‘HATCH’ มจธ.โชว์นวัตกรรมดิจิทัลสุดล้ำ มุ่งคว้าชัยต่อต่างประเทศ

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่อาคารเคเอกซ์ ศูนย์ HATCH มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดงาน “pathway to digital innovation” เปิดตัวนักศึกษา มจธ.ที่ผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัลต่างๆ จากศูนย์ HATCH รวมถึงกิจกรรมเสวนาย่อย ในหัวข้อ “ภาคอุตสาหกรรมให้การสนับสนุนนวัตกรรมระดับนักศึกษาอย่างไร”

โดยมี รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล รองคณบดีฝ่ายพัฒนาการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, นายอรพงศ์ เทียนเงิน ประธานกรรมการ ธนาคารไทยพาณิชย์ ดิจิทัล เวนเจอร์ส, นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด, นางสาวชลธิชา นิลตระการกุล Marketing Communication Manager จาก G-ABLE, นพ.พีรุทย์ เชียรวิชัย อาจารย์คณะแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข วิทยาลัยวิทยาศาสตร์การแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และนายสัญญา จินดาประเสริฐ Digital Manager บริษัท เอสซีจี เคมิคอลล์ จำกัด ร่วมเสวนา

งานนี้มีนักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมาก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อเปิดตัวนักศึกษาจาก มจธ.ที่ผ่านเข้ารอบและได้รับรางวัลต่างๆ จากศูนย์ HATCH และแลกเปลี่ยนเพื่อการสนับสนุนและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ แบ่งทีมเป็น 2 หมวด คือ หมวด “สตาร์ตอัพดาวเด่น” มีทีมดังต่อไปนี้

1.B connex จัดทำรังผึ้งอัจฉริยะ เนื่องจากปัญหาในปัจจุบันที่ “ผึ้ง” สัตว์สำคัญกับการเกษตรและผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติได้ตายลงจำนวนมาก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้สร้างรังผึ้งอัจฉริยะ สามารถแจ้งเตือนความผิดปกติในรังผึ้งผ่านเซ็นเซอร์ติดตั้งในกล่องเลี้ยงผึ้งโดยจะนำข้อมูลเสียงของผึ้งไปวิเคราะห์แล้วส่งข้อความผ่านไลน์ เพื่อทำให้การเลี้ยงผึ้งง่ายขึ้น

2.HPChat ระบบสนทนาอัตโนมัติที่ช่วยลดภาระเจ้าหน้าที่ในการตอบคำถามและให้ข้อมูลผู้ใช้บริการโรงพยาบาล ในเรื่องเวลาทำการ เบอร์โทรศัพท์ สิทธิการรักษา ราคาค่าใช้บริการ วิเคราะห์คิวการใช้บริการ และการนำทางภายในโรงพยาบาล

3.D’GUARDIAN ระบบตรวจจับการล้มของผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยใช้เทคโนโลยี Machine Learning และ Deep Learning เพื่อแจ้งเตือนผู้ดูแลทันทีผ่านทางโทรศัพท์และข้อความ

4.BOTTHERAPIST Bliss เพื่อนหุ่นยนต์ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเรียนรู้ให้เด็กออทิสติก ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างเด็กและผู้สอน พร้อมทั้งเกมสำหรับส่งเสริมพัฒนาการเด็ก

5.INSPECTRA ระบบตรวจจับสสารด้วยวิธีการหลอมรวมภาพถ่ายเชิงสเปกตรัม เพื่อหาความน่าจะเป็นที่จะเกิดความรั่วไหลของแก๊สหรือสารเคมีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า พร้อมทั้งแจ้งเจ้าหน้าที่ผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นให้แก้ไขได้ทันท่วงที

ส่วนหมวด “สตาร์ตอัพดาวรุ่ง” ประกอบด้วยทีม 1.Plantopia จัดทำสื่อการเรียนรู้การปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ผ่านแอพพลิเคชั่นเกมปลูกผักที่เชื่อมต่อกับกระถางที่ผู้เล่นจะได้สนุกพร้อมกับการลงมือทำจริง

