ่มออกดอกในเดือนพฤษภาคม “แต่ปีนี้ช่วงสงกรานต์มีฝนตกหลายวัน ส่งผลให้ต้นแก้วมังกรออกดอกเร็วและมีจำนวนมากกว่าทุกปี” กำนันบันเทิง กล่าว

การให้น้ำ เนื่องจากแก้วมังกรเป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย แต่ก็ขาดน้ำไม่ได้ โดยเฉพาะหน้าแล้ง ที่สวนกำนันบันเทิง ใช้น้ำจากสระที่ขุดขึ้นเอง และหากน้ำไม่พอใช้ก็จะสูบน้ำขึ้นมาจากสระแก้มลิงของหมู่บ้าน ซึ่งสร้างขึ้นในลักษณะเช่นเดียวกับประปาภูเขา มีการทดน้ำมาเป็นทอดๆ ระยะทาง 3 กิโลเมตร

โรคและแมลงที่มารบกวน ที่สวนแห่งนี้จะใช้สารชีวภัณฑ์เป็นตัวป้องกันและกำจัด คือ ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma harzianum) กำจัดเชื้อโรคที่สำคัญ คือ ราสนิม และใช้บิวเวอเรีย (Beauveria bassiana) กำจัดแมลง

ผลผลิตส่งตลาด

การเก็บผลผลิตแก้วมังกร กำนันบันเทิง กล่าวว่า “จะเริ่มตัดผลที่มีสีแดงเสียก่อน เริ่มเก็บผลมาตั้งแต่กรกฎาคม ผลผลิตจะทยอยออกมาเรื่อยๆ รุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 6 เป็นเวลา 5 เดือน เดือนกรกฎาคมถึงกันยายน จะเก็บผลผลิตได้มากที่สุด ได้ผลผลิตดีกว่าเพราะฝนฟ้าอากาศค่อนข้างดี”

 การตลาดแก้วมังกร

ลักษณะเด่นของแก้วมังกรบ้านถิ่น กำนันบันเทิง บอกว่า “มีรสหวาน เนื้อนิ่ม เปลือกบาง ถ้านำไปขายในท้องถิ่นหรือในตัวเมืองแพร่ ผู้ซื้อจะยอมรับหากแก้วมังกรนั้นนำมาจากบ้านถิ่น เพราะมีชื่อเสียงทางด้านชีวภาพอยู่แล้ว” จึงมีพ่อค้าแม่ค้าจากหลายแห่งเข้ามาซื้อถึงบ้านถิ่น โดยมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิต ทั้งจากตลาดในจังหวัดพิษณุโลก เชียงใหม่ อุดรธานี สุรินทร์ และส่งไกลไปถึง สปป.ลาว

ส่วนราคาขายนั้น กำนันบันเทิง บอกว่า ขึ้นอยู่กับขนาด คือ แก้วมังกร เบอร์ 00 กิโลกรัมละ 14 บาท เบอร์ 0 ราคากิโลกรัมละ 12 บาท และเบอร์ 1 กิโลกรัมละ 10 บาท การคัดขนาดผลแก้วมังกรมีการใช้เทคโนโลยีเครื่องคัดขนาดของผลตามน้ำหนัก และมีห้องเย็นเก็บรักษาผลสด เก็บไว้ได้นาน หากได้ราคาที่ต่ำกว่ากำหนดก็จะเก็บไว้ในห้องเย็น

 

ตู้อบแปรรูปการรวมตัวที่เข้มแข็งของเกษตรกรสู่การจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2557 รหัสทะเบียน 6-54-01-11/1-0028 ปัจจุบันมีสมาชิก 80 คน มีคณะกรรมการ 10 คน คุณธวัชชัย กาวีวน ประธาน คุณอารินทร์ สุทธนะ เลขานุการ คุณบานเย็น ถาวรเสน เหรัญญิก คุณศิริรัตน์ อินทรรุจิกุล ผู้ช่วยเลขานุการ คุณพิสิษฐ์ ถิ่นกุศสินกานต์ ผู้ช่วยเหรัญญิก คุณวลัยพร ถิ่นฐาน คุณเกศกานดา ชาวสวนกล้วย คุณสมจิตร เมืองพืช คุณวชิราภรณ์ ถิ่นจันทร์ และ คุณนุโลม ชุ่มเย็น กรรมการ

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้เป็นองค์กรที่มีบทบาท ภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการกลุ่มของเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกร การตลาดและการแปรรูป จนกลุ่มเกิดความเข้มแข็ง

การแปรรูปแก้วมังกร ดำเนินกิจการโดยวิสาหกิจชุมชน

เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2559 เหตุผลที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่นต้องคิดถึงการแปรรูปผลผลิตสด กำนันบันเทิง ได้ชี้แจงว่า “ตอนนั้นสมาชิกได้มีการขยายพื้นที่ปลูกแก้วมังกรกันมากขึ้น หากผลผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก เกรงว่าหากขายผลสดก็จะถูกกดราคาเหมือนในอดีตอีก”

“ที่ผ่านมามีพ่อค้าจากจังหวัดลำพูนมาซื้อแก้วมังกรไปอบแห้ง จึงตามไปดูวิธีการอบ เห็นลู่ทางน่าจะไปได้ดีจึงสั่งซื้อตู้อบมา 5 ตู้ ทั้งๆ ที่ไม่มีความรู้เลย แต่ก็ได้ตัวแทนขายมาให้คำแนะนำ จนเดี๋ยวนี้ทำกันจนชำนาญแล้ว” กำนันบันเทิง   กล่าวเพิ่มเติม

การแปรรูปผลสดจะใช้เฉพาะแก้วมังกรเนื้อสีแดงเท่านั้น กำนันบันเทิง ให้เหตุผลว่า “เพราะแก้วมังกรเนื้อสีแดง พันธุ์แดงสยาม เมื่อแปรรูปอบแห้งแล้ว เนื้อจะสวย นุ่ม มีรสหวาน กลิ่นหอม เป็นที่ต้องการของตลาด ส่วนแก้วมังกรเนื้อสีขาวจะออกรสเปรี้ยวนิดๆ และมีสีขุ่น ไม่สวย”

การแปรรูปอบแห้งจะดำเนินการทุกวัน วันละ 1 รอบ เท่านั้น เดินเครื่องตู้อบทั้ง 5 ตู้ ต้องใช้เวลาทั้งไล่ความชื้นและเข้าตู้อบถึง 8 ชั่วโมงแต่ละวันใช้แก้วมังกรผลสด 400 กิโลกรัม เมื่อครบเวลาอบแห้งจะเหลือเนื้อเพียง 35 กิโลกรัม เท่านั้น

ส่วนวิธีการแปรรูปนั้น คุณวลัยพร ได้อธิบายว่า เมื่อได้แก้วมังกรผลสดมาแล้ว จะปอกเปลือก ขวานเนื้อเป็นแผ่นบางๆ แล้วนำไปเรียงบนตะแกรง เข้าตู้อบ ใช้พลังงานความร้อนจากอินฟราเรด เมื่อครบกำหนดเวลาก็จะบรรจุใส่ถุงพลาสติก ซึ่งได้พัฒนาเป็นบรรจุภัณฑ์ขึ้นมาเอง มี 3 ขนาดตามน้ำหนัก คือ 150 กรัม จำหน่ายถุงละ 200 บาท ขนาด 70 กรัม ถุงละ 100 บาท และขนาด 50 กรัม ถุงละ 50 บาท จากนั้นติดสติกเกอร์ภายใต้แบรนด์ Bantin

ผลิตภัณฑ์แก้วมังกรแปรรูปตลาดตอบรับด้วยดี

การตลาดแก้วมังกรแปรรูปนั้น คุณวลัยพร กล่าวว่า จะผลิตแปรรูปตามที่มียอดสั่งซื้อเข้ามา หากมีเหลือแม้ไม่มากนักในแต่ละวันก็จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับไปขายในตลาดท้องถิ่น ในอนาคตนั้น “ตั้งใจไว้ว่าจะผลิตและแปรรูปแก้วมังกรให้ได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันแปรรูปได้แค่ถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะวัตถุดิบคือแก้วมังกรหมดฤดูกาลเสียก่อน”

จากแปลงต้นแบบถึง Young Smart Farmer

สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการคัดเลือกได้ Young Smart Farmer ของจังหวัดแพร่ ที่ชื่อ คุณฤชภูมิ ถิ่นฐาน โทรศัพท์ (081) 029-4134 เป็นบุตรชายคนโตของกำนันบันเทิง และได้รับการคัดเลือกไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 2560 ตามโครงการแลกเปลี่ยนยุวเกษตรกรไทยกับต่างประเทศร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมโคอิบูจิ ประเทศญี่ปุ่น

คุณฤชภูมิ เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการทำตลาดแก้วมังกรให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น กลุ่มสามารถกำหนดราคาผลผลิตได้เอง โดยตั้งราคาตามต้นทุนทั้งปลีกและส่ง เจาะหาตลาดจนมีผู้ซื้อที่ชัดเจน รวมทั้งทาง Online และ Offline ภายใต้แบรนด์ Bantin ในฐานะที่เป็นรองประธานเครือข่าย Young Smart Farmer จังหวัดแพร่ ใช้บทบาทนี้ร่วมกับการท่องเที่ยวจังหวัดแพร่ จนชุมชนบ้านถิ่นได้รับเลือกให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงเกษตรและวัฒนธรรมไทลื้อของภาคเหนือตอนบน 2 (แพร่ น่าน พะเยา เชียงราย)

 เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic)

