เผยแพร่ |
---|
นางทองม้วน ศรีทัดยศ ประธานกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองล่าม ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ภายหลังประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมา ถึงมาตรฐานปลาร้า ในเรื่องกลิ่น เรื่องความสะอาด ตรงนี้ทางกลุ่มก็ไม่ได้กังวลอะไร เนื่องจากทางกลุ่มมีการผลิตปลาร้าที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว อีกทั้งทางกลุ่มฯ ได้มาตรฐาน อย. ทั้ง ปลาร้าหมักตัว ปลาร้าผง ปลาร้าต้มสุก และปลาร้าบอง หรือปลาร้าทรงเครื่องเป็นที่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นในเรื่องความสะอาด ลูกค้าไม่ต้องเป็นกังวล ส่วนกรรมวิธีในการผลิต ทางกลุ่มฯ จะใช้ปลาที่นำมาหมักเป็นปลาร้าเป็นปลาน้ำจืดทั่วไป เช่น ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลานิล เป็นต้น แต่ละเดือนจะใช้ปลาประมาณ 1 ตัน ซึ่งกระบวนการผลิตนั้น รับรองได้ว่าสะอาด ปลอดภัย ไม่มีหนอน ไม่มีพยาธิ อย่างแน่นอน
โดยหลังจากได้ปลามาแล้ว จะนำมาล้างทำความสะอาด ขอดเกล็ดปลา ผ่าท้อง ควักไส้ ก่อนจะนำมาคลุกเกลือและรำข้าวให้เข้าเนื้อ ในอัตราส่วน ปลา 10 กิโลกรัม ต่อเกลือ 1 กิโลกรัม รำคั่ว 1.5 กิโลกรัม บรรจุลงในโอ่งมังกรใบใหญ่ ปิดปากโอ่งให้แน่นด้วยพลาสติก โดยจะพยายามไม่เปิดฝาโอ่งบ่อยๆ เพราะมีโอกาสปนเปื้อนมาก และต้องอยู่พื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่น้อยกว่า 6-12 เดือน จึงจะสามารถนำออกมาจำหน่ายหรือบริโภคได้ ซึ่งปลาร้าของกลุ่มเกษตรกรบ้านหนองล่าม ได้รับมาตรฐานเป็นสินค้า OTOP ของอำเภอและของจังหวัด