สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง

สหกรณ์ มีบทบาทต่อประชาชนเป็นอย่างมาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อการพัฒนางานสหกรณ์ พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าสหกรณ์จะเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยประชาชนชาวไทยในทุกตำบล ทุกอำเภอ ในการที่จะสามารถยืนหยัดพึ่งพาตัวเองได้ด้วยอาชีพต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำมาค้าขายให้ยืนอยู่ได้ภายใต้ชีวิตที่พออยู่พอกิน

สำหรับงานทางด้านเกี่ยวกับสหกรณ์ เจริญก้าวหน้ามาก็ด้วยน้ำพระทัยของในหลวง จึงพูดได้ว่า “สหกรณ์ก้าวไกล ด้วยน้ำพระทัยในหลวง” ก็สืบเนื่องจากว่า พระองค์ได้สนพระทัยงานสหกรณ์เป็นอย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบแล้วงานด้านพัฒนาการเกษตรกับงานสหกรณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้ดำเนินการพัฒนาที่ดินกับการพัฒนาอาชีพควบคู่กันไป พระองค์จะเน้นพัฒนาระดับรากหญ้าเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อเข้าไปพัฒนาในพื้นที่ตรงไหนแล้ว พระองค์ก็มักจะใช้เรื่องสหกรณ์หรือหลักการสหกรณ์เข้าไปใช้กับชุมชนที่นั่น ได้นำไปใช้บริหารจัดการหรือว่าร่วมกันทำอยู่อย่างนั้น โดยใช้หลักการพึ่งพาตนเองแล้วก็ช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นหลัก

               โครงการพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกระพง

พระองค์มีพระราชดำรินำหลักและวิธีการของสหกรณ์มาใช้แก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกร ตั้งแต่ ปี 2507 โดยการจัดสรรพื้นที่ป่าคุ้มครองของกรมป่าไม้ ที่บ้านหุบกระพง อำเภอชะอำ ในจังหวัดเพชรบุรี จำนวน 10,000 ไร่ ให้เกษตรกร และมีโครงการเกี่ยวกับการพัฒนาที่ตามแนวพระราชประสงค์ที่หุบกระพงด้วย ซึ่งตรงนี้พระองค์ทรงได้มองเห็นปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งชาวบ้านที่นั่นยากจน แล้วสภาพดินแถวนั้นค่อนข้างไม่อุดมสมบูรณ์ เป็นดินทรายทั้งหมด พระองค์จึงทรงใช้รูปแบบดำเนินงานในลักษณะ “หมู่บ้านสหกรณ์” ซึ่งมีการสนับสนุนในเรื่องที่ดินทำกิน การประกอบอาชีพเกษตรกรรม ระบบชลประทาน และการจัดตั้งสหกรณ์เพื่อเข้ามาช่วยอำนวยประโยชน์ให้สมาชิกในพื้นที่ทั้งในด้านเงินทุน การซื้อ การขาย และการบริการสมาชิกในด้านต่างๆ หลังจากพระองค์ได้เสด็จฯ ประทับที่หัวหินและทรงเยี่ยมราษฎร ทรงได้พบพื้นที่เหล่านี้ว่าเป็นพื้นที่ที่มีปัญหา

