PIM ชู 4 ทักษะสู้หุ่นยนต์ ผลิตนักศึกษารับโลกเปลี่ยน

ในฐานะมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (corporate university) ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ที่มุ่งเน้นการเรียนการสอนแบบ work-based education จึงทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงกับกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์, เครือ ซี.พี. และพันธมิตรทางธุรกิจที่มีการขยายความร่วมมืออย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศควบคู่ไปกับการมุ่งเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา นอกจากจะเป็นผู้มีความมีรู้ทางวิชาการ ยังมีความพร้อม ความเชี่ยวชาญการทำงานอย่างมืออาชีพ

โดยสิ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความสำเร็จ ตลอดระยะเวลากว่า 11 ปี ของ PIM คือการเดินหน้าผลิตบัณฑิตที่มีทักษะพร้อมทำงานทันที (ready to work) ซึ่งเป็นผลมาจากบริบทความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ และสังคม ทำให้ PIM มีการปรับแนวทางการผลิตบัณฑิตให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุค disruptive technology

“รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์” อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจุบันความคาดหวังของภาคธุรกิจ หรือนายจ้างที่มีต่อภาคแรงงาน เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากบริบทโลกทั้งทางด้านเศรษฐกิจ และสังคม เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง

รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (พีไอเอ็ม)

“โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงโลกธุรกิจ รวมถึงนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้ภาคธุรกิจคาดหวังให้แรงงานของตัวเองมีทักษะด้านเทคโนโลยี และสามารถช่วยนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงการมีทักษะภาษาที่สอง ที่สาม เพื่อสื่อสารเชิงธุรกิจจริง”

ขณะเดียวกัน การเปลี่ยนแปลงในยุคdisruptive technology ยังทำให้ตลาดแรงงานมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในอนาคตตำแหน่งงานจำนวนมากมีโอกาสถูกเครื่องจักรอัตโนมัติ(automation) เข้ามาแทนที่ ดังนั้นการจะผลิตบัณฑิตให้มีทักษะ ready to work ได้นั้น เรามุ่งเน้นให้บุคลากรที่สำเร็จการศึกษามี 4 คุณลักษณะที่จะทำให้เครื่องจักร หรือหุ่นยนต์ ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ ซึ่งประกอบด้วย

หนึ่ง มีความมุ่งมั่น (determination)

สอง มีแรงบันดาลใจ (inspiration)

Advertisement

สาม มีจินตนาการ (imaginary)

สี่ มีวิสัยทัศน์ (visionary)

Advertisement

“สิ่งที่มนุษย์มี แต่หุ่นยนต์ไม่มี คือ จิตวิญญาณ ความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ และมุมมอง ดังนั้น นอกจากความรู้เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้ว การจะผลิตบัณฑิตไม่ว่าคณะใดคณะหนึ่งของ PIM จะต้องมี 4 คุณลักษณะข้างต้น เพื่อให้หุ่นยนต์ไม่สามารถมาแทนที่ได้”

“ไม่เพียงเท่านี้ PIM ยังให้ความสำคัญกับเรื่อง flexibility หรือความยืดหยุ่น โดยให้คณะต่าง ๆ ผนึกกำลังกันทางวิชาการ จนเกิดการ synergy จนทำให้เกิดการเรียนร่วมกันในหลากหลายหลักสูตร สาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นการเรียนร่วมกันระหว่างด้านวิศวกรรมกับเกษตรกรรม, วิศวกรรมกับบริหารธุรกิจ”

“จนเกิดเป็นหลักสูตร สาขาวิชา หรือคณะใหม่ ๆ ที่มีความเชื่อมโยงกับธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างคณะนวัตกรรมการจัดการเกษตร เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ด้านนวัตกรรม สามารถนำมาช่วยเหลือภาคเกษตรกรรมของประเทศสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับเทรนด์ของต่างประเทศที่มีการยุบรวมคณะมากขึ้น และให้มีการเรียนที่มีความเชื่อมโยงกัน แทนที่จะป็นการเรียนแบบแยกคณะ”

“รศ.ดร.สมภพ” กล่าวเพิ่มเติมว่า ในยุคการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี จะทำให้สาขาวิชาต่าง ๆ พร่ามัวมาก เพราะโลกยุคอนาคตต่อจากนี้ไป ถ้าเชี่ยวชาญแค่ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไปจะทำให้ขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถผนึกศาสตร์ความรู้ต่าง ๆ เข้าด้วยกันได้

“ทำให้การเปิดสาขาวิชา หลักสูตรต่าง ๆ จนถึงคณะ จำเป็นที่ต้องมองด้วยว่า การเรียนในศาสตร์นี้เรียนเพื่อไปทำอะไรต่อ เช่น การเรียนด้านภาษา ซึ่งไม่ได้เรียนเพื่อแค่ใช้ภาษาเท่านั้น จึงจำเป็นที่ต้องการผนวกหรือบูรณาการในสาขาต่าง ๆ อาทิ ภาษาเพื่อธุรกิจ ภาษาเพื่อการสื่อสารทางธุรกิจ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณาจารย์และบุคลากรของเรามีการประชุมกันเป็นประจำ เพื่อหาแนวทาง หรือรูปแบบ การเรียนการสอนใหม่ ๆ เพื่อผลิตบัณฑิตที่ตรงกับความต้องการขององค์กรธุรกิจ สังคม และประเทศชาติ”

อย่างไรก็ดี กลไกที่สำคัญของ PIM ในการผลิตบัณฑิตให้ตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงมาจาก 2 ส่วน คือ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ และการเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างเครือข่าย (networking university) เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ควบคู่กับไปกับการปฏิบัติจริง

“ปัจจุบันแต่ละหลักสูตรของคณะจะมีภาคทฤษฎีประมาณ 50-60% ของหลักสูตรและภาคปฏิบัติอีก 40-50% ของหลักสูตร แต่ละหลักสูตรจะได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพันธมิตรจากทั่วโลก นักศึกษาจึงมีโอกาสเข้าไปทำงานภายในองค์กรต่าง ๆ ระหว่างที่ศึกษาอยู่ จนเกิดเป็นประสบการณ์จริง เข้าใจความต้องการของผู้ประกอบการ ทำให้บัณฑิตที่จบจากสถาบันมีคุณสมบัติตรงตามความต้องการของภาคธุรกิจ”

ดังนั้น เมื่อบริบทโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว สิ่งที่สำคัญ คือ ภาคการศึกษา ต้องมีส่วนในการส่งเสริมให้นักศึกษาได้เรียนรู้ ไม่เฉพาะแต่เพียงในห้องเรียน แต่ต้องเปิดโอกาสให้สัมผัสประสบการณ์ และได้รับทักษะใหม่ ๆ ที่จำเป็นจากนอกห้องเรียน เพื่อให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษามีทักษะ ความสามารถ ทั้งทางด้านวิชาการ และประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง ซึ่งจะตอบโจทย์ความต้องการ ความคาดหวังของผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันยังสามารถรับมือกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องด้วย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