นนทบุรี ขานรับยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์รัฐบาล ภายใต้กรมส่งเสริมการเกษตร กำหนดกรอบ3 ด้าน ดำเนินการเกษตรอินทรีย์

ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ปิ๊ง!!!! ไอเดีย นำข้อดีด้านทรัพยากรในจังหวัดและวิถีประชากรที่เป็นเกษตรกรรม ต่อยอดยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ของรัฐบาล จัดโครงการพัฒนาการผลิตและการตลาดพืชผักปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นถ่ายทอดความรู้ นำผู้เชี่ยวชาญสร้างเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

นายภานุ แย้มศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการพัฒนาการผลิตและการตลาดพืชผักปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ณ ที่ทำการกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตผักปลอดสารพิษเพื่อการส่งออก อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรีว่า ภายในปี 2564 รัฐบาลมีเป้าหมายเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ในประเทศให้เป็น 600,000 ไร่ ตามยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564

จังหวัดนนทบุรีได้เล็งเห็นความสำคัญ โดยนำยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์ฯ ดังกล่าว มาต่อยอดด้วยการสนับสนุน และสร้างเกษตรกรให้หันมาทำเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ผ่านการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย อาทิ เกษตรกร ผู้เชี่ยวชาญ ปราชญ์ชาวบ้านและศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร

สำหรับการขับเคลื่อนการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์นั้น จังหวัดนนทบุรี กำหนดกรอบการทำงานไว้ 3 ด้าน ได้แก่ การสร้างแรงจูงใจเพื่อปรับเปลี่ยนเข้าสู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ การสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อจูงใจการผลิตตลอดจนการส่งเสริมด้านการตลาดให้สินค้าเกษตรอินทรีย์ไปสู่ผู้บริโภคได้โดยตรง นอกจากนั้น ยังส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์ทดแทนสารเคมีให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และวิถีของประชากรที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมของนนทบุรี ในพื้นที่ที่สามารถผลิตผักทั้งหมดของจังหวัดนนทบุรี จำนวน 2,253 ไร่ จึงเป็นโอกาสที่จะสร้างแหล่งผลิตอาหารใกล้ชุมชนเมือง โดยดึงจุดแข็งคือ การผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเริ่มตั้งแต่ต้นน้ำคือ ตัวเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิต กลางน้ำคือ ขั้นตอนการผลิต ไปถึงปลายน้ำคือ ผู้บริโภค ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเรื่องนี้ เกษตรอินทรีย์แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เราเชื่อว่าหากทุกฝ่ายร่วมมือก็จะทำให้ยุทธศาสตร์เกษตรอินทรีย์เป็นไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน” ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี กล่าว

ด้าน นายสมนึก ศรีเที่ยงตรง เกษตรจังหวัดนนทบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน จึงมีการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมด้านเกษตรอินทรีย์ครั้งที่ 1 ด้วยการคัดเลือกเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี จำนวน 100 ราย เข้ารับการอบรมกระบวนการด้านเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร

โดยจะมีการประเมินผู้ร่วมการอบรมว่าอย่างน้อย ร้อยละ 80 จะต้องมีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตและการตลาดพืชปลอดภัยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (การผลิตพืชผักเกษตรอินทรีย์) และร้อยละ 60 จะต้องมีคุณสมบัติเพื่อยื่นการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ได้ ซึ่งจะมีการติดตามความคืบหน้าการผลิตด้านเกษตรอินทรีย์ของเกษตรกรที่เข้ารับการอบรมทุกคน

และผู้ที่ผ่านการอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของการอบรมคือ การสร้างเครือข่ายการผลิตและการตลาดพืชผักปลอดภัยที่เพิ่มขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่สูงขึ้น เนื่องจากผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่สินค้าสุขภาพ มีแนวโน้มได้รับความนิยมสูงขึ้น แม้มีราคาสูงกว่าผลผลิตทางการเกษตรทั่วไปก็ตาม