ผู้ค้าแห่นำเข้า “พาราควอต”, “กลัวถูกแบน” ผงะยอดพุ่ง 44,501 ตัน

แห่นำเข้ายาฆ่าหญ้า “พาราควอต” ปี 2560 พุ่งพรวด 44,501 ตัน หลััง คกก. ขับเคลื่อนการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชชุด นพ. ปิยะสกล มีมติสั่ง “แบน” พาราควอต วงการธุรกิจเคมีเกษตรชี้เร่งสต๊อกกักตุน ราคาขยับขึ้นช่วงสุดท้าย พิลึกโยนคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาอีก แบน หรือ ไม่แบน ทั้งๆ ที่ชุดใหญ่ “เคาะ” แล้วให้แบน

คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน พร้อมด้วย 5 กระทรวง เมื่อเดือนเมษายน 2560 มีมติ “ยกเลิก” การใช้สารเคมี 2 ชนิด คือ พาราควอต สารเคมีฆ่าหญ้า กับคลอร์ไพริฟอส สารเคมีฆ่าแมลง ด้วยการไม่ให้ขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่ต่ออายุทะเบียน และให้ยุติการนำเข้าสารเคมีทั้ง 2 ประเภท ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 และยุติการใช้ วันที่ 1 ธันวาคม 2562 พร้อมกับเตรียมควบคุมการใช้สารเคมี “ไกลโฟเสต” ด้วยนั้น

ด้านคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ที่มี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการวัตถุอันตราย เป็นประธาน ได้ตกลงให้ใช้กรอบ 3 เดือน พิจารณาข้อมูลจากทั้ง 3 กระทรวง (เกษตรฯ-สาธารณสุข-อุตสาหกรรม) เนื่องจากการ “แบน” สารดังกล่าว ต้องกำหนดกรอบระยะเวลาที่จะยกเลิกการใช้ให้ชัดเจน มาตรการเยียวยา สารที่จะนำมาทดแทน หรือหากอนุญาตให้ใช้ต่อจะมีมาตรการรับมือผลกระทบทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างไร ท่ามกลางฝ่ายสนับสนุนให้ใช้ต่อและฝ่ายคัดค้านซึ่งมีทั้งรัฐและเอกชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย

ล่าสุดในการสัมมนา “พาราควอตฆ่าหญ้า VS คร่าสุขภาพ คนไทย” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา น.ส. อรพรรณ ศรีสุขวัฒนา รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพในเรื่องเกษตรและอาหารปลอดภัย หากมีข้อมูลที่พิสูจน์ผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากพาราควอตเป็นจำนวนมาก แต่ทำไมยังปล่อยให้ประชาชนมีความเสี่ยงบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยต่อไป

โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีฯ ชุด นพ.ปิยะสกล ได้ยืนยันมติที่เสนอให้ “ยกเลิก” การใช้และห้ามการนำเข้าสารพาราควอต เนื่องจากเป็นสารกำจัดวัชพืชอันตรายร้ายแรง เป็นสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในบัญชีอันตราย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งพิจารณายกเลิกการต่ออายุใบอนุญาตนำเข้าและการใช้พาราควอตในประเทศ พร้อมกับการเร่งหาวิธีการกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี “ตอนนี้เราทำหนังสือค้านไปที่ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะต่ออายุใบอนุญาตอีก”

ศ.ดร. พรพิมล กองทิพย์ คณะสาธารณสุข ม.มหิดล กล่าวว่า สารชนิดนี้เป็นสารเคมีอันตรายที่มีพิษเฉียบพลันสูง และปัจจุบันยังไม่มียาถอนพิษ จึงมี 53 ประเทศ ห้ามใช้แล้ว และจำกัดการใช้อีก 15 ประเทศ จากการที่ภาครัฐยังคงให้จำหน่ายและใช้ในปัจจุบัน จึงพบการปนเปื้อนในแหล่งน้ำในหลายจังหวัด

รศ.ดร. พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ผอ.สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ม.นเรศวร กล่าวว่า ไทยนำเข้าสารนี้มานานกว่า 30 ปี มีการฉีดพ่นในอัตราส่วนที่สูงกว่าค่ากำหนดในฉลาก รัฐควรมีนโยบาย “ลด-ละ-เลิก” การใช้สารเคมีฯ และส่งเสริมการเกษตรอินทรีย์

ดร.จรรยา มณีโชติ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัชพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า หากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า “จะแบนหรือไม่” ด้วยอำนาจหน้าที่รัฐหากมีคำขอแล้วไม่ต่อให้ “รัฐก็จะถูกฟ้องกลับ” ดังนั้น งานวิจัยที่มาจากทุกฝ่ายต้องพิจารณาทั้งความเสี่ยงและผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ส่วนเหตุที่ปริมาณการนำเข้าสารเคมีฯ เพิ่มขึ้นทุกปีนั้น ส่วนใหญ่นำมาทดแทนแรงงานในภาคเกษตรทำให้ต้นทุนสูงขึ้น “ปัจจุบัน ยังไม่มีงานวิจัยใดระบุมีสารทดแทนพาราควอตได้ ทั้งด้านประสิทธิภาพและต้นทุน”

ด้าน นายปราโมทย์ ติรไพรวงศ์ นายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร กล่าวว่า บางปีที่มีการนำเข้าพาราควอตเข้ามามากขึ้น เพราะการเพาะปลูกที่ดี เกษตรกรมีกำลังซื้อ ผู้ประกอบการก็ต้องดำเนินไปตามธุรกิจ ส่วนหากที่ประชุมมีมติสรุปให้ “จำกัด” หรือ “แบน” สมาคมยินดีรับผล “แต่ผมอยากให้รัฐคำนึงถึง 2 ข้อ คือ ผลกระทบทางเศรษฐกิจและหลักฐานเชิงประจักษ์ทางวิทยาศาสตร์ ให้รอบด้าน เพราะบางข้อมูลที่มีการนำเสนอไม่เป็นความจริง เราก็ต้องยื่นข้อเท็จจริงให้คณะกรรมการหลายต่อหลายครั้ง”

รายงานจาก กรมวิชาการเกษตร ระบุว่า หลังจากที่คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ มีมติให้ยกเลิกการใช้สารพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ปรากฏตัวเลขนำเข้าปี 2560 เพิ่มสูงขึ้นอย่าง “ผิดปกติ” จากปีก่อนถึง 12,976 ตัน “อาจเพราะมีการสต๊อกพาราควอตเพิ่มขึ้นเพื่อขายเป็นช่วงสุดท้ายก่อนถูกแบน ในขณะที่ราคาจำหน่ายในตลาดก็เริ่มขยับขึ้น 20-30% แล้วด้วย” แหล่งข่าววงการค้าธุรกิจเคมีเกษตรตั้งข้อสังเกต

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