ไทยจับมือจีน-เมียนมา-ลาวบูม “5เชียง” ดึงทัวริสต์ทั่วโลก

ไทย-จีน-ลาว-เมียนมา ผนึกกำลังบูมท่องเที่ยว “เมือง 5 เชียง” สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือฯ ดันเขียนแผนท่องเที่ยวร่วมหวังขายสู่ตลาดโลก เผยปัจจุบันการเดินทางแสนสะดวก แต่ละประเทศมีการสร้างถนนเชื่อมเส้นทาง มั่นใจดันตัวเลขทะลุ 30 ล้านคน

นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14-16 มี.ค. 61 สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย ร่วมกับสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดประชุมการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว 5 เชียง โดยมีตัวแทนและเครือข่ายจากต่างประเทศเข้าร่วมเสวนา และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยว 5 เชียงร่วมกัน อาทิ ท่านจอมศรี ลัดตะนะปัน รองเจ้าแขวงบ่อแก้ว ท่านสุลิทิบ น่อคุนผน หัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและท่องเที่ยวแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ท่านผาน จิน รองกงสุลใหญ่แห่งประเทศจีนประจำ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายผู้ประกอบการท่องเที่ยวจากมณฑลยูนนาน จีน สปป.ลาว รัฐฉาน เมียนมา

นายสมบูรณ์ ศิรเวช รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่า สถิติที่ผ่านมาพบว่ามีนักท่องเที่ยวจากพื้นที่ 5 เชียง โดยเฉพาะจากจีน เดินทางมาท่องเที่ยวที่เชียงรายและเชียงใหม่เพิ่มขึ้นถึง 31.51% และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก การสร้างเครือข่ายร่วมกันจึงสำคัญมาก เพราะจะได้ช่วยกันพัฒนาตลาดร่วมกันจนสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้ไปเยือนมากขึ้นต่อไป

ขณะที่นายกิตติ ทิศสกุล นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ 17 จังหวัด และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย ย้ำว่า 5 เชียง หมายถึง เชียงราย เชียงใหม่ ในประเทศไทย เชียงตุง รัฐฉาน เมียนมา เชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน จีน และเชียงทอง หรือหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว ซึ่งตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ได้มีความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว 5 เชียงมาโดยตลอด และจากนี้ไปทุกฝ่ายต้องการจะผลักดันและส่งเสริมเพื่อทำให้มีความเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการเขียนแผนการท่องเที่ยวและนำขายสู่ตลาดทั่วโลก

น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย และนักธุรกิจนำเที่ยวใน 5 เชียง กล่าวว่า ปัจจุบันการคมนาคมในเขต 5 เชียงดีขึ้นมาก เช่น กรณีเมืองเชียงตุงในเมียนมา ปัจจุบันสามารถใช้เส้นทางทางบกจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย เข้าสู่ จ.ท่าขี้เหล็ก ซึ่งเป็นด่านถาวรแห่งเดียวของรัฐฉานเข้าไปยังเชียงตุง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลเมียนมากำลังพิจารณาใช้ระบบ visa all arrival ที่ด่านโดยตรงแล้ว ส่วนยานพาหนะก็มีข้อตกลงใช้รถระหว่างเชียงราย-เชียงตุง นอกจากนี้ ท่าขี้เหล็กยังมีสนามบินที่มีเครื่องบินให้บริการ 8 สายการบิน ในอนาคตหากมี visa all arrival ก็จะทำให้การท่องเที่ยวเชียงราย-เชียงตุง และเมืองอื่นๆ สะดวกมากขึ้น

ส่วนเชียงรุ้ง หรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ก็ถือว่ามีการพัฒนาไปมาก และมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางไปเที่ยวเป็นจำนวนมาก ปัจจุบันจีนสร้างสะพานแม่น้ำโขงแห่งใหม่และรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมเขตปกครองตนเองสิบสองปันนา เข้าไปยังรัฐฉาน และไปทางหลวงพระบาง สปป.ลาวด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดเครือข่ายใหม่ๆ ขึ้นมาอีก เช่นเดียวกับหลวงพระบางที่เป็นตลาดท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งทางอากาศ ทางเรือ (แม่น้ำโขง) และทางบกอยู่แล้ว และในอนาคตอันใกล้นี้มีความเป็นไปได้ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยว 5 เชียง จะมีรวมกันไม่ต่ำกว่าปีละ 30 ล้านคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ เครือข่ายจากประเทศต่างๆ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการคมนาคมภายในประเทศของตนมีการพัฒนามากขึ้น เช่น แขวงบ่อแก้ว และหลวงพระบาง ของ สปป.ลาว ที่ผ่านมาได้มีการสร้างถนนเพื่อเชื่อมโยงกับ 5 เชียงมากขึ้น และมีศักยภาพที่จะใช้เพื่อการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี ส่วนในรัฐฉาน ในเมียนมา ก็มีการจัดระบบและอำนวยความสะดวกในเรื่องของการเข้า-ออกเมือง ให้มีความเป็นสากลมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวยุโรปและอื่นๆ เดินทางผ่านช่องทางนี้เพิ่มมากขึ้น

Advertisement

ขอขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 22 – วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2561