เล็งไกล! อภัยภูเบศร ขอสธ.3 ข้อ หวังผลักดันสร้างรายได้ปีละพันล้านบาท ชี้แพ้ต่างชาติอยู่

เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร พร้อมด้วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โสภณ เมฆธน และคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี โดยมี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิรงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ให้การต้อนรับ

นายแพทย์จรัญกล่าวรายงานถึงยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรสรุปความ ว่า “…ปัจจุบันโรงพยาบาลร่วมกับจังหวัดปราจีนบุรีและกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดทำ Herbal City เมืองสมุนไพรปราจีนบุรี ซึ่งนับว่าเป็น Quickwin ของการขับเคลื่อนแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย พ.ศ.2560-2564 เนื่องจากเมืองสมุนไพรเป็นกลไกที่เชื่อมร้อยทุกภาคส่วนให้เข้ามาทำงานร่วมกันในการพัฒนาสมุนไพรจากต้นทาง คือ ภูมิปัญญาสมุนไพรที่มีในท้องถิ่น นำมาผ่านกระบวนการศึกษาวิจัยจนสามารถเกิดเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรและบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัยที่ออกสู่ตลาด และก่อให้เกิดรายได้แก่ประเทศได้ อันเป็นการย่อภาพใหญ่ของประเทศมาสู่จังหวัด

“ทั้งนี้ จึงใคร่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐบาลใน 3 ประเด็น เพื่อพัฒนาเมืองสมุนไพรปราจีนบุรีให้สามารถสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปีละไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท โดยประเด็นที่ขอรับการสนับสนุน คือ 1.ขอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาร่วมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถขึ้นทะเบียนและออกสู่ท้องตลาดได้อย่างรวดเร็ว 2.ขอให้กระทรวงสาธารณสุขทำความร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ในการดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนาสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 3. ขอให้รัฐบาลเร่งผลักดันให้มี พ.ร.บ.สมุนไพรแห่งชาติมีผลบังคับใช้ภายในปี 2560…” นายแพทย์จรัญกล่าว

201610271414172-20021028190330-768x432

ด้าน ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ขยายความถึงข้อเสนอ 3 ข้อนี้ว่า ปัจจุบันแม้เราไม่ดำเนินการอย่างเข้มข้น จังหวัดปราจีนบุรีก็มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงถึงปีละ 500 ล้านบาท แต่หากเราดำเนินการอย่างมียุทธศาสตร์ โดยวางแผนการตลาดให้ชัดเจน รู้ว่าความต้องการหรือดีมานด์ของแต่ละตลาดเป็นอย่างไร เช่น รู้ว่าลูกค้าในยุโรป อเมริกา หรือเอเชียมีพฤติกรรมการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรอย่างไร ซึ่งตรงนี้เราคงต้องพึ่งทูตพาณิชย์ที่อยู่ในประเทศต่างๆ ในการหาข้อมูลหรือทำวิจัยตลาดให้เรา สมุนไพรไม่เหมือนยาแผนปัจจุบันที่สร้างกำไรได้มาก จึงมีบริษัทลงทุนวิจัยมากมาย แต่สมุนไพรนั้นผู้รับประโยชน์หลักเป็นชาวบ้าน เป็นเกษตรกร ซึ่งไม่มีทุนไปลงทุนในสิ่งเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุน

ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าวต่อว่า “เมื่อทราบความต้องการตลาด ฝ่ายผลิตอย่างพวกเราจะทราบว่าต้องผลิตอะไร ดังนั้น จึงต้องการกระทรวงเกษตรฯมาช่วยเรื่องเทคโนโลยีการปลูกและแปรรูปเบื้องต้น ทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตสูง เกษตรกรจะได้มีรายได้มาก แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราต้องการ อย. มาเป็นภาคีร่วมเดินทางตั้งแต่แรก มาให้คำแนะนำว่าควรผลิตอะไร เพื่อให้สามารถขึ้นทะเบียนได้ เพราะหากมีการปลูกสมุนไพร มีวิจัย แต่ขายไม่ได้ก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะเมืองสมุนไพรเกิดมาเพื่อสิ่งนี้ ทำสิ่งที่อยู่ในห้องทดลองให้ขายได้ ทำนวัตกรรมให้ขายได้ ส่วน พ.ร.บ.สมุนไพรแห่งชาตินั้นก็จะเป็นการผ่าทางตันของการพัฒนาสมุนไพรในระยะยาว ซึ่งในหลายประเทศเขาช่วงชิงโอกาสเหล่านี้ไปหมดแล้ว หากทางรัฐบาลสามารถสนับสนุนในทั้ง 3 ข้อนี้ได้ เรามั่นใจว่าปราจีนบุรีเมืองสมุนไพรจะสามารถเพิ่มยอดขายเป็นหนึ่งพันล้านบาทได้ในระยะเวลาเพียง 1 ปีเท่านั้น” ภญ.ดร.สุภาภรณ์กล่าว

 

ข้อมูล มติชนออนไลน์