เผยแพร่ |
---|
เขตศก.ชายแดนรับตลาดเพื่อนบ้าน
แนะส่งคำขอส่งเสริมภายใน 30 ธ.ค.นี้
นายเศกสรรค์ เรืองโวหาร ผู้อำนวยการกองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า วันที่ 4 พฤษภาคมนี้ บีโอไอจะร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในจังหวัดกาญจนบุรี จัดสัมมนาหัวข้อ “บีโอไอกับการเพิ่มศักยภาพการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ และการขับเคลื่อนสู่ประเทศไทย 4.0” โดยจะเป็นการให้ข้อมูลถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน หรือเอสอีแซท มาตรการเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนอื่นๆ โดยจังหวัดกาญจนบุรีได้จัดพื้นที่รองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ระยะที่ 2 ทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐบาลมุ่งหวังสร้างพื้นที่เศรษฐกิจใหม่โดยเฉพาะพื้นที่ชายแดน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งนี้ การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนภายใต้สิทธิประโยชน์จากบีโอไอจะต้องลงทุนใน 10 จังหวัด และต้องอยู่ในตำบลและอำเภอที่กำหนด โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์ อาทิ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นสำหรับการผลิตเพื่อการส่งออก 5 ปี รวมถึงการผ่อนผันให้ใช้แรงงานต่างด้าว
นายเศกสรรค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังกำหนดกิจการเป้าหมาย 13 กลุ่มอุตสาหกรรม ประกอบด้วย อุตสาหกรรมการเกษตรและประมง เซรามิกส์ สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องหนัง เครื่องเรือน อัญมณี และเครื่องประดับ เครื่องมือแพทย์ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ยา โลจิสติกส์ นิคมหรือเขตอุตสาหกรรม และกิจการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว
“การส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน มีบางกลุ่มประเภทกิจการที่ไม่ให้ส่งเสริมในพื้นที่อื่น แต่เปิดให้ส่งเสริมเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเท่านั้น อาทิ บรรจุภัณฑ์พลาสติก กล่องกระดาษ วัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตสบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน และเครื่องสำอาง เพื่อสนับสนุนให้เกิดการลงทุนผลิตสินค้าสำหรับตลาดประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะต้องยื่นขอรับส่งเสริมการ ลงทุนภายใน 30 ธันวาคม 2561” นายเศกสรรค์ กล่าว
นายเศกสรรค์ กล่าวว่า โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) บีโอไออนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่กิจการในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีแล้ว จำนวน 53 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวมกว่า 26,000 ล้านบาท กิจการที่ ลงทุนสูงสุด ได้แก่ กิจการกลุ่มเคมีภัณฑ์ พลาสติก และกระดาษ รองมา คือกิจการเกษตรกรรมและผลิตผลจากการเกษตร กิจการด้านบริการและสาธารณูปโภค กิจการแร่ เซรามิก และโลหะ กิจการ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง ตามลำดับ
ที่มา : ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน