ที่มา | เทคโนโลยีเกษตร |
---|---|
ผู้เขียน | องอาจ ตัณฑวณิช |
เผยแพร่ |
จังหวัดกระบี่มีชายหาดและเกาะแก่งมากมายที่เป็นสถานที่นิยมของนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวบ้านเราเองหรือนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกหรือแม้แต่ชาวจีนโพ้นทะเล แต่ละปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาชมความงามของชายฝั่งทะเลอันดามันของจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่กันปีละหลายล้านคน ซึ่งหมายถึงจำนวนเม็ดเงินที่นักท่องเที่ยวนำมาจับจ่ายใช้สอยอีกจำนวนมาก รายได้ส่วนใหญ่ของ 3 จังหวัดนี้ จึงมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับแรก
นอกจากความสวยงามของธรรมชาติทางทะเลแล้ว ความเป็นธรรมชาติของเรือกสวนไร่นาของจังหวัดกระบี่ก็ยังมีความเป็นธรรมชาติของท้องถิ่นให้ดูอีกด้วย เรามีโอกาสได้ไปดูความงามตามวิถีความเป็นอยู่จากหน้าเมืองโดยจะต้องข้ามเรือเพราะเป็นเกาะที่ห่างจากแผ่นดินใหญ่ประมาณ 200 กว่าเมตรเท่านั้น มาย้อนดูวิถีชีวิตแบบชุมชนเก่าของบ้านเกาะกลาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่
อยู่ร่วมกันอย่างสันติ
ชุมชนบ้านกลางเป็นหมู่บ้านในตำบลคลองประสงค์ที่มีพื้นที่ลุ่มพอที่จะปลูกข้าวนาได้ เดิมก็ได้ปลูกข้าวเพื่อบริโภคภายในชุมชนอยู่แล้ว ด้วยวิถีชีวิตชาวบ้านสมัยก่อนที่ไม่ได้ใช้สารเคมีในการปลูก
คุณประวัติ คลองรั้ว ประธานกลุ่มชาวนาตำบลคลองประสงค์ เล่าให้ฟังว่า “มีการอพยพมาอยู่ที่นี่ประมาณ 200 ปีแล้ว ปู่ของแม่เล่าให้ฟังว่า ปู่เป็นชาวมุสลิมมาจากรัฐไทรบุรี (ก่อนนี้รัฐไทรบุรีเป็นดินแดนหนึ่งของไทย ปัจจุบันอยู่ในประเทศมาเลเซีย) มีชาวพุทธไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ มาจากจังหวัดเพชรบุรีและประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นชาวประมง ส่วนพวกเราทำนา อยู่กันอย่างพึ่งพาอาศัยกัน มีการแลกข้าวกับปลาซึ่งเป็นผลผลิตของแต่ละคน” ปัจจุบันชาวไทยพุทธไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเพราะมีการย้ายรกรากไปอยู่บนฝั่งเมื่อมีครอบครัว แต่ชาวไทยมุสลิมของคลองประสงค์ยังอยู่ที่เดิมและขยายครอบครัวกันในผืนดินแห่งนี้ ด้วยความรักและผูกพันในเกาะเดิม
การทำนาเพื่อปลูกข้าวไว้กินเองจึงเป็นเรื่องราววิถีชีวิตของที่นี่ พร้อมๆ กับการทำประมงเพื่อหารายได้ ในช่วงก่อนข้าวที่ได้มีราคาถูกมาก ถ้าเราเอาข้าวไปแลกกับสิ่งอื่นหรือไปขายจะได้ไม่คุ้มกับการยังชีพ จึงมีคำกล่าวของชาวบ้านที่นี่ว่า “ทำงานเอาเงินซื้อสารดีกว่า” (สารหมายถึงข้าวสาร) ความหมายคือทำงานแล้วเอาเงินมาซื้อข้าวกินดีกว่า เพราะทำงานอย่างอื่นได้เงินมากกว่า การทำนาจึงลดน้อยลงและบ้างก็ใช้ที่นาในการปลูกพืชอย่างอื่น ต่อมา 10 กว่าปีให้หลัง ทางราชการโดยกรมส่งเสริมการเกษตร เข้ามาส่งเสริมให้ปลูกข้าวเพื่อกินกันเองในชุมชน พื้นที่ปลูกข้าวจึงขยายกลับมามากขึ้นกว่าเดิม
