เอกชนเมินเขตศก.พิเศษชายแดน 3 ปี ยอดขอลงทุนไม่ถึงหมื่นล้าน จี้หอค้า-ส.อ.ท.เร่งทำแผนพีอาร์

เขต ศก.พิเศษชายแดนหงอย 3 ปี เอกชนขอลงทุนไม่ถึงหมื่นล้าน “อุตตม” แก้เกมเร่งหอการค้า- ส.อ.ท.ทำแผนตลาด-พีอาร์กู้วิกฤตเสนอ กนพ.อนุมัติ เล็งพ่วงโรดโชว์บีโอไอกระตุ้นคำขอ

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ ภายใต้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าได้มอบหมายให้ภาคเอกชนคือหอการค้าแห่งประเทศไทยและสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ร่วมกับภาครัฐจัดทำแผนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์เร่งทำรายชื่ออุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะดำเนินการใน 10 เขตเศรษฐกิจชายแดน และให้ประสานผู้ที่ต้องการลงทุนตลอดจนพันธมิตรในการลงทุนและจัดทำรายชื่อมาเสนอคณะอนุกรรมการอีกครั้ง เพื่อให้จัดทำมาตรการสนับสนุนในด้านต่างๆ ให้กับผู้ลงทุน และเสนอเข้าสู่ กนพ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

“ได้ให้เอกชนทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและ ส.อ.ท.จัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ รวมทั้งประเภทอุตสาหกรรมและผู้สนใจลงทุนในแต่ละพื้นที่ของ 10 เขตเศรษฐกิจพิเศษ เพราะหากภาครัฐกำหนดอาจไม่สามารถลงลึกได้เมื่อเทียบกับเอกชนแสดงความต้องการเข้ามาเอง และหลังจากนี้คณะอนุกรรมการจะนำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ไปทำเป็นแผนปฏิบัติการพ่วงกับแผนชักจูงการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ” นายอุตตม กล่าว

นายอุตตม กล่าวว่า นอกจากนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ ยังสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงมหาดไทย ร่วมเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนทั้ง 10 แห่ง รวมทั้งนายกรัฐมนตรียังให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนในสมาร์ตซิตี้ใน 7 พื้นที่ทั่วประเทศ และให้จัดทำแผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ควบคู่ไปด้วย

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า เบื้องต้นอุตสาหกรรมที่เหมาะสมกับใน 10 เขตเศรษฐกิจ อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี เน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย เน้นการค้าและโลจิสติกส์ จังหวัดตาก เน้นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นจังหวัดตราด เน้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จังหวัดนครพนม เน้น      โลจิสติกส์ จังหวัดนราธิวาส เน้นการค้าชายแดน จังหวัดมุกดาหาร เน้นโลจิสติกส์ จังหวัดสงขลา เน้นอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จังหวัดสระแก้ว เน้นอุตสาหกรรมแปรรูป และ จังหวัดหนองคาย เน้นศูนย์การค้า

รายงานข่าวกล่าวด้วยว่า ในส่วนของการลงทุนและการขอรับการส่งเสริมการลงทุนกับบีโอไอ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2561 มีผู้ขอรับการลงทุนจำนวน 51 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 8,955 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติแล้ว 45 โครงการ เงินลงทุนรวม 8,338 ล้านบาท กระจายลงทุนในหลายจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ยกเว้น จังหวัดนครพนม และ จังหวัดนราธิวาส ยังไม่มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน

ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน