เผยแพร่ |
---|
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสนันสนุนการวิจัย (สกว.) โดยฝ่ายนโยบายและสวัสดิภาพสาธารณะ ร่วมกับ หน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 9 ณ โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีสร้างเครือข่ายความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกัน และนำเสนอประเด็นวิจัยที่จะช่วยเสริมให้การดำเนินการตามยุทธศาสตร์น้ำของประเทศสมบูรณ์ขึ้น นอกจากนี้การจัดงานดังกล่าวยังมุ่งหวังให้เกิดการยกระดับความสามารถในการวางแผนน้ำระดับประเทศ ชุมชน จังหวัด ลุ่มน้ำ และประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นที่ให้หน่วยงานรัฐได้หาทางเลือกและพัฒนากลไก รูปแบบและกระบวนการการตัดสินใจใช้ทรัพยากรน้ำที่มีจำกัดให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ในงานวันเดียวกัน ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ. สกว.และนายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยังได้ร่วมกันลงนามในบันทึกความร่วมมือระหว่าง สกว. และ สทนช. เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการผลักดันงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในมิติทางด้านนโยบายทั้งระดับชุมชน จังหวัดลุ่มน้ำ ประเทศ ให้เกิดศักยภาพสูงสุดอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย
โดยศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ.สกว. ประธานเปิดงาน กล่าวในฐานะตัวแทนจากฝากวิชาการที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาของประเทศว่า สกว. ได้สนับสนุนงานวิจัยด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งงานวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ งานวิจัยเชิงพื้นที่ และงานวิจัยท้องถิ่น โดยมีงานวิจัยที่สนับสนุนแล้ว อาทิ ภาพอนาคตในปี 2035 ของทรัพยากรที่ดิน พลังงาน และน้ำในประเทศไทย เกณฑ์การบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกลไก การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมในประเทศ ฯลฯ ที่ช่วยผลักดันการบริหารจัดการน้ำของประเทศให้ครอบคลุมทุกมิติ
นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีดำริให้ก่อตั้งหน่วยงาน สทนช.ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับงาน เชิงนโยบาย โดยมีภารกิจหลัก คือการบูรณาการข้อมูลน้ำของประเทศ การทำงานให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์น้ำของชาติ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และบริหารจัดการน้ำอย่างมีเอกภาพ จัดระบบข้อมูลน้ำให้เป็นสัดส่วน มีความเชื่อมโยงสร้างระบบข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ โดยงานวิจัย ถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างกระบวนทำงานครั้งนี้ ที่จะผลักดันให้เกิดการออกกฎกระทรวงน้ำ หนุนเสริมกับการมีพระราชบัญญัติน้ำ