พันธุ์ข้าวเดิมไม่เหมาะกับดินฟ้าอากาศที่เปลี่ยนไป
จากพันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่ชาวบ้านเก็บไว้คือ ข้าวนางพญา ข้าวลูกหมี ข้าวยาคู ซึ่งเป็นข้าวพันธุ์หนักต้องใช้เวลาในการปลูกจนถึงเก็บเกี่ยวผลผลิตนาน 6 เดือน และผลผลิตต่อไร่ก็ได้จำนวนไม่มาก ราคาก็สู้ข้าวจากภาคอื่นไม่ได้ เมื่อกรมส่งเสริมการเกษตรได้นำเกษตรกรที่นี่ไปอบรมเรื่องการปลูกข้าวสังข์หยดของจังหวัดพัทลุง จึงมีการปรับเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์ข้าวเดิมมาเป็นพันธุ์ข้าวสังข์หยด จนกระทั่งในปัจจุบันชาวนาที่นี่เลือกปลูกแต่ข้าวพันธุ์สังข์หยดเพียงอย่างเดียว
คุณประวัติ กล่าวว่า เนื่องจากปริมาณฝนและช่วงเวลาเปลี่ยนแปลงไป ถ้าใช้พันธุ์ข้าวเดิมปลูกซึ่งเป็นพันธุ์หนักจะต้องใช้เวลาถึง 6 เดือนในการเก็บเกี่ยว ช่วงข้าวใกล้เก็บเกี่ยวถ้าเกิดน้ำท่วมจะทำให้ข้าวเสียหายเพราะในระยะออกรวงถึงเก็บเกี่ยวก็จะนานทำให้เสี่ยงต่อที่ผลผลิตจะเสียหาย แต่เมื่อเปลี่ยนจากเป็นพันธุ์ข้าวสังข์หยดซึ่งเป็นข้าวเบาใช้เวลาแค่ 4 เดือน ความเสี่ยงก็น้อยลงไป เนื่องจากระยะเวลาจนถึงเวลาเก็บเกี่ยวสั้น อีกอย่างหนึ่งที่เป็นแรงจูงใจเนื่องจากราคาขายข้าวสังข์หยดแพงกว่าข้าวพันธุ์อื่น ตอนอาหารมื้อเที่ยงผู้เขียนได้มีโอกาสกินข้าวสังข์หยดที่ร้านอาหารบนเกาะ พบว่าข้าวสังข์หยดที่นี่นุ่มและมีกลิ่นหอมคล้ายข้าวเม่า ไม่เหมือนกันข้าวสังข์หยดที่ปลูกในจังหวัดอื่น
กลุ่มชาวนาของตำบลคลองประสงค์มีสมาชิกอยู่จำนวน 50 ราย แบ่งเป็นทำนาแบบอินทรีย์ได้รับการรับรองแล้ว 10 ราย ไม่ต้องการรับรอง 40 ราย จากจำนวนพื้นที่นาของกลุ่มทั้งหมด 300 กว่าไร่ และเป็นแปลงนาอินทรีย์ประมาณไม่ถึง 100 ไร่ ส่วนที่เหลือ 200 กว่าไร่ ทำนาแบบธรรมชาติตามวิถีชีวิตแบบเก่า ไม่ได้ใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมีเช่นกัน แต่ไม่ต้องการรับรองเนื่องจากมีความยุ่งยากในการทำเอกสาร นาอินทรีย์ของที่นี่แปลงใหญ่สุดมีขนาด 8 ไร่ และเล็กสุดประมาณ 2 ไร่ ส่วนใหญ่ชาวนาของที่นาทั้งหมดปลูกไว้กินก่อน ส่วนที่เหลือจึงนำมาขาย
ทำนาดีกว่าซื้อสาร
จากคำกล่าวที่ว่า “ทำงานเอาเงินซื้อสารดีกว่า” ของชาวบ้านที่นี่ ตามที่ขายข้าวสารได้ในราคาแพง สืบเนื่องจากความอร่อยของข้าวและเป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้คำกล่าวนี้หายไป เป็นคำใหม่ว่า “ทำนาดีกว่าซื้อสาร” เนื่องจากข้าวสารสังข์หยดที่ปลูกกันในเกาะมีราคาแพงจึงต้องทำนากันเอง และเมื่อเหลือกินแล้วยังสามารถขายได้ราคาแพงอีกด้วย จริงแล้วบนชุมชนนี้ยังมีพื้นที่นาอีกประมาณ 300 กว่าไร่ของชาวบ้านนอกกลุ่ม ซึ่งมีพื้นที่เท่ากับที่นาของคนในกลุ่ม พื้นนาจริงๆ รวมกันแล้วในชุมชนนี้จึงมีประมาณ 700 ไร่
