เผยแพร่ |
---|
“ถ้าคุณเลิกใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง สิ่งที่ได้กลับมาคือ ชีวิตของคนที่คุณรัก”
คำกล่าวจากเกษตรกรรายหนึ่ง ที่สามารถประสบผลสำเร็จจากการทำเกษตรอินทรีย์ ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนไป ทั้งในเรื่องของสุขภาพที่ดีขึ้นจากการเลิกใช้สารเคมี และมีรายได้ที่สามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้
เมื่อเร็วๆ นี้ เลมอนฟาร์ม ร่วมกับ สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ สสส. จัดพิธีให้คำปฏิญญา ของเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ PGS น่าน มุ่งแสดงเจตจำนงผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์อย่างซื่อตรงต่อผู้บริโภคตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
การดำเนินการดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาในการใช้ห่วงโซ่เกษตรอินทรีย์ทั้งระบบ เพื่อสร้างอาหารที่สะอาดแก่ผู้บริโภค และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยในการเลี้ยงชีพให้สามารถหยุดการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีเข้มข้นไปสู่เกษตรอินทรีย์ มีรายได้ ลดหนี้ และจะเป็นรูปแบบหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมปนเปื้อนสารเคมีของ จ.น่าน และแก้ปัญหาสุขภาพของคนเมืองน่าน
พื้นที่ส่วนใหญ่ใน จ.น่าน เป็นไร่ข้าวโพด เกษตรกรนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้สารเคมีเข้มข้นเป็นตัวกระตุ้นให้ได้ผลผลิตที่ดี โดยจะมีโรงงานเข้ามารับซื้อ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรจะเผ่าและไถกลบเพื่อเตรียมปลูกข้าวโพดในปีต่อไป ทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ
นางสุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ กรรมการผู้จัดการ เลมอนฟาร์ม ให้รายละเอียดงานว่า การพัฒนารูปแบบกรณีศึกษาการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ โดยใช้ Lemon Farm PGS Model เป็นเครื่องมือในการพัฒนาและดำเนินการตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ตลาดจนถึงการผลิตของเกษตรกรรายย่อย โดยเริ่มต้นในปี 2559 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 18 เดือน ให้เกษตรกรหยุดการใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง หยุดการปลูกข้าวโพด หยุดการบุกรุกป่า โดยเปลี่ยนมาสู่การฟื้นฟูดินในวิถีเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบัน มีสมาชิก 53 ราย ผ่านการรับรอง Organic PGS แล้ว 18 ราย
นางสุวรรณา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันเกษตรกรสามารถส่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์ PGS จำหน่ายใน จ.น่าน และในระบบตลาดของเลมอนฟาร์มแล้ว โดยกรณีศึกษาเบื้องต้นเกษตรกรบางรายมีรายได้ดีกว่าปลูกพืชสารเคมีเชิงเดี่ยว 7 เท่า นอกจากการดำเนินการในจังหวัด ยังมีการดำเนินการกับเกษตรกรรายย่อย 11 กลุ่ม ใน 8 จังหวัด ภายใต้โครงการจัดการระบบการตลาดและการผลิตอาหารอินทรีย์อย่างยั่งยืนเพื่อสุขภาพผู้บริโภค ผู้ผลิต ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ ยโสธร และน่าน ความสำคัญอยู่ที่การดำเนินการทั้งห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่การตลาด การจัดการ และการผลิต