ไม่ใช่เฉพาะที่หุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี อย่างเดียว ยังมีที่ดอนขุนห้วยอีก ที่ดอนขุนห้วยก็มีสหกรณ์การเกษตร ซึ่งมีปัญหาคล้ายๆ กับที่หุบกระพง แต่ที่หุบกระพงจะเป็นการจัดการที่ดินเป็นเรื่องแรกแล้วพัฒนาเรื่องแหล่งน้ำ พัฒนาดินควบคู่กันไป เพื่อที่จะปลูกพืชได้และยังมีที่หนองพลับอีกก็เป็นสหกรณ์การเกษตรหนองพลับที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็เป็นส่วนที่พระองค์พัฒนาที่ดินที่ไม่ดีกลายเป็นดินดีขึ้นมา มีการพัฒนาโดยใช้ปุ๋ยหมักบ้างอะไรบ้าง จึงทำให้ดินเกิดมีคุณภาพ ชาวบ้านสามารถปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ได้ ซึ่งแรกๆ พระองค์ทรงได้ร่วมมือกับประเทศอิสราเอล ที่หุบกระพงก็เริ่มจากปลูกพืชที่ทนแล้งก่อน เช่น ป่านศรนารายณ์ ปลูกผักเพื่อยังชีพ ตรงนั้นเป็นเรื่องที่พัฒนามาเรื่อยๆ มีการตั้งสหกรณ์การเกษตรหุบกระพง จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการนั้นก็เป็นสิ่งหนึ่ง แต่ที่ดอนขุนห้วย พระองค์ทรงได้เข้าไปส่งเสริมในเรื่องของการปลูกสับปะรด เพราะว่าเป็นพืชที่เหมาะสมกับดินทรายแถวจังหวัดเพชรบุรี แล้วก็ให้มีการเลี้ยงไก่ไข่ และพระองค์ท่านยังทรงได้ขยายผลนำรูปแบบและวิธีการสหกรณ์ไปเผยแพร่ ปลูกฝังให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแห่งอื่นๆ ทุกโครงการพระองค์พระราชทานหลักการของการดำเนินงานแบบสหกรณ์ที่จะมุ่งเน้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่ง “การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน”

 

             สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี จำกัด (ในพระบรมราชูปถัมภ์)

เดิมทีเดียวหนองโพยังไม่ได้เป็นสหกรณ์ ชาวบ้านที่เลี้ยงโคนมก็จะเลี้ยงอยู่ใต้ถุนบ้าน เพราะว่าไม่มีพื้นที่ในการเลี้ยงก็เลี้ยงกันไปเรื่อยๆ พอเลี้ยงไปเลี้ยงมาปรากฏว่าขายไม่ได้ ทำนมพาสเจอไรซ์ต้มเองตอนแรก ต้มเองก็เกิดภาวะนมล้นตลาด ก็เลยเอามาแปรรูปให้เป็นสินค้าที่เก็บได้นาน ก็คือ เอามาทำในรูปแบบของโรงงาน พระองค์ก็พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อสร้างโรงงานนมผงขนาดเล็กให้กับที่นั่น มีเงื่อนไขต้องบริหารจัดการโดยหลักการสหกรณ์ ถึงได้ตั้งขึ้นมาเป็นสหกรณ์โคนมหนองโพฯ พระองค์ท่านก็ทรงให้ทางโรงงานหาเครื่องไม้เครื่องมือไปดำเนินการ แต่พอทำไปสักระยะหนึ่งก็ไม่ทันสมัยพอ ทำไประยะหนึ่งก็แก้ปัญหาไปได้ แต่หลังจากที่ได้ส่งเสริมกันมากขึ้น การไปกู้เงินก็มากขึ้น โรงงานนมผงตรงนั้นก็ไม่ค่อยได้ใช้ ก็กลายเป็นว่ามาทำเป็นนม UHT ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ โรงงานนั้นก็ยังอยู่เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อให้เห็นว่าเป็นจุดเริ่มแรกของการพัฒนาเรื่องโคนมที่หนองโพ นอกจากหนองโพแล้ว พระองค์ก็เสด็จฯ ไปสระบุรี องค์การส่งเสริมฟาร์มโคนมแห่งประเทศไทย เรียกว่า ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค พระองค์ท่านได้ทรงร่วมมือกับพระเจ้าแผ่นดินเดนมาร์กมาร่วมมือกันพัฒนาขึ้นมา โดยใช้พื้นที่ป่าแถวป่าดงดิบไปดำเนินการก็ประสบความสำเร็จ จนเรียกว่าเป็นอาชีพพระราชทานขึ้นมาเรื่องการเลี้ยงโคนม พระองค์ท่านได้ทรงวินิจฉัยว่า “การเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพที่เกษตรกรสามารถยึดถือเพื่อหาเลี้ยงชีพได้” ดังนั้น เกษตรกรที่มีอาชีพเลี้ยงโคนม ถือเป็นอาชีพพระราชทานที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

 

             โครงการเมืองสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ

จริงๆ แล้ว เป็นโครงการของหลวงพ่อถาวร ซึ่งท่านได้รับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมา หลวงพ่อก็พยายามรวมกลุ่มชุมชนเหล่านั้นให้เป็นเมืองสหกรณ์ ก็เน้นทางด้านทฤษฎีใหม่เข้าไปใช้ในบริเวณแห่งนั้น ในส่วนราชการก็เข้ามาช่วยด้วย ซึ่งมีหลวงพ่อท่านเป็นแกนนำทางด้านการพัฒนาอาชีพการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ เมืองสหกรณ์ก็จะนำสหกรณ์เข้าไปช่วยในตรงนั้น ผลตอบรับก็ได้รับการตอบสนองดี เพราะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรและสามารถดำเนินการได้ครบวงจร ทำให้รู้จักนำหลักทฤษฎีใหม่ไปใช้ในชุมชนก็ทำให้ขยายผลไปได้หลายจังหวัด นี่ก็เป็นสหกรณ์ภาคการเกษตรประเภทหนึ่งมีการมุ่งมั่นที่อยากให้ชุมชนหรือบริเวณนั้นเป็นสมาชิกสหกรณ์ จะเป็นอำเภอหรือตำบลก็ได้ คำว่า เมือง จะเป็นทั้งจังหวัดไม่ได้ เพียงแต่ใช้ชื่อเป็นเมืองสหกรณ์ ก็พยายามทำให้ชุมชนแห่งนั้นเป็นชุมชนเข้มแข็ง อันนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการเพื่อสนองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระองค์ทรงได้ให้ความสนใจตรงนี้อยู่ตลอดเวลา พระองค์ยังได้ทรงส่งเสริมอาชีพ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และให้เกษตรกรรวมตัวกันจัดตั้งเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ เพื่อให้สหกรณ์เป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับส่วนราชการเพื่อรับและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรแผนใหม่ร่วมไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตครอบครัวเกษตรกรในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น และส่งเสริมพัฒนางานสหกรณ์ โดยเน้นย้ำให้ราษฎรรู้จักนำหลักและวิธีการของสหกรณ์มาใช้ในการพัฒนาความเป็นอยู่ให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น และอยู่บนรากฐานของการช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักและวิธีการสหกรณ์ที่แท้จริง อีกส่วนหนึ่งทรงช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้ประกอบอาชีพตามแนว “เกษตรทฤษฎีใหม่” ซึ่งมี 3 ขั้นตอน โดยทฤษฎีขั้นที่ 2 คือ การส่งเสริมให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปแบบของสหกรณ์ ที่จะก่อให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน ทั้งในด้านการผลิต การตลาด ความเป็นอยู่ สวัสดิการ การศึกษา สังคม และศาสนา

 

              โครงการศูนย์การเรียนรู้ระบบสหกรณ์ ในพื้นที่ศูนย์สาธิตสหกรณ์โครงการหุบกระพง จังหวัดเพชรบุรี

กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีแนวคิดที่จะพัฒนาศูนย์สาธิตสหกรณ์ในโครงการหุบกระพงให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระบบสหกรณ์แห่งแรกในประเทศไทย โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ ปี 2548-2550 ได้จัดสร้างแบบจำลองบ้านหลังแรกของสมาชิกโครงการจัดพัฒนาที่ดินตามพระราชประสงค์หุบกระพง ซึ่งภายในจะมีการจัดนิทรรศการภาพถ่ายและข้อมูลเกี่ยวกับบ้านหลังแรกของสมาชิกโครงการหุบกระพง ซึ่งที่หุบกระพงจะมีการเริ่มต้นทุกอย่าง จะมีครบทุกอย่าง เริ่มต้นจากที่ดินทำกิน การประกอบอาชีพ การทำผลิตผลแปรรูปเองก็น่าจะเป็นศูนย์การเรียนรู้ได้ รวมๆ 2 หน่วยงาน เป็นศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีสหกรณ์ 2 ส่วน ก็เลยมีแนวคิดว่าจะใช้ศูนย์ที่เป็นพื้นที่โครงการหลวงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องสหกรณ์เริ่มแรกที่เรียนก็จะจัดพื้นที่ของส่วนราชการเอง จะเข้าไปสร้างบ้านเมื่อคนเข้าไปในจุดนี้ก็จะสามารถสื่อในส่วนต่างๆ ได้ภายในบ้านหลังนี้ ก็จะเห็นทิวทัศน์จากสภาพความเป็นมาของโครงการหุบกระพง ให้เข้าใจว่ามีผลิตภัณฑ์ทำอะไรบ้าง ถ้าได้เข้าไปเยี่ยมชมจะมีนิทรรศการต่างๆ ในบ้านหลังนี้ ส่วนอีกอาคารหนึ่งก็จะมีการนำพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไปประกอบอยู่นั่น ให้ดูภาพว่าพระองค์ทรงทำอะไร เหนื่อยแค่ไหน พัฒนาพื้นที่อิสราเอลให้ดีขึ้นมาได้ แล้วก็ยังมีห้องสมุดที่สามารถเรียกหาดูเรื่องของสหกรณ์ได้ มีพระราชดำรัสของพระเจ้าอยู่หัวในนั้นก็ทรงพูดไว้หลายครั้ง นอกจากนี้แล้ว ยังจัดพื้นที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชนชาวบ้านในโครงการหุบกระพง โดยผู้ที่เข้าไปเยี่ยมชมสามารถเข้าไปศึกษาดูสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกในพื้นที่อย่างใกล้ชิด และชมการสาธิตอาชีพของชาวบ้านในพื้นที่ เช่น การปลูกผักปลอดสารพิษ การปลูกป่านศรนารายณ์ และการทำผลิตภัณฑ์จากป่านศรนารายณ์ เป็นต้น

 

             โครงการตำบลสหกรณ์เฉลิมพระเกียรติ

เริ่มแรกท่านผู้ว่าฯ จังหวัดพัทลุง เป็นคนคิดขึ้นมา ท่านได้แนวคิดมา ไปพบประชาชนหมู่บ้านหนึ่งมีสมาชิกสหกรณ์เยอะ ก็เลยได้ไอเดียจะประกาศเป็นตำบลสหกรณ์ โดยมีหลักเกณฑ์ว่าจะต้องมีครัวเรือนในพื้นที่นั้นไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เป็นสมาชิกสหกรณ์อะไรก็ได้ กลุ่มออมทรัพย์หรืออะไรก็ได้มีการแบ่งปันทุนกัน คิดดอกเบี้ยถูกก็จะดูตรงนั้นรวบรวมองค์กรที่จะช่วยเหลือกันทำงานตรงนั้นได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ประกาศเป็นหมู่บ้านสหกรณ์ได้ หลังจากนั้นจึงได้มองว่าตั้งเป็นตำบลดีกว่า จะได้ดูใหญ่กว่านี้หน่อย เราต้องสร้างความเข้มแข็งให้ตำบลสหกรณ์ก่อนจะเริ่มทำงาน ประมาณ 3 ปี ให้เป็นตำบลสหกรณ์จริงๆ ก็คือ ทุกคนต้องมีอาชีพ จะเอาอำเภอละ 1 ตำบล หลังจากนั้นกรมส่งเสริมสหกรณ์จะประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินงานโครงการในแต่ละตำบลเพื่อดูศักยภาพและความพร้อมของแต่ละพื้นที่ก่อนที่จะประกาศให้ตำบลนั้นๆ เป็นตำบลสหกรณ์เฉลิมพระเกียรติ

กรมส่งเสริมสหกรณ์ มีแนวคิดที่จะเผยแพร่และขยายหลักและวิธีการสหกรณ์ไปตามชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยไม่แบ่งแยกว่า ที่นั้นๆ จะมีการจัดตั้งเป็นสหกรณ์แล้วหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนได้นำหลักและวิธีการสหกรณ์ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ให้ทุกคนได้ยึดแนวทางตามวิถีชีวิตแบบสหกรณ์ และรู้จักการพึ่งพาตัวเอง มีการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง

              โครงการสหกรณ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นับเป็นอีกโครงการหนึ่งที่จะช่วยพัฒนาชนบทให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ภายใต้ชีวิตที่พออยู่พอกิน