ด้าน ดร.รอยล จิตรดอน ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ข้อมูลว่า เป้าหมายของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ ต้องแก้ปัญหา 3 เรื่องให้สำเร็จคือ 1.ให้แต่ละหน่วยงานทำงานร่วมกันได้ 2.ทำงานเชิงพื้นที่ได้ 3.เกิดการทำงานจากชุมชนสู่หน่วยงาน (ล่างขึ้นบน) หลักๆที่มองคือ ควรมีการทำงานเชิงพื้นที่ที่เรียกว่าแอเรีย เบส (Area Based) จะปรับพื้นที่อย่างไร เชื่อมโยงอย่างไร งานวิจัยเข้ามามีส่วนช่วยมากๆ เช่นพื้นที่ขนาด 150,000 ตารางกิโลเมตรของลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีอ่างเก็บน้ำอยู่ 6 – 7 อ่าง จึงมีความจำเป็นต้องวิจัยว่า จะบริหารจัดการอ่างทั้งหมดไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ยังมีประเด็นความต้องการใช้จะสูงขึ้นถึง 130,000 – 150,000 ล้านลูกบาศก์ต่อปี เนื่องจากความต้องการใช้น้ำด้านการเกษตร ตัวเมืองขยาย นักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ที่ที่เก็บน้ำมีเพียง 100,000 ลูกบาศก์เมตร จึงได้มีงานวิจัยเรื่องการใช้ “น้ำซ้ำ” เกิดขึ้น รวมถึงความเชื่องโยงอื่นๆอย่างการจัดการที่ดิน การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ เพราะปัจจุบันเรายังไม่เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเท่าที่ควร จึงยังมีความจำเป็นต้องทำวิจัยอีกมาก ประเด็นสุดท้ายคือเรื่อง Big Data ต้องเอาข้อมูลมาใช้ให้เกิดความคุ้มค่า เพราะตอนนี้เรามีระบบมอนิเตอร์ข้อมูลที่ดีแล้ว แต่ยังขาดการเอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างมีศักยภาพสูงสุด
ศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล ประธานคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ด้านยุทธศาสตร์ที่ 5 เราวางเป้าไว้หลายเป้า หมายความว่างานวิจัยที่หนุนมองเรื่องความมั่นของน้ำในหลายมิติคือ บ้านทุกบ้านต้องมีน้ำสะอาด เข้าถึง เพียงพอ การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง เราไม่สามารถกักเก็บน้ำได้หมด ต้องดูระบบนิเวศของแต่ละพื้นที่ไม่ปล่อยให้น้ำเค็มรุกพื้นที่ การกักเก็บน้ำของเขื่อนขนาดเล็ก ถ้ามีการกักเก็บมาก อาจเกิดภัยพิบัติกรณีเกิดวิกฤตการณ์ การยกระดับกระบวนทัศน์เรื่อง “ฟลัดเวย์” (Flood Way) หรือ ร่องน้ำที่ทำการออกแบบไว้เป็นพิเศษเพื่อให้น้ำที่หลากมาจะท่วมเมืองเปลี่ยนไปไหลทางนั้นแทน นับเป็นโจทย์ที่ท้ายของประเทศ
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิจัยจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยหรือทีดีอาร์ไอ ให้ทัศนะในประเด็นการบริหารจัดการข้อมูลว่า ไทยยังมีปัญหาในการบริหารจัดการข้อมูล ปัญหาสำคัญ ที่กระทบงานวิจัยและนโยบายคือ คุณภาพข้อมูลด้านน้ำโดยเฉพาะปริมาณการใช้น้ำเกษตร ปัญหาการประปาไม่ได้จำแนกประเภทกิจการโดยละเอียดเหมือนการไฟฟ้า ข้อมูลกระจัดกระจาย แม้ในกรมเดียวกัน ปัญหานิยาม และวิธีประมาณการที่ไม่ระบุที่มาที่ไป ทำให้งานวิจัยได้ผลไม่น่าเชื่อถือ และอาจส่งผลต่อการกำหนดนโยบายและการลงทุนด้านทรัพยากรน้ำ จึงควรต้องปฏิรูปด้านข้อมูลอย่างเร่งด่วน การใช้น้ำ ในภาคเกษตรยังค่อนข้างฟุ่มเฟือย แสดงว่าการขาดแคลนน้ำยังมีโอกาสเกิดสูงขึ้น ในอนาคต หากไม่มีการปรับเปลี่ยนการใช้น้ำให้ประหยัดขึ้น
