กรมทรัพย์สินฯ ลงพื้นที่สวน “มะยงชิด-มะปรางหวานนครนายก” ชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบความอร่อย

กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่สวน “มะยงชิด-มะปรางหวานนครนายก” ชมกระบวนการผลิตและตรวจสอบความอร่อย พร้อมผลักดันให้เป็นศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรและดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก่อนช่วยโปรโมตดึงนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมและซื้อสินค้าถึงในสวน เผยยังได้ไปตรวจสอบกล้วยหอมทองปทุม เพื่อผลักดันให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ต่อไป

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ลงพื้นที่แหล่งผลิตสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ของจังหวัดนครนายก ที่สวนนพรัตน์ อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เพื่อตรวจสอบกระบวนการผลิต พิสูจน์ความอร่อย และผลักดันแหล่งผลิตสินค้ามะยงชิดนครนายกและมะปรางหวานนครนายกให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตร และสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัด ก่อนผลักดันให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว เพื่อช่วยขยายโอกาสในการทำตลาดให้กับสินค้า GI และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

สำหรับสินค้ามะยงชิดนครนายกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI มีลักษณะเด่น คือ ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เม็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว มีค่าความหวาน 18 – 22 องศาบิกซ์ ส่วนมะปรางหวานนครนายก มีลักษณะผลใหญ่ยาวรี ปลายเรียวแหลม สีเหลืองทอง เปลือกบาง มีกลิ่นหอม รสชาติหวานกรอบ ค่าความหวานอยู่ในช่วง 16 ถึง 19 องศาบริกซ์สินค้าทั้ง 2 ประเภทปลูกในเขตพื้นที่อำเภอเมืองนครนายก อำเภอบ้านนา อำเภอปากพลี และอำเภอองครักษ์

นอกจากนี้ กรมฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกล้วยหอมทองปทุม ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และมีรสชาติความอร่อยไม่แพ้กล้วยหอมจากแหล่งอื่น โดยกรมฯ ได้เตรียมผลักดันสินค้ากล้วยหอมทองปทุมให้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI เพื่อควบคุมมาตรฐานการผลิตให้สามารถคงเอกลักษณ์ของสินค้าชนิดนี้ต่อไป

โดยลักษณะเด่นของกล้วยหอมทองปทุม คือ รูปทรงผลใหญ่ยาว หน้าตัดค่อนข้างกลม ปลายคอดเล็กน้อย เปลือกบาง ผิวนวล ผลดิบสีเขียวนวล ผลสุกสีเหลืองทองนวล เนื้อเหนียวแน่น ไม่มีเม็ด รสชาติหอมหวานมาก และมีค่าความหวานตั้งแต่ 16 องศาบริกซ์ขึ้นไป ปลูกในพื้นที่ทั้งจังหวัดปทุมธานี เดิมเป็นกล้วยที่นำพันธุ์มาจากจังหวัดเพชรบุรี โดยนำมาปลูกครั้งแรกเมื่อราวๆ 70 ปีก่อน ร่วมกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ และเริ่มเป็นที่นิยมปลูกมากช่วงปี พ.ศ.2540 โดยปลูกทดแทนส้มรังสิตที่มีผู้นิยมปลูกน้อยลง ด้วยความอุดมสมบูรณ์และชนิดของดินซึ่งเป็นดินเหนียวที่มีความเป็นกรด ลักษณะของพื้นที่ที่มีคลองชลประทานซึ่งมีน้ำตลอดทั้งปี และการปลูกพืชแบบร่องน้ำที่มีการนำเลนจากร่องคูน้ำมาทับบนแปลงปลูก จึงทำให้กล้วยหอมทองปทุมมีลักษณะผล เปลือก และรสชาติที่ดีแตกต่างจากกล้วยหอมพื้นที่อื่น จนเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์