การทำนาของที่นี่เป็นแบบวิถีธรรมชาติตามแบบเก่าที่หลังจากเก็บเกี่ยวแล้วก็จะปล่อยให้ควายซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงอนุรักษ์ของเกาะเข้ามากิน ถ่ายใส่ ย่ำแปลงนา ตามแบบวิถีชาวบ้านเก่าๆ ควายที่นี่ไม่ได้เลี้ยงไว้ใช้งาน แต่เลี้ยงสัตว์เลี้ยงไว้ขายเป็นตัว เมื่อมีขนาดโตเต็มที่ สนนราคาอยู่ที่ตัวละ 30,000 กว่าบาท ส่วนใหญ่จะขายไปในจังหวัดกระบี่หรือจังหวัดใกล้เคียง คนที่ซื้อมักจะเป็นชาวไทยพุทธที่นำไปทำอาหารจัดเลี้ยงเมื่อมีงานแต่งงาน งานศพ งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานรื่นเริงต่างๆ
เมื่อใกล้ถึงฤดูปลูกข้าวก็จะไถแปรไถดะด้วยรถไถเดิมตาม หลังจากนั้น ก็จะเพาะกล้า ราวเดือนสิงหาคม ก็จะดำนาด้วยวิธีการลงแขกตามแบบเก่าซึ่งมีเหลืออยู่ไม่กี่แห่ง เป็นการผลัดกันเอาแรง แต่คนที่ไม่มีนาก็สามารถมาลงแขกดำนาได้เนื่องจากจะได้ข้าวเปลือกวันละ 1 ปี๊บ เมื่อเก็บเกี่ยวเป็นการตอบแทน และตอนเก็บเกี่ยวก็จะได้ค่าแรงวันละ 1 ปี๊บเช่นกัน 1 ปี๊บจะมีน้ำหนักข้าวเปลือก 10 กิโลกรัม ระยะเวลาของการปลูกข้าวคือ ปลูกวันแม่ เกี่ยววันพ่อ
ความเชื่อของชาวนาที่นี่ว่าการเริ่มทำนาจะไม่ทำในวันอังคารและวันเสาร์ ส่วนใหญ่จะเริ่มในวันพุธ โดยถือว่า วันอังคารและวันเสาร์เป็นวันของควาย ซึ่งถ้าปลูกในวันดังกล่าวข้าวจะถูกควายเหยียบย่ำกัดกินต้นข้าวจนเสียหายหมด ผู้เขียนได้สอบถามคำถามหนึ่งที่แปลกใจว่า ทำไมที่นี่เลี้ยงควายแต่ไม่เลี้ยงวัว เพราะเท่าที่เห็นคนไทยมุสลิมชอบเลี้ยงวัว จึงได้ความเชื่ออีกอย่างซึ่งสอดคล้องกับสภาพดินฟ้าอากาศที่นี่คือ เชื่อว่าควายทำด้วยขี้ผึ้ง วัวทำด้วยดินเหนียว ขยายความได้ว่าที่นี่น้ำจะท่วมบ่อย ส่วนฝนแล้งไม่เคยมี พื้นที่ก็จะเฉอะแฉะ ควายชอบน้ำพื้นที่เป็นเทือกเป็นเลนก็อยู่ได้ นิสัยควายชอบน้ำมากกว่าแดดเหมือนขี้ผึ้งโดนแดดจะละลายแต่โดนน้ำจะแข็งตัว ส่วนวัวไม่ชอบพื้นที่เฉอะแฉะชอบที่แห้งเหมือนดินเหนียวถ้าโดนน้ำจะละลาย โดนแดดจะแข็ง จึงเป็นที่มาของคำกล่าวนี้ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบเพราะวัวจะเลี้ยงยากบนพื้นที่เฉอะแฉะ แต่ควายจะเลี้ยงในนาได้ง่ายกว่า
ข้าวสังข์หยดของเกาะกลางมีผลผลิตต่อไร่แค่ 450 กิโลกรัม ส่วนหนึ่งได้เก็บไว้สำหรับกินเอง ส่วนที่เหลือจึงจะขาย ทำให้เหลือไม่มากพอที่จะจำหน่ายได้ตลอดปี พอเข้าเดือนตุลาคมของทุกปีข้าวก็จะหมด และจะเริ่มเก็บเกี่ยวอีกทีก็เดือนธันวาคม ถ้าอยากชิมข้าวสังข์หยดของเกาะกลางให้ติดต่อ คุณประวัติ คลองรั้ว ประธานกลุ่มที่เบอร์โทร. (086) 943-4579