คุณสมควร ได้ให้รายละเอียดว่า จากจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่น 80 คน มีเกษตรกรให้ความสนใจผลิตแก้วมังกรอินทรีย์ได้รวมตัวกันด้วยความสมัครใจ จำนวน 30 คน เข้าร่วมโครงการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ ปี 2560 กับสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ และจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกลุ่มแก้วมังกรอินทรีย์บ้านถิ่น 8 คน ได้แก่ คุณทิตย์ ถิ่นสอน เป็นประธาน คุณเสาวภา เขื่อนแก้ว คุณเดชาณัฐ ลือโฮ้ง รองประธาน คุณวชิราภรณ์ ถิ่นจันทร์ คุณอารินทร์ สุทธนะ เลขานุการ คุณฤชภูมิ ถิ่นฐาน คุณเกศกานดา ชาวสวนกล้วย ประชาสัมพันธ์ และ คุณอรอนงค์ กาวีวน เหรัญญิก

ได้รับการส่งเสริมให้เข้าสู่ระบบเกษตรอินทรีย์ (Organic) ผลที่จะได้รับก็คือตัวเกษตรกรเอง ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมดีขึ้น การส่งเสริมนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งเกษตรกร กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกรและส่วนราชการ ปัจจุบันได้มีการปฏิบัติดูแลรักษาแก้วมังกรตามระบบเกษตรอินทรีย์ โดยมีเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรแพร่ โครงการมหาวิทยาลัยแพร่ เข้าไปติดตามให้คำแนะนำแก่เกษตรกรอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ตลอดจนได้จัดอบรมให้ความรู้ตามที่กลุ่มมีความสนใจด้วย

โดยอิงหลักการดังนี้ ใช้แนวทางเกษตรผสมผสาน รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ พัฒนาระบบการผลิตที่พึ่งพาตนเองในเรื่องของอินทรียวัตถุ และธาตุอาหารภายในสวน ฟื้นฟูและรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินและคุณภาพน้ำด้วยอินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยพืชสด อย่างต่อเนื่อง รักษาความสมดุลและความยั่งยืนของระบบนิเวศ ยึดหลักการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยวและการแปรรูปที่เป็นวิธีการธรรมชาติ ประหยัดพลังงาน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รักษาความหลากหลายทางชีวภาพ รักษาความเป็นอินทรีย์ตลอดห่วงการผลิต แปรรูป เก็บรักษาและขาย ไม่ใช้สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยเคมี ไม่ใช้ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากการดัดแปรพันธุกรรม

จากการนำเสนอการผลิตและแปรรูปแก้วมังกรที่ตำบลบ้านถิ่น จังหวัดแพร่ มีสาระที่น่าจะนำไปเป็นแบบหรือแบบอย่างในหลายเรื่อง เช่น การทำงานเป็นกลุ่มขับเคลื่อนไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งของเกษตรกร การรวมกลุ่มนำไปสู่การมีองค์กรขับเคลื่อนกิจกรรมที่เป็นกิจจะลักษณะ ดังเช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกแก้วมังกร การจัดการจุดรวบรวมผลผลิตเพื่อจัดการขายจุดเดียวมิใช่ต่างคนต่างขาย การนำเทคโนโลยีมาช่วยในการคัดแยกผลผลิต เมื่อมีผลผลิตออกมามากก็จัดการแปรรูป เพื่อให้เพิ่มมูลค่าของผลผลิต ใช้การตลาดนำการผลิต และการใช้สื่อตลาด Online และ Offline ภายใต้แบรนด์ Bantin การรักษามาตรฐานของผลผลิต การร่วมมือกันในรูปแบบประชารัฐ ทั้งเกษตรกร ราชการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เป็นต้น

กำนันบันเทิง ได้กล่าวตอนท้ายว่า กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแก้วมังกรตำบลบ้านถิ่นและเกษตรกรได้รับการส่งเสริม สนับสนุนด้วยดีจากเจ้าหน้าที่เกษตรตำบลบ้านถิ่นและจากสำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ทั้งการแนะนำ ส่งเสริม การตรวจสวน แนะนำระบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งกำลังดำเนินการไปด้วยดีจึงฝากขอบคุณผ่านนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน

ขอขอบคุณเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ คุณสุจิรา สถาปัตย์ คุณนงเยาว์ แก้ววิเศษ ที่ให้ ข้อมูลระบบเกษตรอินทรีย์ และ Young Smart Farmer  หากมีผู้ที่สนใจจะเข้ามาศึกษา ดูงาน เยี่ยมชมสวนแก้วมังกร หรือสั่งซื้อผลิตผล ผลิตภัณฑ์แก้วมังกร กำนันบันเทิง กล่าวว่า ยินดี ติดต่อที่ตนเอง คุณฤชภูมิ หรือ สำนักงานเกษตรจังหวัดแพร่ ตามหมายเลขโทรศัพท์ที่แจ้งไว้แล้วข้างต้น