แม่ค้าปลาร้าโอทอปหวั่นสูตรเด็ดปลาร้าเป็นของนายทุน ชี้ประกาศไม่เข้าใจชีวิตคนท้องถิ่น

นางฝาย นันทช่วง อายุ 60 ปี ประธานกลุ่มปลาร้าไฮเทค ผลิตภัณฑ์ปลาร้าโอทอป บ้านโนนปลาขาว ต.ภูสิงห์ อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า ครอบครัวของตนยึดอาชีพทำปลาร้ามานานหลายสิบปีแล้ว โดยสืบทอดสูตรการทำ การหมัก การปรุง ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นละภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จนปัจจุบันรวมตัวกันทำเป็นกลุ่ม และเป็นสินค้าโอทอปที่ได้วัตถุดิบปลาจากเขื่อนลำปาวจนขึ้นชื่อของอ.สหัสขันธ์ ทั้งนี้หลังทราบข่าวว่ามีการประกาศกำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า ประเภทปลาร้า ตามพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 นั้น ส่วนตัวเห็นด้วยกับการประกาศดังกล่าว เพราะน่าจะเป็นการยกระดับมาตรฐานปลาร้าในท้องถิ่น เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับ และมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย

นางฝาย กล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการกำหนดรายละเอียดปลีกย่อยและเท่าที่ดูรายละเอียดย่อยนั้น เกรงว่าอาจส่งผลกระทบกับกลุ่มผู้ประกอบอาชีพทำปลาร้ารายเล็กๆ ที่ไม่ใช่โรงงานใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มปลาร้าที่เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป หรือผู้ที่ผลิตปลาร้าขายตามท้องตลาด เพราะจะสู้การขายแข่งกับระบบโรงงานใหญ่ไม่ได้ อีกทั้งยังเกรงว่าจะกระทบกับสูตรปลาร้า ซึ่งเป็นสูตรลับเฉพาะของแต่ละคน ที่สืบทอดต่อกันมา อีกทั้งสูตรการทำปลาร้าของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ซึ่งหากมีการบังคับแจกแจงวิธีการทำอย่างละเอียดการทำตามประกาศแล้ว สูตรลับการทำปลาร้าที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ อาจจะตกเป็นของกลุ่มนายทุนและนำเอาไปผลิตมาขายแข่งกับชาวบ้าน เหมือนกับสินค้าหลายๆอย่างที่เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่กลับถูกนายทุนนำเอาไปผลิตมาแข่ง ซึ่งหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ก็จะทำให้เส้นทางสายปลาแดกและภูมิปัญญาการถนอมอาหารของท้องถิ่นอีสานก็จะเรือนหายไป

นางฝาย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามสำหรับรายละเอียดปลีกย่อยที่กำหนดในประกาศที่ระบุว่าหนังและเนื้อปลาจะต้องไม่ให้ฉีกขาดนั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องที่ออกประกาศจะต้องศึกษาวิถีชีวิตคนท้องถิ่น และวิธีการทำปลาร้าอย่างละเอียดรอบครอบเสียก่อนค่อยประกาศ เพราะคำว่าปลาร้า หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าปลาแดกนั้น เป็นการถนอมอาหารเก็บไว้กิน โดยการหมัก ไม่ใช่เป็นการดอง ที่จะต้องไม่ให้เนื้อและหนังฉีกขาด อีกทั้งการหมักปลาร้าจะต้องหมักอย่างน้อย 8 เดือนขึ้นไป ถึงจะเป็นปลาร้า ซึ่งหนังและเนื้ออาจมีหลุดลอก หรือเนื้อยุ่ยออกมาบ้าง แต่ถ้าหมักไม่ถึง 3 เดือน จะไม่ใช่ปลาร้า และเสี่ยงมีพยาธิ ซึ่งรายละเอียดดังกล่าวแทบเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องศึกษาให้ดี

ด้านนายวรวุฒิ เอี่ยมกำแพง เกษตรและสหกรณ์ จ.กาฬสินธุ์ ระบุว่า เบื้องต้นทราบว่าประกาศที่ออกมากำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า ประเภทปลาร้า ตามพ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร ปี 2551 เป็นการประกาศมาตรฐานอาหารเกษตรปลอดภัยทั่วไป ไม่ได้เป็นประกาศบังคับ ซึ่งผู้ผลิตก็สามารถผลิตปลาได้เหมือนเดิม ซึ่งการประกาศนี้ก็จะเป็นการช่วยยกระดับทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในความสะอาดและปลอดภัย อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการมากขึ้นอีกด้วย

ที่มา ข่าวสดออนไลน์

Advertisement