ขณะที่ ดร. ธัญศิภรณ์ จันทร์หอม อาจารย์ประจำสำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคี ภาครัฐ และเลมอนฟาร์ม มีความมุ่งหมายที่จะพัฒนาต้นแบบเกษตรอินทรีย์ใน จ.น่าน โดยใช้ Organic PGS Model เพื่อสร้างรายได้ยั่งยืนแก่เกษตรกร ทดแทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี ลดการใช้สารเคมีเกษตรลง รวมทั้งการแก้ปัญหาป่าน่านที่เสื่อมโทรมลง จากการเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และปัญหาหมอกควันจากการเผา และมุ่งหวังให้สร้างอาหารดีให้แก่คนเมืองน่านเพื่อสร้างสุขภาพ และส่งเสริมการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์ต่อไป
สำหรับขั้นตอนของการดำเนินการของระบบ Lemon farm Organic PGS Model คือ สำรวจการผลิตของสมาชิกกลุ่ม ร่วมกันกำหนดมาตรฐานและบทลงโทษของผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง หรือมีการแอบใช้สารเคมีในการทำเกษตร ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ผู้ที่ทำผิดจะต้องถูกพิจารณาให้ออกจากกลุ่มหรือพักการส่งสินค้ามาขายที่บริษัท ในการตรวจสอบจะใช้เป็นแบบที่ให้แต่ละกลุ่มตรวจสอบกันเอง โดยที่ห้ามตรวจของตนเอง เกษตรกรที่เป็นสมาชิกได้ทำเกษตรอินทรีย์ต่างมีความพอใจในผลตอบรับที่ได้
ด้าน นางศุภลักษณ์ สุวรรณ หรือพี่พลับพลึง กลุ่มเกษตรอินทรีย์ พีจีเอส จาก จ.น่าน เล่าว่า จากเดิมเคยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ เพราะทำงานอยู่กับสารเคมีตลอดจนเกือบเสียลูกในท้องไป จึงตัดสินใจลาออกจากงาน และหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทน เริ่มจากการไปเช่าที่เพื่อทำเกษตร ปลูกผักขายเหมือนชาวบ้านทั่วๆ ไป คือปลูกผักขายตามฤดูกาล ขายในราคาถูกไม่ได้คิดกำไร ไม่ได้คิดค่าแรง คือปลูกผักขายตามตลาด ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ใช้เวลาเก็บเงินประมาณ 3 ปี สามารถซื้อที่ตรงนี้ในราคาประมาน 250,000 บาท แต่ปัจจุบันเทศบาลให้ราคาที่ตรงนี้ในราคา 2,500,000 บาท
พี่พลับพลึง เล่าต่อว่า หลังจากที่ได้มารู้จักกับทีมวิจัยจากจุฬาฯ และ บริษัท เลมอนฟาร์ม ก็เริ่มมาคิดละว่า จะทำไงให้ได้ผลผลิตครบตามออเดอร์ที่รับมา ทางจุฬาฯ และเลมอนฟาร์มได้เข้ามาสอนให้เลือกปลูกผัก และผลไม้ให้เหมาะสมกับฤดูกาล คำนวณต้นทุนบวกค่าแรง สอนให้เราสามารถคำนวณอายุของพืช เพราะแต่ละชนิดจะมีอายุไม่เท่ากัน เมื่อเรารู้จักอายุของพืชแต่ละชนิดแล้ว เราสามารถจัดสรรได้ว่าจะปลูกพืชชนิดไหนไว้ด้วยกันได้บ้าง และยังมีการเพาะเมล็ดพันธุ์เอง ผสมพันธุ์พืชเอง ขายให้กับเกษตรกรรายอื่นที่สนใจ
