พิษหมาบ้า-หวัดนก ถึงเวลายกเครื่อง สะสางปัญหา

พิษหมาบ้า-หวัดนก
ถึงเวลายกเครื่อง
สะสางปัญหา

จากปัญหาโรคระบาดจากสัตว์ ทั้งโรคพิษสุนัขบ้าที่ชัดเจนว่าปีนี้หนักกว่าปีก่อน เริ่มตั้งแต่พบสุนัขตายจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มขึ้น จนมีผู้ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสโรค และพบผู้เสียชีวิตที่มีการยืนยันเชื้อตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม รวม 7 คน ขณะที่ปี 2560 ทั้งปีมีคนเสียชีวิต 11 คน

แน่นอนว่าจากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่พบมากมาย นั่นเป็นเพราะปัญหาถูกสะสมมากว่า 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งเรื่ององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าในสัตว์ เพราะถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วง เนื่องจากเข้าข่ายทำงานซ้ำซ้อนภารกิจกับกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะเดียวกันก็พบปัญหาการจัดซื้อวัคซีนอีก รวมไปถึงการบริหารจัดการต่างๆ กระทั่งต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้

ไม่วายเรื่องพิษสุนัขบ้ายังไม่ทันคลี่คลาย ล่าสุด อาจารย์แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ออกมาเปิดเผยถึงกรณีการตายผิดปกติของสัตว์บก อย่างชะมด อีเห็น เสือปลา ฯลฯ ในสวนสัตว์ จ.นครราชสีมา ซึ่งระบุว่าเป็นการตายผิดปกติจากเชื้อไข้หวัดนกเอช 5 เอ็น 1 (H5N1)

กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมายว่าเป็นเรื่องลวงสร้างผลกระทบให้กับประเทศชาติ โดยเฉพาะการส่งออก จนกรมปศุสัตว์ออกมายืนยันว่าไม่เคยพบเชื้อดังกล่าว ขณะที่กรมควบคุมโรคออกมาระบุเพียงว่าเกิดขึ้นจริงเมื่อปี 2560 แต่จะเป็นเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ ต้องถามทางกรมปศุสัตว์ แต่แน่ๆ ไม่พบการติดเชื้อมายังคน

แต่เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวเมื่อเดือนกันยายน 2560 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาประกาศคุมเข้มโรคไข้หวัดนก 39 จังหวัด

จากกรณีที่เกิดขึ้นยังเป็นคำถามว่า สรุปข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และสิ่งที่ออกมาสะท้อนอะไรได้บ้าง แน่นอนว่าเรื่องนี้มีเหตุผลในการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อธิบายว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคไข้หวัดนก สะท้อนอย่างหนึ่ง นั่นคือ การทำงานควบคุมป้องกันโรคอย่างเป็นองค์รวม ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงคำว่า ONE HEALTH แต่ก็มีหลากหลายหน่วยงานมาก ทั้งระดับกระทรวง ทั้งมหาวิทยาลัย แต่จะเป็น ONE HEALTH หรือที่เรียกว่าการบูรณาการอย่างแท้จริงหรือไม่

ไม่ค่อยแน่ใจ เพราะจากสถานการณ์การควบคุมโรคระบาดที่ผ่านมา ทั้งโรคพิษสุนัขบ้า หรือแม้กระทั่งโรคไข้หวัดนก ที่ทางกรมปศุสัตว์ยืนยันว่าไม่เป็นความจริง ก็เห็นสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนว่ายังมีปัญหาเรื่องการจัดการในระดับพื้นที่อยู่ ดังนั้น คงต้องถึงเวลาหรือไม่ที่จะมีการปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ โดยมีหน่วยงานหรือคณะทำงานระดับชาติที่ทำงานด้านนี้อย่างรวดเร็ว

ปัญหาโรคระบาดจากสัตว์ เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังอย่างครบวงจร เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าทั้งสภาพภูมิศาสตร์ สภาพอากาศ ความแปรปรวนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากธรรมชาติ หรือจากน้ำมือของมนุษย์ก็ตาม ทั้งหมดมีส่วนให้เกิดปัญหาโรคระบาดขึ้น

ซึ่งข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า ร้อยละ 70 ของเชื้อโรคในมนุษย์เกิดจากสัตว์และแมลง ซึ่งตัวไวรัสเป็นตัวสำคัญ ยิ่งไวรัส RNA จะมีการปรับเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมอยู่เสมอ จนมีความสามารถในการเพิ่มประสิทธิภาพการติดเชื้อต่อสิ่งมีชีวิต และเมื่อติดเชื้อในสิ่งมีชีวิต หรือในสัตว์ก็จะมีการบ่มเพาะเชื้ออยู่ ซึ่งอาจแสดงอาการหรือไม่แสดงอาการก็ได้ ปัญหาคือ จะมีการถ่ายทอดเชื้อได้ทั้งในตระกูลเดียวกัน หรือข้ามตระกูล


ยกตัวอย่างค้างคาว มีเชื้อก็ถ่ายทอดข้ามตระกูลได้ไปยังหมู ช่วงแรกยังไม่แสดงอาการ เชื้อไม่ปรับเปลี่ยน แต่พอนานเข้าก็เริ่มปรับเปลี่ยนเชื้อ เหมือนในเชื้อไข้หวัดนก H5N1 เริ่มจากในนกป่า และค่อยไปแพร่ไปเป็ดไล่ทุ่ง ซึ่งยังไม่รุนแรง แต่มารุนแรงจนเป็ดไล่ทุ่งตาย มาจนถึงไก่และพบไก่ตาย

คีย์เวิร์ดสำคัญคือ เชื้อข้ามสายพันธุ์ได้ และอาจมีความรุนแรงขึ้นด้วย อย่างกรณีช่วงตรุษจีนที่ผ่านมาในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 ที่ประเทศจีนพบเชื้อไข้หวัดนก H7N4 ซึ่งขณะนั้นพบติดต่อสู่คน 2 คน

แน่นอนว่า ทางการจีนประกาศชัดพบเชื้อไข้หวัดนก ซึ่งคนจีนก็ไม่ได้ตื่นตระหนก แต่จะมีการระมัดระวังมากขึ้นในการสัมผัสไก่สด ซึ่งก็ควบคุมโรคได้ดีกว่าปิดแล้วสุดท้ายเกิดการระบาดไปทั่วจะส่งผลกระทบมากกว่า

หรือแม้แต่ในญี่ปุ่น เป็นต้นแบบที่ดีมา ทุกครั้งฟาร์มเลี้ยงไก่พบไก่ตายก็จะแจ้งทางการเพื่อให้มาทำลายทันที แต่เคยมีเคสหนึ่งเจ้าของเสียดาย ไม่แจ้ง ปรากฏว่าไข้หวัดนกระบาดไปทั่ว จนเจ้าของฟาร์มเกิดความเครียด และมองว่าเป็นความผิดของตัวเอง จนต้องฆ่าตัวตายŽ ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าว

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่อยากจะสื่อสาร คือ หากเรายอมรับและประกาศพื้นที่ควบคุม มีการสื่อสารความเสี่ยงในพื้นที่ มีความชัดเจนต่อการทำงานก็จะทำให้ทุกอย่างควบคุมได้อย่างแท้จริง ถือเป็นการสื่อสารสองทาง เมื่อทางการแจ้งต่อพื้นที่ และหากพื้นที่พบความผิดปกติก็รีบแจ้งทางการ การทำงานเชื่อมโยงกันทั้งระดับสูง ระดับกลาง ระดับพื้นที่ คำว่า ONE HEALTH ก็จะเกิดขึ้นได้

แต่ที่ผ่านมากลายเป็นว่าหน่วยงานที่ทำงานหนัก กลับเป็นกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องทำทุกวิถีทางในการป้องกันโรคจากสัตว์สู่คน เพราะหากติดต่อมายังคนเมื่อไหร่ ย่อมหมายถึงความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้อีก ตนทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขตลอด ทำให้ทราบดีว่าหากเราควบคุมโรคได้ตั้งแต่สาเหตุ คือ จากสัตว์จะป้องกันได้โดยภาพรวมอย่างแน่นอน

ความหวังจึงอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ที่จะมีการฟอร์มทีมเป็นสำนักงานมาตรฐานการจัดการสารสนเทศระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อทำงานภาพรวมด้านสาธารณสุขทั้งประเทศ

แน่นอนว่ารวมเรื่องการควบคุมโรคจากสัตว์สู่คน ซึ่งไม่ใช่แค่โรคพิษสุนัข แต่โรคจากสัตว์สู่คน การแพร่ระบาด การประกาศพื้นที่ การควบคุมโรคทั้งจากสัตว์ และในคน น่าจะประสานและเรียกหาข้อมูลต่างๆ ได้โดยเฉพาะประเด็นที่กลายเป็นปัญหาจนทุกวันนี้ อย่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ท้วงติงการใช้งบจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์ หรือปัญหาเรื่องคุณภาพวัคซีน การจัดซื้อวัคซีนที่ไม่ครบกับจำนวนสุนัขถึงราว 10 ล้านตัว

สิ่งเหล่านี้เมื่อเกิดปัญหาขึ้นก็ต้องมีระบบในการแก้ไขอย่างทันท่วงที ซึ่งหากมีเคสปัญหาเหล่านี้ขึ้นอีก ก็ควรมีหน่วยงานที่จะลงมาแก้ไขปัญหา หรือจัดการบูรณาการป้องกันปัญหาได้อย่างรวดเร็ว  อย่าลืมว่า โรคจากสัตว์สู่คน ไม่ใช่เรื่องนามธรรม เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนมีความเสี่ยงติดเชื้อได้ทุกคน