การปรับปรุงรูปแบบการบริหารเพื่อการแก้ปัญหาอุปสงค์ส่วนเกินเป็นกุญแจสำคัญ ที่จะแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่นนโยบายค่าชลประทาน (บำรุงรักษาคูคลอง) เก็บค่าน้ำประปาจากการประปาทุกแห่ง ทุกธุรกิจ และค่าบำบัดน้ำเสีย รวมทั้งการรวมกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อให้กลุ่มต้นน้ำ – ปลายน้ำ เริ่มหันมาทำข้อตกลงการใช้น้ำอย่างเป็นธรรมตามกติกา การสร้างมาตรฐาน “Water Footprint” หรือ ตัวชี้วัดปริมาณการใช้น้ำทั้งทางตรงและทางอ้อม ให้กับสินค้าส่งออก ไปจนถึงการออกมาตรการต่างๆเพื่อลดปริมาณน้ำเสีย และการก่อตั้งอุตสาหกรรมบำบัดน้ำสียเพื่อประเมินความต้องการน้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศเป็นต้น การเพิ่มอุปทานน้ำ เช่น การออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปริมาณน้ำเสีย การสร้างแหล่งกักเก็บน้ำ สร้างพื้นที่รับน้ำตามธรรมชาติเหมือนกรณีบางระกำ การขุดลอกคูคลองและ ใช้เทคโนโลยีขุดลอกตะกอนในแหล่เก็บน้ำขนาดใหญ่ เป็นต้น
ทั้งนี้ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานคือเรื่องการจัดการข้อมูล ปัจจุบันหน่วยราชการที่รับผิดชอบด้านน้ำมีมากกว่า 33 แห่ง มีรูปแบบการเก็บข้อมูลที่ต่างกัน ตัวอย่างไม่ครอบคลุม เช่น ปริมาณน้ำฝนประสบปัญหาสถานีตรวจอากาศ ไม่เพียงพอ จึงต้องใช้การสันนิษฐานทางสถิติศาสตร์และคณิตศาตร์เพื่อสร้างตัวเลขขึ้นมา เทคนิคการคำนวณและวิเคราะห์ข้อมูลแต่ละหน่วยงานต่างกัน ทำให้ผลลัพธ์ต่าง ข้อมูลรัฐจึงขัดแย้งกันเอง ซึ่งลดความน่าเชื่อถือ ระบบข้อมูลของไทยไม่มีการรวบรวมอย่างเป็นระบบ ขาดการบันทึกวิธีและกระบวนการจัดทำ ขาดความร่วมมือด้านข้อมูลระหว่างหน่วยงานต่างๆ ผลกระทบคือ นโยบายรัฐที่ใช้ข้อมูลไม่มีคุณภาพผิด ไม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องลงทุนและจัดการระบบข้อมูลอย่างจริงจัง รวมถึงทำการเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ เพื่อประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม
ในขณะที่ รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ นักวิจัยจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาการจัดการน้ำของแต่ละภูมิภาคว่า ภาคกลาง พบปัญหาน้ำขาดแคลนในฤดูแล้ง มีการแย่งน้ำภายในคลองชลประทาน ไม่ให้ความร่วมมือภาครัฐในการงดทำนาปรัง การรุกคืบของน้ำเค็ม ภาคตะวันออก น้ำขาดแคลนในฤดูแล้งการุกคืบของน้ำเค็ม กระทบประมงและประปาการแย่งน้ำ จาก โครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ภาคใต้ น้ำขาดแคลนและแย่งน้ำในเขตทำนาจัดการน้ำอย่างไรให้รักษาระบบนิเวศสมดุลกับอาชีพที่หลากหลาย ข้อสังเกตที่คณะวิจัยค้นพบคือ “ความขาดแคลนน้ำ” ยังคงเป็นปัญหาร่วมกันในหลายลุ่มน้ำ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการทำนา ปัญหาทรัพยากรน้ำยังมีปัญหาอื่นๆอีก นอกจากความขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ 3 น้ำอย่างภาคใต้ การรักษาระบบนิเวศและจัดการน้ำให้สมดุลกับอาชีพที่มีความหลากหลาย มีความสำคัญมาก ท้ายที่สุดเราควรค้นหาแนวทางแก้ปัญหาทำให้ “ปริมาณน้ำ” มีพอดีกับ “ความต้องการใช้น้ำ” สร้างข้อตกลงร่วมกัน ระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ค่าน้ำ เช่น ค่าชลประทาน ค่าไฟฟ้าปั๊มน้ำ ค่าบำรุงฯ ค่าปรับ ฯลฯ จัดสรรน้ำ เช่น เวลาใช้น้ำ ปริมาณน้ำใช้ ห้ามใช้ แบ่งปันผลประโยชน์ เช่น น้ำน้อย – ใช้น้อย ซึ่งข้อตกลงเหล่านี้คือถือเป็น “เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ระดับกลุ่มผู้ใช้น้ำ” นั่นเอง