นายกฤต อินต๊ะนาม หรือ ลุงทัย อายุ 53 ปี กลุ่มเกษตรอีนทรีย์ พีจีเอส จาก จ.น่าน เล่าว่า เดิมมีที่ดินทั้งหมด 53 ไร่ คืนให้ป่าไม้ไป 16 ไร่ ที่เหลือก็ทำไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียว โดยใช้สารเคมีในการทำการเกษตรมาตลอด ต่อมาเริ่มสังเกตคนรอบข้างว่าป่วยด้วยโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ กันเยอะ เกิดจากการที่ใช้สารเคมีในการทำการเกษตร จึงเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เปลี่ยนมาปลูกผักแทน แต่ด้วยความที่ใช้สารเคมีมาตลอด ทำให้ดินในพื้นที่ตาย ไม่สามารถปลูกอะไรได้
ลุงทัย เล่าต่อว่า หลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิก ฝ่ายส่งเสริมของเลมอนฟาร์ม ลงพื้นที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูดิน ช่วยให้ดินที่ตายแล้วกลับมาปลูกพืชผลได้อีก พื้นที่ที่ใช้ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ 2 ไร่ เริ่มจากการปลูกมะนอย (บวบเล็ก) เป็นการปรับหน้าดิน ปัจจุบันได้ปลูกพืชชนิดอื่นๆ เพิ่มด้วย ทั้ง มะเขือยาว ผักสลัด ฟักทองญี่ปุ่น และสตรอว์เบอรี่ ทั้งหมดนี้ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมีเลย ผลออกมาเป็นที่น่าพอใจ ตอนนี้สามารถเก็บพืชในสวนขายได้ ที่สำคัญไม่ต้องเหนื่อยไปนั่งขายที่ตลาด แต่ขายทางออนไลน์ ในแต่ละวันจะเก็บผักชนิดต่างๆ ถ่ายรูปและโพสต์ขายทางเฟซ ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นชาวบ้านในพื้นที่ ตอนเย็นก็จะขับรถไปส่งของตามบ้าน ตอนนี้กำลังคิดที่จะขยายพื้นที่ทำเกษตรอินทรีย์ เป็นการเพิ่มผลผลิตเพื่อจะส่งไปขายที่เลมอนฟาร์มต่อไป
ด้าน นายปัญญา ใคร่ครวญ กลุ่มเกษตรอีนทรีย์ พีจีเอส จาก จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่า จากเดิมผมทำไร่ปลูกอ้อย เจอปัญหาเยอะ ทั้งการตัด การหาโรงงาน หรือการขนอ้อยไม่หมด ทำให้เกิดความเสียหาย รู้สึกท้อจึงเลิกทำไร่อ้อยเปลี่ยนมาขับรถไถรับจ้างแทน ทำอยู่สักพักคิดว่ามันไม่แน่นอน ไม่ใช่อาชีพที่จะหาเลี้ยงตนเองได้ตลอด จึงกลับมาอยู่บ้านเปิดร้านขายของชำ และทำนาไปด้วย ผ่านไปประมาน 5-6 ปี ได้มีโอกาสเข้าร่วมอบรมในโครงการเกษตรยั่งยืน ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า การทำเกษตรแบบไม่ต้องใช้สารเคมียังมีอยู่ พร้อมกับได้เห็นงานของคนที่ทำสำเร็จแล้ว ทำให้มีแรงกระตุ้นที่จะกลับมาปรับใช้กับนาของตนเอง แต่ยังไม่ได้เลิกใช้สารเคมีเด็ดขาดเลย ยังมีใช้อยู่บ้างแต่ไม่เยอะ
นายปัญญา เล่าต่อว่า จนได้มารู้จักกับเลมอนฟาร์ม ได้เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ที่ถูกต้อง จึงนำมาใช้กับสวนของตนเอง จากที่ทำนาอย่างเดียว ทำได้ปีละครั้งก็เปลี่ยนมาทำนาด้วยและปลูกผักผลไม้ด้วย เป็นการเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรอีกทาง จากเดิมที่ต้องรอรายได้จากการทำนาอย่างเดียว แต่ตอนนี้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 8,000 บาท จากการขายผักและผลไม้ที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่จะส่งขายที่เลมอนฟาร์ม และอีกส่วนหนึ่งจะขายในตลาดชุมชนหรือไม่ก็มีคนมาซื้อถึงสวน
จะเห็นได้ว่าเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก ที่การทำเกษตรอินทรีย์สามารถสร้างรายได้ ทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกรเอง และผู้บริโภค
นงนุช แพพุดซา / รายงาน