กษ.จัดงานสถาปนาปีที่ 126 ‘กฤษฎา’ลุย นโยบายต่อ-เติม-แต่ง ชูตลาดนำการผลิต ยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตร

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จัดงานวันสถาปนาครบรอบปีที่ 126 ตรงกับ 1 เม.ย. เดินทัพขับเคลื่อนภายใต้หลัก 3 ต. “ต่อ เติม แต่ง” ใช้การตลาดนำการผลิต ยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตร พร้อมผนึกกำลังในระดับจังหวัด หนุนการปฏิบัติงานของบุคลากรในพื้นที่ให้บูรณาการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง

เมื่อวันที่ 1 เมษายน เป็นวันสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์เนื่องในโอกาสครบ 126 ปี ซึ่งในปีนี้ เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00 น. โดยนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำพิธีสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ ศาลพระภูมิ ท้าวเวสสุวัณ ศาลตา – ยาย องค์พระพิรุณทรงนาค และองค์พระพิรุณทรงนาคในพิพิธภัณฑ์ จากนั้นได้เป็นประธานในพิธีสงฆ์ โดยได้ถวายภัตตาหาร และจตุปัจจัยเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์

อนึ่ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับการสถาปนาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2435 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการเปลี่ยนแปลงชื่ออย่างต่อเนื่อง จากกระทรวงเกษตรพนิชการ มาเป็นกระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตรพาณิชยการ กระทรวงเศรษฐการ กระทรวงเกษตราธิการ กระทรวงเกษตร จนมาสู่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ “เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ประชาชนมีความมั่นคงด้านอาหารเป็นฐานสร้างรายได้ให้แผ่นดิน” ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่มีประสิทธิภาพ เสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารและพลังงานอย่างเหมาะสม และยั่งยืน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด และมีมาตรฐานปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ

ส่งเสริมให้มีการจัดสรรทรัพยากรการผลิตทางการเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานการเกษตรอย่างพอเพียง มีประสิทธิภาพยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งส่งเสริมให้มีการวิจัย พัฒนา และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสมโดยมีส่วนราชการในสังกัด จำนวน 22 หน่วยงาน

ประกอบด้วย สำนักงานปลัดกระทรวง กรมชลประทาน กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมการข้าว กรมหม่อนไหม และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร และการยางแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาและวิจัยการเกษตร สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง และสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

Advertisement

Advertisement

นายกฤษฎาเปิดเผยว่า รัฐบาลมียุทธศาสตร์ด้านการเกษตรกำหนดเป้าหมายของการปฏิรูป คือ การยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง และหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ตามแผนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการทำงานโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรเป็นหลัก บำบัดทุกข์บำรุงสุขให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง

ซึ่งปัจจุบันได้ติดตามและเร่งขับเคลื่อนโครงการสำคัญ เพื่อดูแลเกษตรกรให้มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อาทิ โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ โครงการศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร โครงการเกษตรอินทรีย์ โครงการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาเกษตรกรสู่ Smart Farmer ธนาคารสินค้าเกษตร การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice)รวมถึงกำลังจะสร้างระบบฐานข้อมูลด้านการเกษตร (Big Data on Agricultural) เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการเกษตรมีความถูกต้อง แม่นยำ

ซึ่งการดำเนินงานจะขับเคลื่อนภายใต้หลัก 3 ต ประกอบด้วย “ต่อ เติม แต่ง” คือ เปิดกว้าง รับฟัง นำสิ่งที่ดีมาปรับปรุงพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น และการใช้การตลาดนำการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ สามารถลดต้นทุนและยกระดับการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ขายได้ราคาดีและมีตลาดรองรับ

ทั้งนี้ การดำเนินงาน จะผนึกกำลังในระดับจังหวัด ส่งเสริมการปฏิบัติงานของบุคลากรในพื้นที่ให้สามารถบูรณาการทำงานร่วมกันได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้ ได้ปรับขั้นตอนการปฏิบัติทางราชการให้เกิดความคล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง บนหลักความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

สำหรับนโยบายที่สำคัญในปี 2561 ได้แก่ (1) ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) 882 ศูนย์ และพัฒนาศูนย์เครือข่าย มีเป้าหมายรักษามาตรฐานและพัฒนา ศพก. และศูนย์เครือข่ายให้เข้มแข็ง เพิ่มบทบาทของ ศพก.ในการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

(2) แปลงใหญ่ มีเป้าหมาย 1,838 แปลง (3) Agri-Map มีเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสม (N) ไปสู่พื้นที่เหมาะสม (S1,S2,S3) 300,000 ไร่ (4) เกษตรอินทรีย์ เพื่อยกระดับคุณภาพมาตรฐาน มีเป้าหมาย 211,219 ไร่ (5) ธนาคารสินค้าเกษตร เพิ่มขึ้นเป็น 155 แห่ง (6) เกษตรทฤษฎีใหม่ (7) ระบบส่งน้ำ/กระจายน้ำ พื้นที่ชลประทาน มีเป้าหมาย 31.95 ล้านไร่ และมีปริมาณน้ำเก็บกัก 80,833 ล้าน ลบ.ม เกษตรกรได้รับประโยชน์ 1.60 ครัวเรือน (8) แผนการผลิตข้าวครบวงจร

(9) การจัดการที่ทำกินให้เกษตรกร ยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก. สร้างระบบสาธารณูปโภคโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตรเพื่อส่งมอบให้เกษตรกร (10) จัดตั้งตลาดสินค้าเกษตร 10 แห่ง ภายใน เม.ย.60 เป้าหมาย 77 แห่ง ภายในปี 2561 (11) พัฒนายกระดับความเข้มแข็งของสหกรณ์ 7,000 แห่ง ในปี 2560 ความเข้มแข็งของสหกรณ์ระดับ 1 และ 2 ร้อยละ 90 (12) พัฒนาข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ให้เป็น Smart Officer เป้าหมาย 2,000 คน (13) Smart Farmer กำหนดเป้าหมายเกษตรกรในวัยแรงงาน (อายุ 18-64 ปี) เป็น Smart Farmer 44,306 ราย และ (14) ปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