ความดันโลหิตสูง

ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง หากดูแลร่างกายไม่ดีอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้

นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ให้ข้อมูลว่า คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง คือ ผู้ที่มี  ความดันโลหิตมากกว่า 140/90 มิลลิเมตร (มม.)/ปรอท เป็นโรคเรื้อรังที่พบได้บ่อยในคนไทย หากเป็นนานๆ จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอัมพาต ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก สมองเสื่อม ไตวาย ทั้งแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และหลอดเลือดแดงส่วนปลายแข็งและตีบ โดยเฉพาะหากเป็นร่วมกับโรคเบาหวาน ไขมันในเลือดสูง รวมทั้งสูบบุหรี่จะยิ่งทำให้หลอดเลือดตีบเร็วขึ้น หากไม่ได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ถูกต้อง และเหมาะสม จะส่งผลให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อของหัวใจหนาขึ้น โตขึ้น เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่พอจนขาดเลือด อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ พญ. วิพรรณ สังคหะพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีปวดบริเวณท้ายทอย มักเป็นในตอนเช้า ปวดหัว เวียนหัว มึนงง เหนื่อยง่ายผิดปกติ อาจมีอาการแน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน บางรายไม่มีอาการ แต่ตรวจพบว่ามีความดันโลหิตสูง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุ และผู้ที่มีอายุ 40 ปี ขึ้นไป เพศชายมากกว่าเพศหญิง หรือในบางรายอาจเกิดจากพันธุกรรม นอกจากนี้ การกินอาหารเค็มที่มีปริมาณเกลือโซเดียมมากกว่า 2,400 มิลลิกรัม (มก.)/วัน เครียด วิตกกังวล ซึมเศร้า ขาดการออกกำลังกาย น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วนลงพุง นอนกรน สูบบุหรี่เป็นโรคเบาหวาน มีไขมันในเลือดสูง ก็เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเกิดโรคด้วย

วิธีป้องกัน หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ลดปริมาณเกลือในอาหาร งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป ควบคุมน้ำหนัก ไม่เครียด และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน