กรมชลประทานเดินหน้าขยายผลบางระกำโมเดลปีที่ 2

กรมชลประทาน ขยายผลเพิ่มพื้นที่ดำเนินโครงการบางระกำโมเดลต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ตามนโยบายของนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ฤกษ์ปล่อยน้ำทำนาปี เริ่มเพาะปลูก 1 เม.ย.นี้ หลังประสบผลสำเร็จในปีที่ผ่านมา ข้าวนาปีไม่ได้รับความเสียหาย ชาวบ้านมีรายได้เสริม และยังใช้เป็นแก้มลิงธรรมชาติตัดยอดน้ำได้มากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยป้องกันและบรรเทาน้ำท่วมเมืองสุโขทัยและลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง

เมื่อวันท่ี่ 31 มี.ค.61  นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปร่วมประชุมชี้แจงการดำเนินโครงการบางระกำโมเดลปี 2561 และการบริหารจัดการน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกข้าวฤดูนาปี พื้นที่ลุ่มต่ำในเขตชลประทาน ปี 2561  ณ สำนักงานชลประทานที่ 3 จ.พิษณุโลก

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า โครงการบางระกำโมเดลปี 2560  ประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจในปีที่ผ่านมา เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด โดยไม่ได้รับความเสียหายใดๆ และในช่วงน้ำหลากยังสามารถใช้พื้นที่เป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำ ลดความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในเมืองสุโขทัยพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

ในปี 2561 นี้ ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานขยายพื้นที่โครงการฯเพิ่มขึ้นจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ ทำให้รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร จากเดิมรับน้ำได้เพียง 400 ล้านลูกบาศก์เมตร พร้อมกับให้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ในปีนี้ให้เร็วขึ้นเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2561

ด้าน ดร.ทองเปลว  กองจันทร์  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการบางระกำโมเดล 60 เกิดขึ้นเนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นซ้ำซากในพื้นที่จ.สุโขทัยและพิษณุโลก เมื่อในปี 2559 พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้น ได้มอบนโยบายให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกันในรูปแบบประชารัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

กรมชลประทาน ได้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวนาปี ในพื้นที่ลุ่มต่ำเขตชลประทานให้เร็วขึ้น จากเดิมที่เคยปลูกในเดือนพฤษภาคมมาเป็นเดือนเมษายน เพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ภายในเดือนกรกฎาคม หลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะได้รับจากอุทกภัย และยังใช้พื้นที่นาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นแก้มลิงธรรมชาติรองรับน้ำในฤดูน้ำหลากได้อีกด้วย

กรณีกรมชลประทานได้ปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปีของพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำให้เร็วขึ้น โดย เริ่มเพาะปลูกตั้งแต่ 1 เมษายน 2560 ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย 265,000 ไร่ ในเขตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายมน่าน  โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพลายชุมพล และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนนเรศวร โดยเกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ทั้งหมด โดยไม่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัย

หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ กรมชลประทาน ได้ใช้พื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ เป็นพื้นที่หน่วงน้ำรองรับปริมาณน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสาขา ตลอดจนปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่  สามารถนำน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ในทุ่งบางระกำและช่วยตัดยอดปริมาณน้ำได้ประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร

พร้อมกับควบคุมระดับน้ำไม่ให้กระทบต่อเส้นทางสัญจรหลักของราษฎร ช่วยลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ชุมชน และพื้นที่เศรษฐกิจของจังหวัดสุโขทัย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในระหว่างที่กักเก็บน้ำไว้ในทุ่งบางระกำ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้บูรณาการการส่งเสริมอาชีพ โดยนำพันธุ์ปลามาปล่อยลงในทุ่ง ให้เกษตรกรมีอาชีพเสริมในการทำประมง และยังส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตจากปลา และผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกรและชุมชน ในช่วงฤดูน้ำหลากได้ถึงวันละ 300 – 500 บาทต่อครัวเรือน

ต่อมาเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย จึงได้เริ่มระบายน้ำออกจากทุ่งบางระกำ โดยได้คงปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้ในทุ่ง สำหรับให้เกษตรกรใช้ในการเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 (นาปรัง)

“ความสำเร็จของโครงการบางระกำโมเดล 60 ทำให้เกษตรกรสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ทันก่อนฤดูน้ำหลากมีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถปรับตัวและดำรงชีพได้ตามวิถีชีวิตที่อยู่กับน้ำ จับสัตว์น้ำทำการประมงในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้มีรายได้เสริม อีกทั้งยังช่วยป้องกันและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ชุมชนเมืองและสถานที่ราชการของจังหวัดสุโขทัย รวมทั้งช่วยหน่วงน้ำไว้ไม่ให้ลงไปกระทบกับพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง จากความสำคัญดังกล่าว กรมชลประทานจึงได้บูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายผลโครงการพื้นที่ลุ่มต่ำทุ่งบางระกำ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยการปรับเปลี่ยนปฏิทินการเพาะปลูกข้าวนาปี ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 เมษายน 2561 ซึ่งกรมชลประทาน ได้เริ่มส่งน้ำเข้าไปในระบบชลประทานเตรียมพร้อมไว้ให้แล้ว ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2561 เป็นต้นมา พร้อมกันนี้ ได้ขยายพื้นที่โครงการฯเพิ่มขึ้นจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ สามารถรองรับปริมาณน้ำหลากได้มากขึ้น จากเดิม 400 เป็น 550 ล้านลูกบาศก์เมตร”  อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวปิดท้าย