2.ที-ทู-เอ นำเสนอแพลตฟอร์มสำหรับตรวจสอบสถานะพิกัดและสภาพแวดล้อมของสินค้าระหว่างการขนส่ง วิเคราะห์เมื่อสินค้าเกิดความเสียหายด้วยการวิเคราะห์ข้อมูล และแจ้งเตือนเมื่อมีปัญหา

3.Vcare แพลตฟอร์มดูแลเครื่องยนต์ที่นำเสนอข้อมูลในช่วงเวลาต่างๆ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถรู้สถานะรถยนต์ของตัวเอง จะได้รับแจ้งเตือนเมื่อรถยนต์มีโอกาสเกิดความเสียหาย

4.VC4U ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนการหลับในของผู้ขับขี่และวัตถุบนท้องถนน โดยอาศัยกล้องวิดีโอ 2 ตัวบนรถติดในรถยนต์ โดยกล้องตัวแรกจะจับภาพดวงตาของผู้ขับและนำมาวิเคราะห์ ส่วนกล้องอีกตัวสำหรับจับภาพหน้ารถเพื่อตรวจจับภาพสิ่งของ สิ่งมีชีวิต เพื่อลดอัตราเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ

5.AZY แพลตฟอร์มช่วยหาแม่บ้านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ โดยมีจุเด่นที่การเปรียบเทียบค่าบริการและคุณภาพที่วัดผลได้

6.ชัชวาล ระบบวิเคราะห์สตรีมมิงวิดีโออัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์และเข้าใจสิ่งต่างๆ ภายในบ้าน

7.สดใส ระบบช่วยเหลือผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผ่านแชตแพลตฟอร์ม โดยมี bot ชื่อน้องสดใส คอยช่วยเหลือเมื่อผู้ป่วยมีอาการเครียด

8.Cityboy Pcth Project ตอบโจทย์การพัฒนาวงการสตรีทแฟชั่นไทย โดยเริ่มจากปัญหาของช่องว่างการซื้อขายไอเท็มแฟชั่นผ่านการสั่งซื้อล่วงหน้า จึงพัฒนา Pcth Project เพื่อให้ผู้ซื้อและผู้ขายใช้แพลตฟอร์มในการหาไอเท็มและผู้ซื้อได้

และ 9.PLEARN.IO สังคมออนไลน์รูปแบบใหม่ เพื่อการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผ่านแอพพ์เกมออนไลน์ ช่วยส่งเสริมกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในชีวิตประจำวันได้

นายอรพงศ์กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น ทางธนาคารไทยพาณิชย์ต้องการจะส่งเสริมในการทำธุรกิจ ส่งเสริมสตาร์ตอัพไทย โดยเฉพาะปัจจุบันในทางเทคโนโลยี และการต่อยอดร่วมงาน

นางสาวศิริพรกล่าวว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยให้การสนับสนุนซอฟต์แวร์กับสถาบันการเรียน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ จัดการแข่งขันซอฟต์แวร์ระดับโลก สนับสนุนโปรแกรมเริ่มต้นสำหรับสตาร์ตอัพ และร่วมมือกับสตาร์ตอัพเพื่อเข้าโครงการ Go to market เพื่อขยายไปยังฐานลูกค้าของไมโครซอฟท์ต่อไป

นายสัญญากล่าวว่า ทางเอสซีจีเคมิคอลสนับสนุนความปลอดภัยและให้โอกาสในทางคิดค้น ให้คำปรึกษากับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

นพ.พีรุทย์กล่าวว่า โรงพยาบาลจุฬาภรณ์รู้สึกดีใจที่ทาง มจธ.ได้ร่วมกับโรงพยาบาลในความร่วมมือทางสุขภาพหรือนวัตกรรมใหม่

นางสาวชลธิชากล่าวว่า ให้การสนับสนุนกับ มจธ.ในการสนับสนุนเงินทุน และการปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพของนักศึกษา จนได้ไปแข่งขันที่ต่างประเทศ ทั้งนี้ ผลงานนักศึกษาส่วนมากเป็นชิ้นงานที่ได้รับรางวัลในปีที่ผ่านมาจากหลายๆ เวที เช่น NSC (National Software Contest), Microsoft Imagine Cup, Startup Thailand League ตลอดจนนักศึกษาบางทีมจะนำผลงานนวัตกรรมไปแข่งขันต่อยังต่างประเทศด้วย