กยท. ไฟเขียว แผนปฏิบัติการดิจิทัล การยางแห่งประเทศไทย ปี 2560-2564

กยท. ไฟเขียว เผยแผนปฏิบัติการดิจิทัล การยางแห่งประเทศไทย ปี 2560-2564 พร้อมเดินหน้า บริหารและบริการด้านยางพาราด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยเพิ่มช่องทางรับทราบข้อมูลและให้ความช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

ดร.ธีธัช สุขสะอาด ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า บอร์ดการยางฯ เห็นชอบ เพื่อแผนยุทธศาสตร์ดิจิทัลของการยางแห่งประเทศไทย (พ.ศ.2560-2564)  ซึ่งแผนนี้มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และตอบสนองแผนวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ทั้งในเรื่องการสร้างรายได้ การพัฒนายางพารา การวิจัยและนวัตกรรม และบริหารจัดการภายในองค์กร และการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และยังเป็นบูรณาการรองรับการหลอมรวมของหน่วยงาน ในขณะเดียวกันก็ช่วยลดความซ้ำซ้อนงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีอยู่เดิม แนวทางหลักของการจัดทำแผนปฏิบัติการดิจิทัลของ กยท. ครั้งนี้  คือ “หลอมรวม หยั่งราก สร้างรายได้ พัฒนายั่งยืน”

ดร.ธีธัช กล่าวเพิ่มเติมว่า ในอนาคต การยางแห่งประเทศไทยจะยกระดับเรื่องตลาดยางพารา ศูนย์กลางการซื้อขาย ขณะเดียวกัน มีการรวบรวมข้อมูลเรื่องของราคากลางยางพาราทั้งประเทศ ปริมาณการซื้อขายในแต่ละวัน และบริการองค์ความรู้ต่างๆ ภายใต้แผนปฏิบัติดิจิทัล 4 ปี ของ กยท. โดยในแต่ละปีจะมีเป้าหมายในการเดินหน้าพัฒนาระบบด้วยแนวทาง  หลอมรวม หยั่งราก สร้างรายได้ พัฒนายั่งยืน ในปีแรก เดินหน้าเรื่องการหลอมรวม ด้วยการจัดวางโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอกับหน่วยงานใหม่ที่ควบรวม พร้อมทั้ง ปรับปรุงระบบสารสนเทศเดิมให้รองรับหน่วยงานใหม่ สามารถสื่อสารในองค์กรได้อย่างทั่วถึง มั่นคง และปลอดภัย ปีที่ 2-4 กยท.จะพัฒนาระบบสารสนเทศหลักแบบศูนย์รวมด้วยการบูรณาการด้านข้อมูล เพื่อให้บริการแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร รวมถึงผู้ประกอบการด้านตลาดยาง การรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งก็จะทำให้เกษตรกรขายยางได้ตามราคากลาง ในราคาที่เป็นธรรม เป็นมาตรฐานเดียวกัน ผู้ประกอบการเองซื้อได้ในราคาที่พอใจได้คุณภาพที่ต้องการในรูปแบบบริการโมบายแอพพลิเคชั่นเป็นการเพิ่มช่องทางสื่อสารและให้บริการที่สะดวกเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การบริการด้านงานวิจัยและนวัตกรรม

ด้านการจัดการสวนยางอย่างยั่งยืน สารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นต้น ทั้งนี้ เกษตรกรจะมีช่องทางของข้อมูลข่าวสารที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว เพื่อรับความช่วยเหลือตามมาตรา 49 ในแต่ละวงเล็บ ทั้งนี้ การให้บริการข้อมูลของเกษตรกรชาวสวนยาง แบบอีเซอร์วิส (E-service) จะเป็นการส่งเสริม การพัฒนาการทำสวนยาง การให้บริการเกษตรกร ผ่านทางทะเบียนข้อมูลเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ สามารถนำข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมาใช้ในการวางแผนการปลูกวางแผนการจัดการสวน วางแผนในการดำเนินการในแต่ละช่วงเวลาให้เกิดความเหมาะสม เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีในการยกระดับการให้บริการและสวัสดิการแก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางอย่างเต็มรูปแบบ